หากจะให้นิยามของคำว่า “พอเพียง” ความหมายของมันอาจจะมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับปราชญ์ของเราท่านนี้ความหมายของคำว่าพอเพียง คงมิใช่พอเพียงเฉพาะตนเอง หากแต่เป็นความ “พอเพียง อย่างเพียงพอ” ของคนมากมายหลายครอบครัวในชุมชนบ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ปราชญ์ของเราท่านนี้คือกำนันยอดเยี่ยมจากกระทรวงมหาดไทย ปี 2553 กำนันอดิศร เหล่าสะพาน ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนมัน ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของการรวมกลุ่มของเกษตรกร
ชุมชนบ้านดอนมันเป็นชุมชนขนาดเล็ก ในตำบลขามเรียง แต่ชุมชนแห่งนี้มีกฏกติการ่วมกันหลายๆ ข้อ เช่น ห้ามมีการจำหน่ายสุรา บุหรี่ และสิ่งมอมเมาต่างๆ ในชุมชนเป็นอันขาด ซึ่งทุกคนในชุมชนต่างร่วมกันปฏิบัติตามกฏชุมชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยังลด ละ เลิก อบายมุขทุกชนิด ทั้งการพนัน สุรา บุหรี่ และหันมาร่วมมือร่วมใจพัฒนาชุมชน ครอบครัว โดยการริเริ่มของผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีการบริหารงานจัดการชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สร้างแหล่งอาหาร ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน ไร่นาสวนผสม เพาะเห็ด และพันธุ์ปลา พันธุ์กบ ไว้บริโภค จนได้รับรางวัล “หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” และได้กระจายความรู้สู่ชุมชนเกษตรกรต่างๆ มากมาย
“อาหารเท่านั้นที่ครองโลก” เป็นวลีที่ทำให้ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงการสร้างแหล่งอาหารของตนเอง จนเกิดเป็นกิจกรรมเรียนรู้มากมายในชุมชน เราจะพาทุกท่านไปชมกันว่าในชุมชนนี้เค้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง และคำว่าพอเพียงของคนในกลุ่มมีความหมายเช่นไร
กิจกรรมต่างๆ ในชุมชน
กิจกรรมเพาะเห็ด ในชุมชนบ้านดอนมันได้เล็งเห็นร่วมกันว่าเห็ด เป็นอาหารที่มีประโยชน์ทั้งในแง่แหล่งอาหาร และรายได้รายวันของสมาชิก จึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเห็ดทั้งเห็ดขอนขาว และเห็ดขอนดำ โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในด้านวิชาการ และอุปกรณ์ อาทิเช่น เตานึ่งก้อนเห็ดแบบประหยัดพลังงาน ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายเห็ดทุกวัน
กิจกรรมเลี้ยงสัตว์บก เช่น หมู ไก่ และเป็ด เพื่อจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ และใช้ในการบริโภคในครัวเรือน ทั้งในส่วนของไข่เป็ด ไข่ไก่ และในส่วนของเนื้อสัตว์ที่ปลอดสารเร่งโต
การทำนาอินทรีย์ ปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร และผลไม้ ไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน และเหลือจากนั้นจึงค่อยนำไปจำหน่าย จ่ายแจกเป็นรายได้ โดยจะปลูกทุกอย่างที่อยากกิน และปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี 100 % โดยในพื้นที่ได้ปลูกสมุนไพรไว้ใช้ปราบศัตรูพืชอีกด้วย
กิจกรรมเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลาต่างๆ และกบ โดยได้ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มขุดสระน้ำกระจายในพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยศึกษาวิธีการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น กบ แล้วพบว่าการจะให้กบผสมพันธุ์ได้ทั้งปีนั้น ต้องคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมพันธุ์โดยดูจากผิวที่ท้องของกบว่าจะมีลักษณะเป็นเม็ดสากมือเมื่อลูบ และใช้น้ำแข็งกับหญ้าปล้องเพื่อกระตุ้นการจับคู่ โดยใส่น้ำแข็งลงไปในอ่างผสมพันธุ์ที่นำหญ้าปล้องมาใส่ไว้เพื่อให้เลียนแบบธรรมชาติ จนได้น้ำในอ่างผสมพันธุ์มีอุณหภูมิประมาณ 17 – 18 องศาเซลเซียส กบก็จะเข้าใจว่าถึงฤดูผสมพันธุ์ก็จะเริ่มจับคู่กัน ทำให้ในแต่ละเดือนมีรายได้จากการขายพันธุ์กบ และเนื้อกบหลายพันบาทเลยทีเดียว
กิจกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ สภาพพื้นที่บริเวณบ้านดอนมันนั้นมีสภาพเป็นดินทราย ขาดธาตุอาหาร และราคาของปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงก็มีราคาแพง อีกทั้งยังเป็นพิษต่อผู้บริโภคและคนในชุมชน ทางกลุ่มจึงได้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ที่เลี้ยง และน้ำหมักชีวภาพ ขึ้นเพื่อใช้เอง โดยเมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพแล้วทำให้ได้พืชผัก และข้าว ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังประหยัดต้นทุนอีกด้วย และยังใช้วิธีห่มดินโดยการนำฟางจากการเกี่ยวข้าวมาคลุมดินเพื่อป้องกันวัชพืช และทำให้ดินชุมชื้นอยู่เสมอ
การผลิตเชื้อเพลิงไว้ใช้เอง และการเก็บน้ำส้มควันไม้ไว้ไล่แมลง ถ้าหากมีอาหารแต่ขาดเชื้อเพลิงก็ไม่สามารถปรุงอาหารได้ การใช้เศษไม้ต่างๆ ที่ตัดแต่งจากในสวนมาเผาถ่ายทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อเชื้อเพลิง และยังทำให้สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้มาใช้ไล่แมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย โดยวิธีการก็ง่ายๆ แค่ใช้ถัง 200 ลิตร ฝังดินแล้วเอาไม้ใส่เข้าไป ผสมกับพืชสมุนไพรต่างๆ เช่นบอระเพ็ด ยูคาลิปตัส เผารวมกันและใช้กระทะใส่น้ำตั้งปิดไว้เพื่อดักน้ำส้มควันไม้ก็จะได้ทั้งถ่านคุณภาพสูง และน้ำส้มควันไม้ที่มีประสิทธิภาพแล้ว
“นี่คือตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีความสุขจากการร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น และยกระดับชีวิตของครอบครัว วิธีการในการปฏิบัติกิจกรรมภายในกลุ่มที่กล่าวมาเป็นเพียง การยกตัวอย่างให้เห็นภาพเท่านั้น หากจะลงลึกจริงๆ คงใช้เวลา และหน้ากระดาษในการอธิบายจำนวนมาก แต่คงพอจะเป็นแนวคิดในการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้ผู้อ่านได้นำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี”