หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm)

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
เป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพด นอกจากนี้ยังมีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว อ้อย ข้าวฟ่าง พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ฝ้าย ทานตะวัน กล้วย กระเทียม ขิง มันเทศ พริก  พืชตระกูลกะหล่ำ พืชตระกูลแตง และพืชผัก เป็นต้นวงจรชีวิตหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด  ใช้เวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาว 3.2-4.0 เซนติเมตร จะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย มีชีวิต 10-21 วัน  ตัวเต็มวัยบินได้ไกล เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน

เริ่มวางไข่บนต้นข้าวโพด  ตั้งแต่ข้าวโพดงอกอายุประมาณ 3-4 วัน โดยพบกลุ่มไข่ทั้งด้านบนใบ ใต้ใบ และที่โคนต้น หลังจากฟักจากไข่ หนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ เห็นเป็นรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบเมื่อข้าวโพดอายุ 6-7 วัน (10-11 วันหลังปลูก) ลักษณะเป็นจุดหรือเป็นแถบสีขาว หนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟักสามารถกระจายไปยังต้นข้างเคียงโดยลม หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดชอบกินพืชส่วนที่อ่อน จึงเข้าไปทำลายในยอดข้าวโพด ในสภาพที่อากาศร้อนจัด ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน)  อุณหภูมิ 36-41 องศา  หนอนที่อายุประมาณ 5 วัน จะลงมาอยู่ใต้ดินบริเวณโคนต้น และกัดกินเนื้อเยื่อเจริญส่วนโคนต้น ทำให้ยอดข้าวโพดแสดงอาการเหี่ยว ต้นตาย ต้นที่ยอดตายบางต้นมักจะมีการแตกหน่อข้าง แต่ถ้าสภาพดินเปียกหรือแฉะ หนอนมักจะไม่ลงมาทำลายใต้ดินบริเวณโคนต้น

หนอนวัยที่ 3-6  เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก โดยกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด  ระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่ หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากใบยอดคลี่ทั้งหมดดอกตัวผู้โผล่ หนอนจะย้ายไปกัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก ดังนั้นจึงควรป้องกันกำจัดก่อนระยะติดดอก ออกฝัก (หลังงอก – 45 วัน)  เพื่อลดปริมาณหนอนให้ได้มากที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการพ่นสารในระยะออกฝัก หรือระยะสะสมน้ำหนักเมล็ด เนื่องจากหนอนได้เข้าไปอยู่ในฝัก การพ่นสารจึงไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอน

การปลูกข้าวโพดในฤดูฝน   หากมีการกระจายของฝนดี ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ความรุนแรงในการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะลดลง ฝนสามารถชะล้างกลุ่มไข่ หรือ หนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟัก หรือทำให้หนอนที่อยู่ในดินซึ่งกำลังจะเข้าดักแด้ รวมทั้งดักแด้ที่อยู่ในดินมีชีวิตรอดน้อยลง ทำให้สามารถเว้นระยะห่างในการพ่นสารและลดจำนวนครั้งในการพ่นสารลงได้  อย่างไรก็ตามยังต้องมีการติดตามสำรวจแปลงอย่างอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ fall armyworm   หากพบหนอนขนาดเล็กให้เก็บหนอนทำลายทิ้ง และใช้ชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อ BT สายพันธุ์ไอซาไว หรือ สายพันธุ์เคอร์สตากี้ ชนิดผง อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด หากพบไข่ให้ทำลายโดยเก็บกลุ่มไข่ทำลายทิ้ง ส่วนตัวเต็มวัยสามารถทำลายโดยใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดัก/ไร่ หนอนที่มีขนาดใหญ่ให้ทำลายโดยใช้แมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงหางหนีบหรือมวนพิฆาต และในกรณีที่ใช้เคมีให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้

  1. สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  2. สารคลอแรนทรานิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ   สารฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WG อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. สารคลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  4. สารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ทั้งนี้  ให้พ่นสารฆ่าแมลงทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

บทความที่เกี่ยวข้อง

อากาศที่ร้อนและแล้งในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ทำให้เพลี้ยแป้งสีชมพูเพิ่มปริมาณได้รวดเร็วขึ้น ทางนักวิชาการแนะนำว่า อย่าฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพู อย่างเด็ดขาด
มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเพื่อรักษาความอุดมสมบูณ์ของดินให้เหมาะสมกับการใช้ปลูกข้าวอินทรีย์ดังนี้ 1.ไม่เผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุอินทรีย์ในแปลงนา เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ 2.ไม่นำชิ้นส่วนของพืชที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงออกจากแปลงนา แต่ควรนำวัสดุอินทรีย์จากแหล่งใกล้เคียงใส่แปลงนาให้สม่ำเสมอทีละเล็กละน้อย
ยิ่งเผา ยิ่งสร้างมลพิษ ทำลายโครงสร้างดิน ควรจัดการอย่างไรดี ?