การปลูกและบริหารจัดการข้าวโพด 900 ไร่ แบบฉบับไร้ธิดาฟาร์ม

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศ ทั้งนี้ มีการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศมากถึงร้อยละ 93.1 ของอาหารเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดภายในประเทศ ซึ่งจากปริมาณความต้องการดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดี ที่เกษตรกรของไทยจะพัฒนาการผลิตข้าวโพดให้มีคุณภาพ และปริมาณที่เพียงพอให้ใช้ภายในประเทศรวมถึงส่งออกอีกด้วย โดยคุณณรงค์ เยื้อกลาง อดีตคณะกรรมการส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเกษตรกรแนวคิดก้าวหน้าเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไร้ธิดาฟาร์ม ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแปลงที่ดี การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดี

เกษตรกรแนวคิดก้าวหน้าท่านนี้ ทำการเพาะปลูกข้าวโพดมาแล้วกว่า 20 ปี โดยมีการปลูกข้าวโพดในแต่ละปีถึง 900 ไร่ และยังมีรายได้จากการทำฟาร์มโคนม 140 ตัว (แม่วัวให้นม 40 ตัว) เทคนิคในการเพาะปลูกของเกษตรกรอยู่ที่การบริหารจัดการแปลงที่ดี โดยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ในการเตรียมดิน เพาะปลูก กำจัดวัชพืช ตลอดจนขั้นตอนเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมดินที่ดี เพราะการเตรียมดินดีคือพื้นฐานของการผลิตที่สำคัญ โดยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของคุณณรงค์ทำการเพาะปลูกข้าวโพดได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ด้วยข้อจำกัดของน้ำในพื้นที่เพาะปลูก แต่ก็ส่งผลให้ไม่มีการระบาดของโรคแมลง ซึ่งนอกจากการเตรียมพื้นที่ที่ดีแล้ว การเพาะปลูกให้ได้คุณภาพและปริมาณผลผลิตที่ดี สิ่งสำคัญอีกประการคือ การเลือกสายพันธุ์ที่ดี ซึ่งพันธุ์ที่เกษตรกรเลือกใช้ต้องเป็นพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ มีอัตราการงอกสูง ทนต่อสภาพอากาศในพื้นที่ มีการเจริญเติบโตที่ดี และให้ผลผลิตต่อพื้นที่มาก จึงควรให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากแหล่ง  ที่เชื่อถือได้ มีการรับรองมาตรฐาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักประกันความสำเร็จของผลผลิตจากการเริ่มต้นที่ดีอีกด้วย

ปฏิทินการปลูกข้าวโพด

ขั้นตอนการปลูกข้าวโพดแบบฉบับไร้ธิดาฟาร์ม

การเตรียมดิน เริ่มต้นจากการใส่ปุ๋ยคอก ซึ่งได้มาจากมูลวัวภายในฟาร์ม ใส่ในอัตรา 3 ตัน/ไร่ จากนั้นเริ่มไถบุกเบิก ระดับความลึกประมาณ 30 ซม. แล้วตากดินไว้ 7-14 วัน เพื่อกำจัดโรคและแมลง  อีกทั้งเป็นการหมักปุ๋ยคอกให้ย่อยสลาย หลังจากนั้นทำการไถพรวนอีก 1 ครั้ง และตากดินไว้ 7 วัน โดยจะเริ่มทำการปลูกในเดือน มิ.ย. ซึ่งตรงกับช่วงต้นฤดูฝน ในขั้นตอนการปลูกจะใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพด ต่อพ่วงแทรกเตอร์ทำการหยอดหลุมละ 1 – 2 เมล็ด ความลึกในการหยอดเมล็ดข้าวโพด 2.5 – 3 นิ้ว โดยปริมาณเมล็ดที่ใช้ประมาณ 3.8 กก./ไร่โดยใส่ปุ๋ยรองพื้นรองก้นหลุม พร้อมการปลูก สูตร 15 – 15 -15 ในอัตรา 30 กก./ไร่ ซึ่งเป็นข้อดีของการใช้เครื่องหยอดที่สามารถหยอดเมล็ดและปุ๋ยได้ในขั้นตอนเดียว ทำให้สามารถทำงานเพียงคนเดียว โดยระยะการปลูกที่เหมาะสมที่ให้ผลผลิตสูงสุดควรมีระยะระหว่างต้น 15 ซม. ระหว่างแถว 70 ซม. (ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการใช้แทรกเตอร์ติดอุปกรณ์ต่อพ่วงกำจัดวัชพืชได้)เมื่อเมล็ดงอกประมาณ 10 วันหลังปลูก จึงทำการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น จากนั้นช่วงเดือน ก.ค. หรือหลังจากหยอดเมล็ดได้ประมาณ 1 เดือน จึงเริ่มกำจัดวัชพืชครั้งแรกโดยใช้อุปกรณ์กำจัดวัชพืชพร้อมการใส่ปุ๋ยต่อพ่วงแทรกเตอร์เข้าทำงานโดยใช้ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 20 กก./ไร่ ทำให้ประหยัดแรงงานได้ถึง 4-8 เท่า (เมื่อเทียบกับแรงงานคน) หลังจากนั้น 1-2 เดือน ใช้แรงงานคนเข้ากำจัดวัชพืชครั้งที่ 2 (เพราะช่วงนี้ต้นข้าวโพดจะสูงเกินกว่าการเข้าทำงานของแทรกเตอร์) จากนั้นก็ดูแลตรวจแปลงเป็นระยะจนถึงประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศแห้ง ความชื้นในฝักข้าวโพดไม่เกิน 23 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยรถเกี่ยวข้าวโพดได้

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรตั้งแต่ การเตรียมดิน การเพาะปลูก การกำจัดวัชพืช ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีความสะดวกสบายในการปฏิบัติงานมากขึ้นมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำลง และยังมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน จากการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ 900 ไร่ ของคุณณรงค์สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 800 – 900 กก./ไร่ มีรายได้ต่อปีถึง 720,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถบริหารจัดการการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เตรียมส่วนผสม ขั้นตอนที่ 1: ราบิวเวอเรีย 1 ก้อน ผสมกับกับน้ำ 2 ลิตร และน้ำยาล้างจาน 2 ช้อนชา (10 มิลลิลิตร) ขั้นตอนที่ 2 : ขยี้ให้สปอร์หลุดจากเมล็ดข้าว แล้วกรองผ่านผ้าขาวบาง เทใส่ลงในส่วนผสมในขั้นตอนที่ 1 จะได้สารละลายสีขาวขุ่น ขั้นตอนที่ 3 : เติมน้ำใส่ลงในส่วนผสมให้ครบ 20 ลิตร ขั้นตอนที่ 4
การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพดีและมีผลผลิตที่สม่ำเสมอ แต่ในดินที่มีการปลูกพืชมักจะขาดแคลนธาตุไนโตรเจน ทำให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในการทำนาทุกครั้ง ซึ่งในการใส่ปุ๋ย หากใส่มากเกินไป อาจทำให้ข้าวเกิดโรคและหักล้มง่าย หากใส่น้อยเกินไป อาจทำให้ได้ผลผลิตต่