มีคำกล่าวที่ว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
แต่สำหรับพี่น้องชาวนา การเริ่มต้นที่ดีนั้นหมายถึง โอกาสในการเพิ่มผลผลิต และเงินรายได้ในปีนั้นเลยทีเดียว ดังนั้นห้องเรียนเกษตรในฉบับนี้จะนำเสนอวิธีการเพาะกล้าข้าวอย่างมืออาชีพ ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเพาะกล้าให้ได้กล้าข้าวที่มีคุณภาพ ปราศจากโรค และประหยัดต้นทุนในระยะยาว
ขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์
1. ตรวจสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ โดยมีวิธีการคือ นำเมล็ดข้าวพันธุ์ดีที่จะปลูกจำนวน 100 เมล็ด แช่น้ำไว้ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาวางเรียงไว้บนกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษทิชชูที่แช่น้ำจนชุ่ม แล้วปิดด้วยกระดาษชุ่มน้ำอีกชั้นหนึ่งหลังเรียงเมล็ดข้าวเรียบร้อยแล้ว วางไว้ในที่ร่มและมีความชื้น 24 – 48 ชั่วโมง เปิดกระดาษออกนับจำนวนเมล็ดที่งอก ถ้างอกเกิน 85 เมล็ด ก็ถือว่าเมล็ดพันธุ์มีความงอกสูงสามารถนำไปใช้ได้
2. การคัดข้าวโดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวใส่ลงไปในน้ำสะอาด หรือถ้าต้องการเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงก็ต้องคัดโดยใช้น้ำเกลือ โดยการผสมเกลือแกงกับน้ำสะอาด อัตราส่วนคือ เกลือ 1.5 – 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร แล้วใช้มือคนเมล็ดข้าว จากนั้นก็ตักเมล็ดที่ลอยออก แล้วนำเมล็ดข้าวที่จมอยู่มาล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อกำจัดความเค็ม เมล็ดข้าวที่ได้คือเมล็ดที่มีความสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การใช้เป็นพันธุ์ข้าว
3. แช่ข้าว นำเมล็ดข้าวใส่กระสอบที่น้ำสามารถผ่านได้ดี แล้วแช่ลงในน้ำสะอาด ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับชนิดข้าว อุณหภูมิ และปัจจัยอื่นๆ) อาจแช่ในแหล่งน้ำไหลหรือน้ำนิ่ง เช่น ภาชนะก็ได้
4. บ่มข้าว นำข้าวขึ้นจากน้ำ ยกข้าวขึ้นจากน้ำให้สะเด็ดน้ำเป็นเวลา 1 คืน ให้ข้าวแตกตุ่มตาประมาณ 1 มิลลิเมตร เป็นระยะที่เหมาะสมที่สุดในการใช้งาน เพราะถ้าตุ่มตายาวมากจะติดขัดเครื่องโรยกล้า และหน่อจะหักได้ง่าย โดยอุณหภูมิในการบ่มไม่ควรต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส และไม่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
ขั้นตอนการเพาะ
1. ใส่วัสดุเพาะ เช่น ขี้เถ้าแกลบ หรือดินละเอียด ลงในถาดเพาะกล้าให้วัสดุเพาะมีความสูงประมาณ 20 – 23 มิลลิเมตร (จากก้นถาด) โดยทำการปาดให้วัสุดเพาะมีความสม่ำเสมอ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม (ประมาณ 1 – 1.5 ลิตรต่อถาด)
2. โรยเมล็ดพันธุ์ที่ได้เตรียมไว้ลงไป ประมาณถาดละ 180 – 220 กรัมต่อถาด
3. โรยวัสดุเพาะปิดหน้าประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร
4. ซ้อนถาดบ่มไว้ในที่ร่มประมาณ 2 คืน (36 – 48 ชม.) กล้าจะเริ่มงอกเป็นสีขาวๆ
5. ย้ายถาดที่บ่มไว้แล้ว ไปแผ่ถาดในแปลงอนุบาลกล้า ที่มีความชื้นแต่ยังไม่ต้องใส่น้ำในแปลงจนเย็นวันที่ 3 ค่อยใส่น้ำลงแปลงระดับความสูงของน้ำครึ่งขอบถาดเพาะกล้า
* ขั้นตอนที่ 1 – 3 เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานเยอะ บริษัทสยามคูโบต้าฯ จึงได้คิดค้นเครื่องเพาะกล้าแบบกึ่งอัตโนมัติ (SR – K800TH) ขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรประหยัดแรงงาน และทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
ขั้นตอนการดูแลแปลงเพาะกล้า
คอยดูแลรักษาระดับน้ำในแปลงเพาะให้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำของกล้าข้าว ซึ่งอาจจะทำให้กล้าข้าวชะงักการเจริญเติบโตและตายได้ หมั่นตรวจโรคและแมลง ในช่วงเช้าทุกวันเพื่อจะได้ป้องกันรักษาได้ทันท่วงที
ระยะเวลาของการเพาะกล้าที่ใช้สำหรับรถดำนาคูโบต้า
การนับเวลาในการเพาะกล้าจะนับตั้งแต่เริ่มโรยกล้าลงในถาดเพาะ เพราะการเจริญเติบโตของข้าวแต่ละพันธุ์แตกต่างกัน พันธุ์ข้าวแต่ละชนิดจะใช้เวลาไม่เท่ากันแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้
- ข้าวเจ้า จะใช้ระยะเวลาในการเพาะกล้าที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 18 – 19 วัน
- ข้าวเหนียว จะใช้ระยะเวลาในการเพาะกล้าที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 13 – 15 วัน
การเตรียมกล้าให้พร้อมสำหรับการปักดำ
เมื่อกล้าเจริญเติบโตจนพร้อมปักดำ ก่อนจะนำกล้าออกจากแปลงเพาะเพื่อนำไปปักดำ ต้องมีการระบาดน้ำออกปล่อยให้แปลงเพาะกล้าแห้งประมาณ 2 – 3 วัน เพื่อบังคับให้กล้ามีความแกร่ง ต้นและรากมีความเหนียวไม่หักเสียหายได้ง่าย ในขณะเคลื่อนย้ายและปักดำ
“ขั้นตอนเหล่านี้มีความสำคัญถึงขนาดเป็นตัวชี้วัดผลผลิตข้าวของท่านในฤดูกาลนั้นเลยทีเดียว หากทำได้ตามขั้นตอนที่กล่าวมาก็เปรียบเสมือนว่าท่านพี่น้องเกษตรกรได้วางรากฐานความสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง”