หนอนกระทู้หอม

หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm : Spodoptera exigua Hubner)

รูปร่างลักษณะ :  หนอนกระทู้หอมหรือหนอนหลอดหอม เป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพดในระยะ 7-30 วัน กัดกินใบและต้นทำให้เกิดความเสียหายมาก ถ้าปล่อยให้เข้าทำลายโดยไม่มีการป้องกันกำจัด ข้าวโพดจะตายในที่สุด 

หนอนกระทู้หอมตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลเข้มปนเทา เมื่อกางปีกเต็มที่กว้าง 20-25 มิลลิเมตร มีจุดสีน้ำตาลอ่อนที่กลางปีกคู่หน้า 2 จุด อายุตัวเต็มวัย 7-10 วัน ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20-25 ฟอง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม กัดกินผิวใบ 1-2 วัน จึงจะกระจายไปยังใบอื่นหรือต้นใกล้เคียง ลักษณะหนอนมีผิวเรียบมันหลายสี ขึ้นกับอาหารและระยะการลอกคราบ คือ เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลดำ ชอบออกทำลายพืชในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันชอบหลบตามซอกใบและยอดข้าวโพด ขนาดโตเต็มที่ 2×20 มิลลิเมตร ระยะหนอน 15-18 วัน หนอนเข้าดักแด้ใต้ดินใกล้ต้นพืช ระยะดักแด้ 5-7 วัน 

การป้องกันกำจัด :  แมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญพบเพียงชนิดเดียว คือ แตนเบียนหนอน ช่วยควบคุมประชากรหนอนได้ถึงร้อยละ 15 สำหรับโรคของหนอนกระทู้หอมพบเพียงชนิดเดียว คือ ไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus) ทำให้หนอนกระทู้หอมเป็นโรคตายในสภาพธรรมชาติ การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมได้ผลดีที่สุด คือ ใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 3 ครั้ง ตอนเย็นแต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน ส่วนสารฆ่าแมลงที่ให้ผลดีในการป้องกันกำจัดและมีพิษน้อยต่อแตนเบียน ได้แก่ Flufenoxuron (Cascade 5% EC) หรือ Chlorfluazuron (Atabron 5% EC) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Betacyfluthrin (Folitec 025 EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบหนอนเฉลี่ย 2-3 ตัวต่อต้น เพียง 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน พ่นในระยะข้าวโพดอายุประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีแตนเบียนช่วยควบคุมหนอนไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง

บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ว่าการทำนาด้วยวิธีการหว่านแห้ง หรือการหว่านน้ำตม ส่งผลให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าจ้างแรงงาน เนื่องจากการหว่านจะทำให้ต้นข้าวแตกกอหนาแน่น ไม่เป็นระเบียบ จึงจัดการดูแลรักษายาก โดยเฉพาะการกำจัดวัชพืช มีโอกาสเกิดโรคและได้รับความเสียหายจากแมลงศัตรูพืช
ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคเหนือ 4. ชุดดินบ้านจ้อง (Ban Chong series : Bg) กลุ่มชุดดินที่ 29 การกำเนิด : เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินตะกอนเนื้อละเอียดและหินที่แปรสภาพ เช่น หินดินดาน หินทรายแป้ง หินโคลน หินชนวน และหินฟิลไลท์ สภาพพื้นที่ : ลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยถึงเป็นเนินเขา ความลาดชัน 3-35 %