การใช้ชีววิธี เพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง

มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เอกสารแนะนำ เลขที่ 2/2552 ธันวาคม 2552 เกษตรกรสามารถควบคุมเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง โดยใช้ชีววิธี มี 2 วิธี ได้แก่ การใช้เชื้อราบิวเวอเรียฉีดพ่น และการปล่อยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ สามารถผลิตได้โดยเกษตรกร หรือชุมชนเอง

เชื้อราบิวเวอเรีย

เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับเพลี้ยแป้ง เมื่อฉีดพ่นโดนตัวเพลี้ยแป้งแล้ว สปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรียจะแทงทะลุผ่านลำตัวแมลง และเชื้อราจะเจริญเพิ่มปริมาณทำให้แมลงเป็นอัมพาตและตายในที่สุด

วิธีการผลิต

แช่ข้าวโพดแห้ง 40 ก.ก. ในน้ำ 12 ชั่วโมง รินน้ำออกให้หมด กรอกข้าวโพดใส่ถุงพลาสติกทนร้อนชนิดขยายข้าง ขนาด 6 นิ้ว x 12 นิ้ว ถุงละครึ่ง ก.ก. ปิดถุงโดยจุกสำลีแล้วห่อด้วยกระดาษ รัดหนังยาง นำไปนึ่ง 3 ชั่วโมง นำออกจากถังนึ่ง พักไว้ให้เย็น นำเข้าตู้หยอดเชื้อราบิวเวอเรีย โดยหยอดเชื้อปริมาณ 2 กรัมต่อถุง เก็บไว้ในห้องที่สะอาด มีแสงสว่าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก บ่มเชื้อไว้ 10 – 15 วัน เชื้อราจะเจริญเต็มถุงพร้อมนำไปใช้ได้ ข้าวโพด 40 ก.ก. สามารถใช้ได้ในเนื้อที่ 10 ไร่

วิธีการใช้

นำถุงข้าวโพดที่มีเชื้อราขยายเต็มที่แล้ว  2 ถุง ใส่ถัง เติมน้ำ 5 ลิตร คนให้เชื้อราหลุดจากข้าวโพด กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำ 15 ลิตร ที่ผสมกับสารจับใบ 50 ซี.ซี. แล้วคนให้เข้ากัน ฉีดพ่นบริเวณที่มีเพลี้ยแป้งระบาด ในช่วงเย็นที่มีความชื้นสูง จะได้เนื้อที่ 1 งาน ควรฉีดพ่นซ้ำกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน เพื่อให้ได้ผลเต็มที่

ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส

แมลงช้างปีกใสเป็นตัวห้ำชนิดหนึ่ง ตัวอ่อนของแมลงช้างปีกใสจะอาศัยเพลี้ยแป้งเป็นอาหาร เพื่อเจริญวัยเป็นแมลงช้างปีกใส ตัวแมลงเองเมื่อโตเต็มวัยแล้วจะไม่กินเพลี้ยแป้ง ดังนั้น ในการผลิตแมลงช้างปีกใส จะมุ่งเน้นที่ตัวอ่อนของมัน

วิธีการผลิต

เกษตรกรขยายพันธุ์แมลงช้างปีกใสได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถดูไข่ และตัวอ่อนแมลงช้างได้ด้วยสายตาเปล่า ไข่มีลักษณะเป็นเส้นขาว มีหัวคล้ายไม้ขีดไฟสีขาวหรือเขียว เกาะอยู่ตามใบ ยอด และช่อของต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้ง ให้เตรียมภาชนะที่มีลักษณะเป็นอ่างหรือกาละมัง ใส่ทรายประมาณหนึ่งในสี่ ใส่น้ำให้ปริ่มทรายแล้วนำยอดมันสำปะหลังที่มีไข่แมลงช้างและเพลี้ยแป้งมาปักในกาละมัง คลุมด้วยตาข่าย เพื่อไม่ให้แมลงช้างปีกใสบินหนี ปล่อยให้ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสได้กินเพลี้ยแป้งเมื่อขยายพันธุ์ได้มาก ให้นำตัวอ่อนไปปล่อยในแปลงที่มีเพลี้ยแป้งระบาด

วิธีการใช้

ปล่อยตัวอ่อนของแมลงช้างปีกใส ในบริเวณที่มีเพลี้ยแป้งระบาด ในอัตรา 5,000 ตัวต่อไร่ ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส 1 ตัว สามารถกินเพลี้ยแป้งได้ 150 ตัว ตลอดอายุ 10 วัน หากใช้ชีววิธีทั้ง 2 แบบร่วมกันในแปลง ให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอเรีย 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน เมื่อพ่นครั้งที่ 2 ไปแล้ว 7 วัน จึงปล่อยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส

บทความที่เกี่ยวข้อง

นายมูล สุขเจริญ อายุ 56 ปี เกษตรกรในอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา อดีตสมาชิก อบต. ทำการเพาะปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 25 ปี ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยของตนเองกว่า 700 ไร่ และพื้นที่ของลูกไร่ประมาณ 40 คน ในพื้นที่ 1,500 ไร่ โดยมีโควต้าอ้อยต่อปีกว่า 18,000 ตัน การดูแลอ้อยในพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งพื้นที่
มันสำปะหลังเป็นพืชหัว ส่วนของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวคือ ส่วนของหัวที่เกิดจากการขยายใหญ่ของราก ดังนั้น การเตรียมดินที่ดีโดยการไถให้ลึก และพรวนดินให้ร่วนซุย นอกจากจะช่วยทำลายวัชพืชในแปลงปลูกเดิมให้หมดสิ้นแล้ว ยังช่วยให้ดินมีการระบายน้ำได้ดี และมีผลทำให้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูกสัมผัสกับดินได้มาก