มวนเพชฌฆาต (Assassin bugs)

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Sycanus  collaris

วงศ์                  :  Reduviidae

อันดับ               :  Hemiptera

ความสำคัญ :

มวนเพชฌฆาต เป็นแมลงตัวห้ำ ที่มีบทบาทในการควบคุมหนอนผีเสื้อหลายชนิด โดยดูดกินของเหลวภายในตัวหนอน  การใช้ประโยชน์จากมวนตัวห้ำชนิดนี้ สามารถทำได้โดยทำการเพาะเลี้ยง เพิ่มให้มีปริมาณมากในห้องปฏิบัติการ หรือโรงเลี้ยงแมลง แล้วนำไปปล่อยในแปลงปลูกพืช เพื่อที่จะให้เกิดผลการควบคุมศัตรูพืชขึ้นและส่งผลให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้

วงจรชีวิตของมวนเพชฌฆาต :

รูปร่างลักษณะ :

ระยะไข่

มีรูปร่างลักษณะเป็นแท่งยาวรี สีเหลือง ซึ่งถูกยึดด้วยใยสีน้ำตาลหรือหุ้มด้วยมูกสีขาว โดยรวมเป็นกลุ่มประมาณ 30 – 230 ฟอง ต่อไข่หนึ่งกลุ่ม ในตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ 8 – 10 ครั้ง เฉลี่ย 438 ฟอง/ตัว ไข่ที่วางใหม่ๆจะรวมกลุ่มอยู่แน่น เมื่อเวลาผ่านไปไข่จะเริ่มแยกออกมาเล็กน้อยและจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ก่อนจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนวัยที่ 1 ซึ่งระยะตัวอ่อน มี 5 – 6 ระยะ ซึ่งจะเปลี่ยนวัยโดยการลอกคราบและขนาดของลำตัวจะใหญ่ขึ้นทุกครั้ง

วัยที่ 1

เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ จะมีรูปร่างลักษณะคล้ายมดแดง ตัวสีส้มแดง เมื่อออกจากไข่ ตัวอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ตัวอ่อนวัยนี้จะเคลื่อนไหวอย่างช้า และจะยังไม่กินอาหาร

วัยที่ 2

มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าวัยที่ 1 ลำตัวมีสีแดง ตัวอ่อนวัยนี้เริ่มกระจายตัวเคลื่อนไหวเร็วขึ้น เริ่มกินเหยื่อที่ลำตัวอ่อนนิ่ม หรือดักแด้หนอน

วัยที่ 3

มีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วขึ้น มีการกระจายตัวและกินเหยื่อได้มากกว่าตัวอ่อนวัยที่ 2

วัยที่ 4

มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วขึ้น เริ่มมีขอบของส่วนท้องด้านข้างยื่นขยายออกมากขึ้นมาเหนือปีกเล็กน้อย

วัยที่ 5

มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและว่องไวมาก ขอบของส่วนท้องด้านหน้ายื่นและขยายออกขึ้นมาเหนือปีกมากกว่าตัวอ่อนวัยที่ 4 และสามารถกินเหยื่อได้มากกว่าตัวอ่อนวัยอื่น

ตัวเต็มวัย

เมื่อตัวอ่อนวัยที่ 5 ลอกคราบมาใหม่ๆ จะเป็นตัวเต็มวัยซึ่งจะมีลำตัวสีแดงสดปนดำ หรือสีเหลืองปนดำมีปีกบางๆตรงกลางสันหลัง หนามของแผ่นสามเหลี่ยม

ลักษณะการทำลาย :

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินของเหลว (Body fluid) จากแมลงต่างๆ ทั้งชนิดที่เป็นตัวหนอนและตัวเต็มวัยโดยการปล่อยน้ำพิษออกจากปากทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และเคลื่อนไหวไม่ได้และหนอนจะตายภายใน 1 – 2 นาที จากนั้นจะดูดกินของเหลวจากตัวหนอน และทำให้หนอนแห้งตาย ทิ้งไว้แต่ผนังลำตัวที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก

การใช้ประโยชน์ :

มวนเพชฌฆาตทำลายศัตรูพืช (เหยื่อ) ได้หลายชนิด แต่ต้องเป็นเหยื่อที่มีชีวิตและที่มีผิวหนังหุ้ม พอที่จะใช้เข็มที่ปากแทงผ่านผนังลำตัวเข้าไปได้ เช่น หนอนคืบกะหล่ำปลี หนอนคืบฝ้าย หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนไหม  หนอนคืบลำไย หนอนแก้วส้ม หนอนผีเสื้อต่างๆ หรือแม้กระทั่งมวนศัตรูพืช เช่น มวนเขียว เป็นต้น มักจะพบมวนเพชฌฆาตตามสวนผลไม้ต่างๆ เช่น สวนส้ม มะม่วง และลำไย พืชไร่ เช่น ฝ้าย ยาสูบ และพืชต่างๆ ที่มีแมลงศัตรูพืชทำลาย โดยมีเขตแพร่กระจายอยู่ทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดที่มีการทำสวนผลไม้ต่าง

การใช้มวนเพชฌฆาตเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช :

1. ทำการสำรวจประชากรของหนอนผีเสื้อกินใบ ดอก ผล และความเสียหายของพืชในไร่ พืชผัก ไม้ผล  ไม้ดอก กรณีเริ่มสำรวจพบหนอนในแปลง ปล่อยมวนเพชฌฆาต ตั้งแต่วัยอ่อนวัยที่ 3 ถึงตัวเต็มวัย ในพืชผัก พืชไร่  ไม้ดอกไม้ผล จำนวน 100 ตัวต่อไร่ กรณีสำรวจพบหนอนในปริมาณมาก ปล่อยมวนเพชฌฆาต ตั้งแต่วัยอ่อนวัยที่ 3 ถึงตัวเต็มวัย ในพืชผัก พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ผล จำนวน 2,000 ตัวต่อไร่

2. หลังจากปล่อยมวนเพชฌฆาตแล้ว 7 วัน ทำการสำรวจประชากรของหนอนผีเสื้อและความเสียหายของพืชเพื่อประเมินการควบคุม

3. แนะนำให้ปล่อยมวนเพชฌฆาตติดต่อกัน 2 ครั้ง คือ ในช่วงต้นฝนและปลายฝนหรือทยอยปล่อยทีละเล็กละน้อยตามจำนวนที่พอจะหาได้ เพื่อให้มวนที่ปล่อยไปนั้นแพร่พันธุ์และพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ในสภาพแวดล้อมใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัส ในวงศ์ Geminiridae สกุล Begomovirus ปัจจุบันมีรายงานทั้งหมด 10 ชนิด โดยพบในทวีปแอฟริกา 8 ชนิด และในทวีปเอเชีย 2 ชนิด ได้แก่ Indian cassava mosaic virus (ICMV) พบในประเทศอินเดีย และ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) พบในประเทศศรีลังกา อินเดีย เวียดนาม
ประวัติ ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ในระหว่างปี พ.ศ.2549-2556 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เพื่อให้ได้ข้าวโพดหวานลูกผสมที่มีผลผลิตสูง คุณภาพการบริโภคดี และต้านทานต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้เบอร์ 75 กับสายพันธุ์แท้เบอร์ 66 ผ่านการประเมินผลผลิตพันธุ์ลูก
อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โอกาสที่จะขยายตัวอีกมาก สืบเนื่องจากนโยบายการบริหารพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูก ไปสู่การเพาะปลูกอ้อยโรงงาน โดยเมื่อปี 59/60 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยรวมทั้งประเทศกว่า 10 ล้านไร่