การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้รถดำนาเดินตาม ในพื้นที่นาขนาดเล็ก

การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้รถดำนาเดินตาม ในพื้นที่นาขนาดเล็ก ที่ชุมชนวัดบ้านทรายใต้ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง

กว่า 40 ปีที่สยามคูโบต้า ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในอาเซียนได้เติบโตและยืนหยัดในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นเลิศ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยให้ก้าวหน้า และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา สยามคูโบต้าได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยทุ่นแรง ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรนำเครื่องจักรกลการเกษตรไปช่วยทำการเพาะปลูกในสภาพพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งาน

ล่าสุด สยามคูโบต้าได้เล็งเห็นถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพจึงได้ส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยวิธี KAS โดยใช้รถดำนาเดินตาม ให้แก่เกษตรกรในชุมชนวัดบ้านทรายใต้ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ผ่านรูปแบบการทำแปลงเปรียบเทียบระหว่างการใช้รถดำนาและวิธีดั้งเดิมของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเห็นว่าการใช้รถดำนาเดินตามสามารถทำได้แม้ในพื้นที่นาขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจากวิธีดั้งเดิมที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวด้วยวิธีการหว่านและวิธีดำมือ  ซึ่งพบว่าต้นทุนที่ใช้ค่อนข้างสูง เพราะมีการจ้างแรงงานคนในการปักดำ รวมถึงมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก

นาย ชั้น ยอดบุญเรือง เกษตรกรอายุ 60 ปี ชาวจังหวัดลำปาง เผยว่า ตนเองสนใจการปลูกข้าวด้วยวิธี KAS จึงได้ทำแปลงเปรียบเทียบการปลูกข้าวระหว่างวิธีดั้งเดิมและวิธี KAS ร่วมกับสยามคูโบต้า จำนวน 5 ไร่ ช่วงเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่ได้ทำแปลงส่งเสริมร่วมกัน พบว่า การใช้รถดำนาเดินตาม ช่วยให้ตนเองทำนาได้สะดวกมากขึ้น เพราะรถดำนาคูโบต้า ควบคุมได้ง่าย ลดการสูญเสียเวลาในการกลับหัวงาน และยังช่วยประหยัดแผ่นกล้าและแรงงานคน ซึ่งต่างจากวิธีดำมือที่ใช้คนจำนวนมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ การใช้รถดำนาเดินตามยังช่วยลดขั้นตอนการตกกล้า เนื่องจากมีศูนย์เพาะกล้าจำหน่ายต้นกล้าให้แก่เกษตรกร ทำให้ไม่ต้องเสียเวลานำเมล็ดไปหว่านให้งอก และรอให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า ก่อนที่จะเอาไปปักดํา

“จากการที่สยามคูโบต้าได้เข้ามาทำแปลงส่งเสริม ผมได้เรียนรู้เทคนิคการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด ทำให้ผมใส่ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของข้าวในแต่ละระยะ จึงช่วยประหยัดต้นทุนการใส่ปุ๋ยลงได้ และไม่เพียงเท่านี้ ผมยังได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ รวงมีเมล็ดข้าวเต็มเมล็ด ไม่มีโรค และรอยแมลงทำลาย ซึ่งตรงตามความต้องการของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลำปาง ที่สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ทำนา เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์” นายชั้น ยอดบุญเรือง กล่าวเพิ่มเติม

ยิ่งไปกว่านั้น ในแปลงส่งเสริมยังมีการใช้เทคนิคเฉพาะของสยามคูโบต้า มาช่วยควบคุมผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการคำนวณความยาวของใบและลำต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์การจัดการน้ำและปริมาณการใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งช่วยลดปัญหาข้าวล้มได้

สำหรับผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ พบว่า ผลผลิตด้วยวิธี KAS มีปริมาณ 638 กิโลกรัม/ไร่ ใช้ต้นทุน 3,118 บาท/ไร่ ได้กำไรประมาณ 5,817 บาท/ไร่ ส่วนการปลูกข้าวแบบวิธีดั้งเดิมได้ผลผลิตปริมาณ 485 กิโลกรัม/ไร่ ใช้ต้นทุน6,020 บาท/ไร่ และได้กำไร 770 บาท/ไร่**  ซึ่งในอนาคต นายชั้น ยอดบุญเรือง ยังวางแผนที่จะเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวแบบดำมือ มาเป็นใช้รถดำนาเดินตามอีกด้วย

จากความสำเร็จในครั้งนี้ สยามคูโบต้ายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ หันมาทำนา โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกันมากขึ้น พร้อมทั้งยังมีการให้คำแนะนำเกษตรกรในการเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการ และสภาพพื้นที่การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  

**หมายเหตุ: ตัวเลขทั้งหมดได้จากการเก็บข้อมูลจากแปลงส่งเสริมของสยามคูโบต้า และแปลงของนาย ชั้น ยอดบุญเรือง ที่ทำเปรียบเทียบกัน ในปี 2560 โดยผลการทดสอบอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคใบไหม้แผลเล็ก (Southern Corn Maydis Leaf Blight) การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยมีเสมอทุกปีและระบาดเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบัน โดยมีความรุนแรงกับข้าวโพดสายพันธุ์แท้ (Inbred line) บางสายพันธุ์ ข้าวโพดหวานข้าวโพดเทียน ข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นต้น ลักษณะอาการ ระยะแรกจะเกิดจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อน
“แผ่นเทียบสีใบข้าว” คือ อุปกรณ์วัดสีของใบข้าว โดยแผ่นดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกคุณภาพพิเศษ ประกอบด้วยแถบสีระดับต่าง ๆ 4-6 แถบ มีร่องเล็ก ๆเลียนแบบลักษณะของใบข้าว ซึ่งระดับสีบนแผ่นเทียบจะจำลองจากสีของใบข้าว หลังจากการใส่ปุ๋ยเคมี ประกอบด้วยสีเขียวเข้ม จางลงตามลำดับ