การให้น้ำในสวนปาล์มน้ำมัน

ต้องให้น้ำปริมาณเท่าไหร่?

ปาล์มน้ำมันต้องการน้ำในช่วงแล้ง 3-5 มิลลิเมตรต่อวัน (มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณแสงและค่าระเหยน้ำในช่วงนั้นๆ) ไม่ต่างจากพืชอื่น แต่เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นไม้ทรงพุ่มใหญ่ระยะ 9x9x9 เมตร ส่งผลให้ 1 ไร่ มีเพียง 22 ต้น เมื่อคำนวณปริมาณน้ำต่อต้นจึงดูเหมือนว่าใช้น้ำเยอะมาก แต่หากคำนวณเป็นไร่ไม่แตกต่างกัน และปริมาณน้ำที่ให้ขึ้นกับขนาดของพื้นที่ทรงพุ่มหรืออายุนั่นเอง(ตารางที่ 1) ระยะเวลาในการให้จะเร็วหรือนานขึ้นกับจำนวนหัวมินิสปริงเกอร์และอัตราการจ่ายน้ำ

ต้องให้น้ำเวลาไหน?

เวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำควรเป็นช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ปาล์มน้ำมันเริ่มทำงานหรือเริ่มสังเคราะห์แสงนั่นเอง ช่วงดังกล่าวรากจะรีบดูดน้ำจากดินส่งไปปากใบ สำหรับกิจกรรมการสังเคราะห์แสงที่มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น การให้น้ำในช่วงเช้าปาล์มน้ำมันสามารถดูดน้ำได้ทันทีและเป็นการเติมเต็มน้ำที่หายไปจากดิน แต่หากเกษตรกรให้น้ำช่วงบ่าย กิจกรรมการดูดน้ำของรากอาจหยุดไปแล้ว ส่งผลให้น้ำที่เติมไปในช่วงเวลาดังกล่าวไหลลงลึกเกินเขตราก เป็นการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญการให้น้ำต้องคำนึงถึงลักษณะของดินด้วยว่าเป็นดินลักษณะอย่างไร สามารถอุ้มน้ำได้ดีมากน้อยเพียงใด หากอุ้มน้ำได้ดีสามารถให้ได้ต่อเนื่อง แต่หากเป็นดินที่อุ้มน้ำได้น้อยควรให้ครั้งละสั้นๆบ่อยครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

การจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม…..ทำอย่างไร?

ในกรณีที่พื้นที่เหมาะสมน้อยหรือปานกลาง หากต้องการผลิตปาล์มน้ำมันให้คุ้มค่าต่อการลงทุน จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะต้องลงทุนจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ทั้งด้านน้ำและธาตุอาหารเพราะปาล์มน้ำมันจะใช้ธาตุอาหารได้ดี ดินต้องมีความชื้นเพียงพอสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำฝน จะใส่ปุ๋ยได้ช่วงต้นฝนและปลายฝนเท่านั้น ในขณะที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตต่อเนื่องทั้งปี จึงต้องการธาตุอาหารอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากพื้นที่ปลูกของเกษตรกรมีแหล่งน้ำ การลงทุนระบบให้น้ำ จะทำให้สามารถจัดการใส่ปุ๋ยได้ตามที่ต้องการ ศักยภาพการใช้ธาตุอาหารจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมัน

ควรเลือกระบบให้น้ำแบบไหน?

ระบบให้น้ำมีหลายแบบ เช่น ให้ตามท้องร่อง ให้บนผิวดิน แบบสปริงเกอร์ แบบมินิสปริงเกอร์ หรือแบบน้ำหยดเกษตรกรต้องเลือกตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น ทุ่งรังสิตหรือในสวนไม้ผลเก่าในเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เกษตรกรให้น้ำตามท้องร่อง ตามลักษณะพื้นที่เดิม แต่หากเกษตรกรมีแหล่งน้ำค่อนข้างน้อย ต้องการประหยัดน้ำต้องใช้แบบน้ำหยดซึ่งประหยัดน้ำมากที่สุด แต่ลงทุนสูงและคุณภาพน้ำต้องสะอาดพอเพราะอาจเกิดปัญหาอุดตันที่หัวน้ำหยด ข้อเสียคือการกระจายตัวของน้ำไม่ดี และหากมีปริมาณน้ำมากพอแนะนำให้ใช้ระบบน้ำมินิสปริงเกอร์ เนื่องจากน้ำกระจายตัวได้ดี ช่วยลดความเครียดของสภาพแวดล้อมในทรงพุ่มปาล์มน้ำมันได้ ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ปาล์มน้ำมัน มีความต้องการสภาพพื้นที่และปัจจัยการผลิตเป็นพิเศษแตกต่างจากพืชโดยทั่วไป เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยาว อายุเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 4-25และที่สำคัญปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องทั้งปี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจในความต้องการธาตุอาหารของปาล์มน้ำมันที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นตามอายุปาล์มน้ำมัน ซึ่งเจริญเติบโตและให้ผลผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และเริ่มคงตัวในช่วงปีที่ 8-10

พื้นที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องอย่างไร?

ความเหมาะสมของพื้นที่นอกจากจะพิจารณาความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ปัจจัยสภาพภูมิอากาศในสถานที่นั้นๆ มีความสำคัญมากเนื่องจากเกษตรกรสามารถปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มเติมได้ แต่สภาพภูมิอากาศเราไม่สามารถสั่งการได้โดยสภาพที่ว่าต้องการปริมาณฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี(มากกว่า 100 มิลลิมตรต่อเดือน) และต้องมีการกระจายตัวสม่ำเสมอ อุณหภูมิเฉลี่ย 25-29 องศาเซลเซียส ความเข้มแสง 13-15 เมกะจูลต่อตารางเมตร และมีแสงอย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งหากพิจารณาแล้วความเข้มแสงและอุณหภูมิสำหรับภาคใต้ไม่มีปัญหา แต่ผลจากปริมาณและการทิ้งช่วงของฝน ทำให้พื้นที่ในเขตภาคใต้บางจังหวัด บางอำเภอถือเป็นเขตที่เหมาะสมน้อย-ปานกลาง ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่เหมาะสมมาก สามารถลดต้นทุนได้ตั้งแต่เริ่ม เนื่องจากมีปัจจัยการผลิต(น้ำและธาตุอาหาร) มากพอ โดยสภาพพื้นที่เหมาะสมส่งผลให้ปาล์มน้ำมันเกิดช่อดอกตัวเมียได้มาก การผสมเกสรสมบูรณ์ คุณภาพของทะลายดีเกษตรกรเพิ่มเติมปัจจัยการผลิตไม่มาก ปาล์มน้ำมันก็สามารถให้ผลผลิตได้คุ้มค่า

ผลตอบแทนในการให้น้ำปาล์มน้ำมัน

คำนวณรายรับ-รายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างปาล์มน้ำมันสุราษฏร์ธานี 1 ที่อาศัยน้ำฝนและให้น้ำ 1.2 เท่าของค่าระเหยน้ำ พบว่า รายได้ของสวนปาล์มน้ำมัน 20 ไร่ที่ให้น้ำสูงกว่าไม่ให้น้ำรวม 739,517 บาท(ตารางที่ 3) และเมื่อหักระบบน้ำ 60,000 บาท และค่าไฟฟ้าสูบน้ำ 9 ปี 32,027 บาท คงเหลือรายรับที่สูงกว่าไม่ให้น้ำรวม 647,490 บาทหรือ 7,708 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ไม่คิดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีซึ่งให้ในปริมาณเท่ากัน ถือว่าการให้น้ำปาล์มน้ำมันให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และสามารถใช้ประสิทธิภาพที่ดิน,น้ำ และปุ๋ยเคมีได้อย่างคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกปาล์มน้ำมันโดยอาศัยเฉพาะน้ำฝน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปุ๋ยจุลินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด มีทั้งพืชอายุสั้น เช่น พืชตระกลูถั่วต่างๆ ตลอดจนพืชอายุข้ามปี รวมทั้งพืชขนาดเล็ก
การปลูกอ้อยให้ได้ดีมีผลผลิตสูงต้องอาศัยการใช้พันธุ์อ้อยที่มีคุณสมบัติที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก และต้องอาศัยการดูแลรักษาเฝ้าระวังโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถได้ผลผลิตและค่าความหวานสูง ลุง สรวิชญ์ ศรีพิมาน เกษตรกรคนเก่งแห่งกาญจนบุรี ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ปลูกอ้อยเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันได้
ในปัจจุบันวิธีการปลูกข้าวที่เกษตรกรนิยม คือ การทำนาหว่าน ซึ่งมีข้อดีคือสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การทำนาหว่านข้าวแห้ง จึงเป็นวิธีปลูกข้าวที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การหว่านข้าวแห้งมีข้อเสียด้วยเช่นกัน