การเก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตข้าวในแต่ละฤดู  ผลของการจัดการตลอดช่วงฤดูการปลูกข้าวจะมีผลต่อคุณภาพและผลผลิตข้าวในที่สุด ราคาของข้าวเปลือกจากการซื้อขายผลผลิตข้าว นอกจากจะมีการพิจารณาตั้งแต่ความชื้นของข้าวเปลือก ลักษณะของเมล็ดได้แก่ สีเปลือก ขนาดเมล็ดเต็ม และสิ่งเจือปนต่างๆแล้ว คุณภาพการสีของข้าวเปลือกโดยคิดเป็นเปอร์เซนต์ของต้นข้าวก็เป็นลักษณะที่ใช้กำหนดในการซื้อขายข้าวเช่นกัน เมื่อมีการจัดการที่ถูกต้องตลอดฤดูการปลูกข้าว ผลที่ได้ดังนี้

  1. ได้ผลผลิตข้าวเต็มศักยภาพของแต่ละพันธุ์

  2. คุณภาพทางกายภาพ ได้แก่ สีเปลือก สีข้าวกล้อง ขนาดและรูปร่าง คุณสมบัติการหุงต้ม ตรงตามพันธุ์

  3. คุณภาพการสี ของข้าวเปลือกได้ปริมาณข้าวเต็มเมล็ดมาก

สุดท้ายการเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่ถูกต้องและเหมะสม จะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดี การเก็บเกี่ยวที่ระยะพลับพลึง เป็นระยะการเก็บเกี่ยวที่แนะนำ และเกษตรกรควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตข้าวที่ดีมีคุณภาพ และสามารถใช้เป็นข้อต่อรองให้ขายได้ราคาดี

การเก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง คือระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวที่นับจากวันที่ข้าวออกดอกไปแล้ว 28-30 วัน และเก็บเกี่ยวในสภาพที่นาแห้ง หรืออย่างน้อยก็ไม่มีน้ำขังในนา

ข้าวออกดอก วันที่ข้าวออกดอก พิจารณาจากวันที่รวงข้าวที่มีดอกบานเกือบเต็มพื้นที่ คือ 80 % ของพื้นที่ จึงบันทึกวันนั้นเป็นวันที่ข้าวออกดอก

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว

1. การเตรียมตัวก่อนถึงวันเก็บเกี่ยวข้าว : เกษตรกรควรหมั่นเดินสำรวจแปลงนาตั้งแต่วันที่ข้าวออกดอก เพราะระยะนี้เป็นระยะที่ข้าวต้องได้รับการเอาใจใส่ทุกด้าน

  • ในนาต้องมีน้ำเพียงพอ
  • ไม่มีโรคแมลงรบกวน
  • ไม่ลงไปรบกวนในแปลงนาโดยไม่จำเป็น
  •  หากเกิดปัญหาใดๆ ต้องรีบแก้ไข ไม่ทิ้งไว้จนเกิดอาการรุนแรง

2. วางแผนการเก็บเกี่ยว : เมื่อทราบวันที่ข้าวออกดอก ให้วางแผนกำหนดวันที่จะเก็บเกี่ยว (หลังข้าวออกดอก 28-30 วัน) วิธีการเก็บเกี่ยว

  • ถ้าใช้แรงงานก็ต้องนัดแรงงานมาให้พร้อม
  • ถ้าใช้เครื่องจักรก็ต้องทำความสะอาดและดูแลเครื่องจักรให้พร้อมที่จะทำงานได้ในวันที่กำหนด

3. ก่อนถึงวันเก็บเกี่ยว 10 วันถ้ายังคงมีน้ำอยู่ในนา ให้ระบายน้ำออกจากนาให้หมด เพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอ แปลงนาที่แห้งจะสะดวกในการลงไปทำงาน ทั้งการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน และเครื่องจักร

4. กำหนดวันที่เก็บเกี่ยว ถ้าสามารถรับฟังการพยากรณ์อากาศได้ หากคาดว่าจะมีฝนตกในช่วงวันเก็บเกี่ยว อาจทำการเก็บเกี่ยวก่อน หรือหลังวันที่กำหนดได้ แต่ควรมีแผนการขนย้ายผลผลิต หรือการเก็บผลผลิตไว้ในยุ้งฉาง ในสภาพที่แห้ง

 การลดความชื้นผลผลิตข้าว

หลังการเก็บเกี่ยว การนวดผลผลิตข้าว และทำความสะอาดโดยการฝัดแล้ว ยังไม่สามารถเก็บรักษาเมล็ดข้าวที่มีความชื้นสูงไว้ในโรงเก็บได้ เพราะเมล็ดมีการหายใจทำให้เกิดความร้อน จะทำให้เกิดเชื้อราเข้าทำลาย ควรลดความชื้นในเมล็ดก่อนเก็บ โดย

  • ตากเมล็ดข้าวบนลานที่ทำความสะอาดแล้ว
  • ไม่ควรตากบนพื้นซีเมนต์หรือพื้นถนนโดยตรง เพราะเมล็ดอาจได้รับความร้อนสูงเกินไป
  • ควรปูพื้นด้วยผ้าใบหรือเสื่อสานด้วยไม้ไผ่
  • ความหนาของกองที่ตาก ประมาณ 5 -10 เซนติเมตร ไม่ควรหนาหรือบางเกินไป
  • ควรมีวัสดุคลุมกองข้าวเพื่อป้องกันน้ำค้างหรือฝน
  • ระยะเวลาการตากข้าวประมาณ 2-3 แดด ไม่ควรตากนานเกินไป
  • การลดความชื้นโดยใช้เครื่องจักร
  • ต้องมีความรู้ความเข้าใจการใช้เครื่องจักรเป็นอย่างดี
  • วัตถุประสงค์ของการลดความชื้นเมล็ดเพื่อเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ต้องมีความระมัดระวังไม่ให้อุณหภูมิของเครื่องลดความชื้นจนมีผลต่อความงอกของเมล็ด
  • ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติจะคุ้มหรือไม่

*ความชื้นของข้าวเปลือกที่เก็บทั่วไป ความชื้นไม่ควรสูงเกิน 14 % และถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ความชื้นไม่ควรเกิน 12 %*

ดาวน์โหลด : การเก็บเกี่ยวระยะพลับพลึง

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

1.การเตรียมการก่อนปลูก 1.1 การเตรียมดิน1) ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกคือดินทรายหรือดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดและด่างของดิน pH มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.82) การเตรียมดิน ควรไถดินตากไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวนอีก 1 – 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยหมักหรือ
1. การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม การเลือกปลูกพืชที่ทนกรด ทนต่อการขาดธาตุอาหารบางชนิดและพืชที่ทนต่อสารพิษของเหล็กและอะลูมินัมได้จะเป็นการช่วยลดต้นทุน การผลิตจากการใช้ปูนปรับปรุงดิน ทั้งนี้ควรเลือกปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดี เนื่องจากการปลูกพืชในพื้นที่ดินที่เปรี้ยวจัดต้องลงทุนในการจ
จุดกำเนิด ของการปลูกมันสำปะหลังเพื่อเลี้ยงโคนมในระบบอินทรีย์ของประเทศไทย เริ่มต้นจากกระแสการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรต้องการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน แหล่งน้ำ และอากาศ รวมถึงการตอบแทนคุณแผ่นดินซึ่งเป็นที่ทำกินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ