ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแต่ละฤดู นอกจากจะเกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืช ในเมล็ดที่เคลื่อนย้ายออกไปจากนาแล้ว หากมีการเผาหรือนำฟางไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน จะทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืชในดินมากยิ่งขึ้น ดินจะมีธาตุอาหารพืชลดลง และเกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร ส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต
แม้ว่าการไถกลบฟางข้าวจะให้ผลดีหลายประการ แต่เกษตรกรไม่นิยมปฏิบัติ เนื่องจากการย่อยสลายฟางตามธรรมชาติต้องใช้เวลานาน ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำนาของเกษตรกร ในเขตชลประทานที่มีการทำนาหลายครั้งในรอบปี
แนวทางการจัดการฟาง
1. เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะต้นเตี้ย แตกกอดีและมีมวลชีวภาพต่ำ หรือมีค่าดรรชนีการเก็บเกี่ยวสูง (มากกว่าร้อยละ 40) เช่น สุพรรณบุรี 3 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 หรือ ชัยนาท 2 ต้นไม่หักล้มง่าย ตอซังสั้น มีฟางเหลือในนาน้อย ระหว่าง 900 – 1,300 เพื่อสะดวกต่อการไถกลบด้วยรถ
2. ถ้ามีปริมาณฟางเหลือทิ้งในนาน้อยกว่า 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรควรไถกลบฟาง ด้วยรถไถเตรียมดิน ในสภาพดินแห้งหรือ ปล่อยน้ำลงแช่ฟาง 2-3 วันเพื่อให้ฟางนุ่มอ่อนตัว แล้วไถกลบฟางในสภาพดินมีน้ำขัง หมักฟางไว้ 15-20 วัน แล้วเตรียมดินปลูกข้าวตามปกติต่อไป
3. ถ้ามีฟางเหลือทิ้งในนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวต้นสูง ตอซังยาว ข้าวหักล้มหรือการระบายน้ำในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวไม่แห้งสมบูรณ์ ยากต่อการไถกลบ เกษตรกรควรปล่อยน้ำลงในแปลงพอท่วม แล้วใช้รถแทรกเตอร์ย่ำตอซังข้าวให้แนบกับพื้นดิน ในลักษณะปล่อยให้ย่อยสลายบนดิน การจัดการฟางด้วยวิธีนี้ค่อนข้างใช้เวลาและการย่อยสลายฟางในสภาพดังกล่าว ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น หลังจากหมักฟางในสภาพดังกล่าว 15-20 วัน ทำการไถกลบฟาง และเตรียมดินปลูกข้าว
4. การจัดการฟางทั้ง 2 วิธี ทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น ภายหลังการจัดการฟางต่อเนื่องกัน 2 ปี และในดินที่ไถกลบฟางพบว่ามีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น
5. เกษตรกรไม่ควรเผาฟางที่เหลือทิ้งในนาด้วยวิธีเผา
การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง
1. หลังการไถกลบ หรือย่ำฟางด้วยรถไถให้แบนราบกับพื้นดิน และปล่อยฟางให้ย่อยสลายบนพื้นดิน เกษตรกรควรใช้ พด.2 อัตรา 5 ลิตร ผสมกับกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ในน้ำ 200 ลิตร แล้วปล่อยน้ำลงในแปลงพอท่วมในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อให้ตอซังข้าวที่นุ่มอ่อนตัวดีแล้วเกิดการย่อยสลาย
2. หลังปล่อยน้ำลงแช่แปลงแล้ว หว่านปุ๋ยยูเรียเพิ่มอีก 5 กิโลกรัมต่อไร่ และรักษาระดับน้ำไว้อย่าให้แปลงแห้ง หมักฟางไว้ประมาณ 15 วัน เตรียมดินทำเทือกเพื่อปลูกข้าวตามปกติ
3. การใช้จุลินทรีย์ร่วมกับการจัดการฟาง ด้วยวิธีย่ำฟางด้วยรถแทรกเตอร์ให้แบนราบกับพื้นดิน และปล่อยฟางให้ย่อยสลายบนพื้นดิน เป็นวิธีที่เกษตรกรควรนำไปปฏิบัติ เนื่องจากเป็นวิธีที่จัดการได้ง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย