โรคใบไหม้แผลใหญ่ (Northern Corn Leaf Blight)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Exserohilum turcicum
อาการ : อาการเริ่มแรกพบแผลขนาดเล็กสีคล้ายฟางข้าวบนใบข้าวโพด ต่อมาแผลจะขยายมีขนาดใหญ่สีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อนยาวตามใบข้าวโพดหัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม จะพบอาการแผลบนใบข้าวโพดหลายแผลต่อใบและแผลขยายรวมกันมาก ๆ ทำให้ใบข้าวโพดแห้งตาย สามารถพบอาการของแผลได้บนกาบฝัก ข้าวโพดที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ฝักไม่สมบูรณ์
การป้องกันกำจัด :
1. ปลูกพืชหมุนเวียน เผาทำลายเศษซากพืชเป็นโรค
2. การเขตกรรมที่เหมาะสม ไม่ปลูกพืชหนาแน่นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง
3. ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรค
4. หมั่นตรวจสอบไร่อยู่เสมอ เมื่อพบโรคให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช พ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน ไม่ควรใช้สารชนิดเดียวกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้เชื้อสาเหตุเกิดการดื้อยา การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชให้พ่นด้วยชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
– อะโซซิสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล อัตรา 15 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
– โพรพิโคนาโซล อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
– โพรพิโคนาโซล + ไดฟีโนโคนาโซล อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคราสนิม (Rust)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Puccinia polysora
อาการ : ใบข้าวโพดจะเกิดเป็นจุดนูนทั้งด้านบนใบและใต้ใบ แต่จะพบด้านบนมากกว่าด้านใต้ใบ ระยะแรกจุดนูนจะมีสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเมื่อจุดนูนแตกมีผงสีคล้ายสนิม อาการของโรคจะพบได้แทบทุกส่วนของข้าวโพด คือ ใบ ลำต้น กาบใบ กาบฝัก
การแพร่ระบาด : ระบาดได้ทุกฤดูแต่พบระบาดในช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูอื่น ๆ เชื้อราจากจุดนูนที่แตกเป็นผงฝุ่นขึ้นรอบ ๆ สามารถแพร่ระบาดโดยลม
การป้องกันกำจัด :
1. ใช้พันธุ์ต้านทาน
2. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง
3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกข้าวโพด หากพบจุดนูนของโรคราสนิม 1-2 % ของพื้นที่ใบให้พ่นด้วยสารไคพีโนคลอนาโซล 25 % อัตรา 20-30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคแซบ 80 % อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน จำนวน 2-4 ครั้ง
โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Peronosclerospora sorghi
อาการ : โรคราน้ำค้างหรือโรคใบลาย ใบข้าวโพดจะมีสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อนสลับสีเขียวแก่เป็นทาง ๆ ตามความยาวของใบจากฐานใบถึงปลายใบทางดังกล่าวอาจยาวติดต่อกันไปหรือขาดเป็นช่วง ในเวลาเช้าที่มีอากาศค่อนข้างเย็นความชื้นสูงจะพบผงสปอร์สีขาว ๆ เป็นจำนวนมากบริเวณใต้ใบ ลักษณะอาการอื่น ๆ ของโรคที่อาจพบได้ คือ ดอกตัวผู้จะหงิกงอไม่เจริญเต็มที่ ส่วนดอกตัวเมียอาจไม่เจริญเติบโตหรือจะเจริญมากเกินไป บางครั้งพบ 5-6 ฝักต่อต้น การผสมเกสรไม่สมบูรณ์หรือไม่ผสมเลย
การป้องกันกำจัด :
1. ใช้พันธุ์ต้านทาน
2. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง
3. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีเมทาแลกซิล อัตรา 7 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือสารเมทาแลกซิล-เอ็ม อัตรา 3.5 ซีซี/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือสารไดเมทโทมอร์ฟ อัตรา 20 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัมก่อนปลูก
4. หมั่นตรวจไร่ตั้งแต่เริ่มปลูก ถ้าพบข้าวโพดเริมแสดงอาการของโรคให้ถอนและเผาทำลายทันที
โรคโคนเน่า (Bacterial Stalk Rot)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Erwinia chrysanthimi
อาการ : พบอาการใบไหม้จากปลายใบมาที่โคนใบ ยอดข้าวโพดมีสีซีดเหี่ยว เฉา ต่อมาจะไหม้ลุกลามเป็นยอดเน่า บริเวณข้อที่อยู่เหนือดินมีรอยช้ำสีน้ำตาล เมื่อผ่าดูพบท่อลำเลียงน้ำและอาหารเป็นสีน้ำตาล ต่อมาเนื้อเยื่อภายในลำต้นถูกย่อยสลาย มีน้ำเมือกไหล มีกลิ่นเหม็น ในที่สุดลำต้นแตก หัก ล้มพับ ถ้าข้าวโพดแสดงอาการหลังติดฝักแล้วจะไม่สมบูรณ์ เมล็ดลีบ
การป้องกันกำจัด :
1. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด
2. ถอนแล้วเผาทำลายต้นที่เป็นโรคทันทีที่พบเห็น และใส่ปูนขาวบริเวณที่พบโรค
3. ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทานโรค
4. ควรปลูกข้าวโพดบริเวณที่มีการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหนาแน่นและการให้ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง เพิ่มอินทรีย์วัตถุสูงกว่า 1.5 % เพื่อปรับให้มีการแข่งขันของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ต่อเชื้อโรค
5. ปลูกพืชหมุนเวียนในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด
โรคใบด่าง (Maize Dwarf Mosaic Virus)
เชื้อสาเหตุ : ไวรัส
อาการ : ข้าวโพดแสดงอาการใบด่างลายเขียวซีดสลับเขียวเข้มหรืออาการด่างประจุดเหลืองหรืออาการประร่วมกับใบและยอดไหม้ ถ้าข้าวโพดยังเล็กอยู่มักพบอาการใบเหลืองซีดทั่วทั้งใบยอดอ่อนมีสีเหลืองซีดหรือมีจุดประ ต้นแคระแกร็น ถ้าอาการของโรครุนแรงต้นข้าวโพดจะแห้งตายขณะยังเล็ก ต้นข้าวโพดที่โตแล้วจะให้ฝักที่ไม่สมบูรณ์ กาบหุ้มฝักมีสีเหลืองซีด และบางส่วนของกาบหุ้มฝักแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน กาบใบมีสีเขียวอ่อน ต่อมาจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน
การป้องกันกำจัด :
1. กำจัดเพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นตัวแมลงพาหะนำโรค
2. ปลูกข้าวโพดพันธุ์ต้านทาน ปลูกพืชหมุนเวียน
3. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดในช่วงที่มีการระบาดของแมลงพาหะ