ความสำเร็จจากเกษตรกรที่ปลูกข้าวด้วยวิธี KAS โดยใช้เครื่องหยอดและรถปักดำ

อีกหนึ่งคำยืนยันความสำเร็จจากเกษตรกรที่ปลูกข้าวด้วยวิธี KAS โดยใช้เครื่องหยอดและรถปักดำ ณ กลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านพระแก้ว อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

ในปัจจุบันวิธีการปลูกข้าวที่เกษตรกรนิยม คือ การทำนาหว่าน ซึ่งมีข้อดี คือ สะดวกและรวดเร็ว แต่การทำนาหว่านก็มีข้อเสียมากมายด้วยเช่นกัน  เนื่องจากมีการใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมาก และการฝังเมล็ดไม่มีความสม่ำเสมอ ทำให้เปอร์เซ็นความงอกลดลง รวมถึงมีการกำจัดวัชพืชและบำรุงรักษาได้ยาก ส่งผลให้มีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และต้นทุนสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ สยามคูโบต้า จึงได้นำองค์ความรู้การปลูกข้าวด้วยวิธี KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร หรือ KAS ไปเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และมีรายได้อย่างยั่งยืน และหนึ่งในพื้นที่ที่เข้าไปช่วยส่งเสริมการปลูกข้าวให้แก่เกษตรกร คือ กลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านพระแก้ว จ.ชัยนาท

คุณบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ รองประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านพระแก้ว อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เผยถึงจุดเริ่มต้นของการทำนาด้วยวิธี KAS ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2558 สยามคูโบต้าได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกข้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ของตนเอง โดยเปลี่ยนจากการทำนาหว่าน ที่ตนเองคุ้นเคยมากว่า 30 ปี มาเป็นการทำนาด้วยเครื่องหยอดและนาดำด้วยรถปักดำ ซึ่งในช่วงแรกยอมรับว่าไม่รู้จักการทำนาด้วยวิธีนี้มาก่อน แต่เพราะสนใจและเชื่อว่าการปลูกข้าวด้วยวิธี KAS จะช่วยให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จึงได้ทดลองปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 จำนวน 11 ไร่  ในช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม ปี 2558 กระทั่งพบว่า ได้ผลผลิตที่น่าพอใจ ช่วยลดต้นทุนได้มาก ทำให้เกษตรกรในละแวกใกล้เคียงมาเรียนรู้การทำนาโดยใช้เครื่องหยอดและรถปักดำ ในพื้นที่ของตนเอง

“แต่เดิมผมเคยทำนาหว่านน้ำตม ต้นข้าวจะมีความหนาแน่นเยอะมาก ทำให้บำรุงรักษาได้ยาก ยิ่งในขั้นตอนของการกำจัดวัชพืชและแมลง ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในปริมาณมาก ส่งผลให้ต้นทุนสูงถึง 5,000 บาท/ไร่ ต่างจากการทำนาโดยใช้เครื่องหยอดและรถปักดำ ที่ใช้ต้นทุนเพียง 3,000 บาท/ไร่ เพราะว่ามีการใช้เครื่องหยอดและรถปักดำในขั้นตอนการปลูก ทำให้ต้นข้าวเป็นแถวสวยงาม เรียงรายกันเป็นระเบียบ บำรุงรักษาได้ง่าย และต้นข้าวไม่ต้องแย่งปุ๋ยเวลาเจริญเติบโต ส่งผลให้ความสูงของต้นข้าวสม่ำเสมอกัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดการใช้เมล็ดพันธุ์ให้เหลือเพียง 10 กิโลกรัม/ไร่ ต่างจากการทำนาหว่านที่ใช้เมล็ดพันธุ์สูงถึง 20-30 กิโลกรัม/ไร่” คุณบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานที่สยามคูโบต้าได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวนั้น พบว่า คุณบุญฤทธิ์ได้ผลผลิตในปริมาณ 1,016 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้ 6,198 บาท/ไร่  และได้กำไรประมาณ 3,263 บาท/ไร่ ซึ่งต่างจากการทำนาหว่าน ที่ได้ผลผลิตเพียง 873 กิโลกรัม/ไร่ มีรายได้ 5,325 บาท/ไร่ และได้กำไรประมาณ 2,991 บาท/ไร่  และจากความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านพระแก้วได้มีการเปลี่ยนวิธีการทำนาหว่านมาเป็นวิธี KAS กันมากขึ้น โดยทางกลุ่มฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนการทำนาแบบเดิมมาใช้เครื่องหยอดและรถปักดำทั้งหมด

ท้ายนี้ คุณบุญฤทธิ์ ได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ให้หันมาปลูกข้าวด้วยวิธี KAS ว่า อยากให้ทุกคนลองเปิดใจเรียนรู้การทำนาด้วยวิธีใหม่ๆ เพราะทุกวันนี้มีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาช่วยทุ่นแรงเยอะ ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนเหมือนเมื่อก่อน ทำให้การปลูกข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย ซึ่งตนเองมองว่า หากทุกคนเปลี่ยนความคิด และความเชื่อแบบเดิมๆ มาปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ จะช่วยให้ชาวนาไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะเป็นแนวทางที่ตนเองพิสูจน์แล้วและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจริงๆ

หมายเหตุ: ตัวเลขทั้งหมดได้จากการเก็บข้อมูลการทำนาในพื้นที่ของคุณบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ โดยผลการดำเนินงานอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประวัติ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2 เดิมชื่อรหัส เอ็น เอส เอ็กซ์ 022031 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว อายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-115 วัน เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 1 (พันธุ์แม่) และสายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 2 (พันธุ์พ่อ) ซึ่งสร้าง
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย 1.การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย