การสร้างแปลงเพาะกล้ายาง

หลักพิจารณาสภาพพื้นที่ในการสร้างแปลงเพาะกล้ายาง

1.  พื้นที่สำหรับสร้างแปลงกล้า

–  ควรเป็นที่ราบ สามารถระบายน้ำได้ดี อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การคมนาคมสะดวก ดินร่วน  ดินที่ไม่เหมาะสมคือ ดินทรายจัด และดินเหนียว เพราะการระบายน้ำไม่ดี

2.  การเตรียมดิน

–  ไถพลิกดิน 2 ครั้ง หลังจากนั้นไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง เพื่อให้พื้นที่เรียบสม่ำเสมอในขณะเดียวกัน ควรเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมดในการไถพรวนครั้งสุดท้าย ควรหว่านหินฟอสเฟต(Rock Phosphate)100 กิโลกรัม/ไร่

3.  ชนิดและสิ่งปลูก

–  ปลูกด้วยเมล็ดสด ใช้เมล็ดยางที่เก็บมาจากสวน นำไปปลูกในแปลงโดยเรียงเมล็ด การปลูกโดยวิธีนี้ใช้เมล็ดไร่ละประมาณ 250-300 กิโลกรัม เมื่อเมล็ดงอกจะต้องถอนแยก คัดต้นเลวออกให้เหลือเฉพาะที่แข็งแรงไว้สำหรับติดตา

–  ปลูกด้วยเมล็ดงอก ปลูกโดยการนำเมล็ดมาเพาะเสียก่อนแล้วนำเมล็ดที่เริ่มงอกแต่ยังไม่แตกหน่อ หรือออกรากไปปลูกในแปลง

–  ปลูกต้นกล้า 2 ใบ ใช้ต้นกล้าที่แตกใบแล้ว ซึ่งได้จากการเพาะหรือถอนจากสวนยางไปปลูก

การคำนวณเมล็ดที่ใช้เพาะกล้ายาง

–  เมล็ดยางใหม่ 1 ปิ๊บ หนักประมาณ 9-10กิโลกรัม มีประมาณ 1,800-2,000 เมล็ด เมล็ดยาง  1 กิโลกรัม มีประมาณ 200-240 เมล็ด เมล็ดยาง 1 กระสอบป่านหนักประมาณ 55-60 กิโลกรัมปกติเมล็ดยางใหม่จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกประมาณ 80-90% ถ้าเก็บเมล็ดยางไว้นานเกิน    10 วัน เปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลงเหลือประมาณ 40-50%

การเตรียมแปลงเพาะเมล็ดยาง

1.  ขุดพลิกดินให้ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วพรวนดินให้เป็นก้อนเล็กๆ

2.  เก็บเศษรากไม้ที่ปนอยู่ในแปลงออกให้หมด

3.  ยกแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่ใช้เพาะ

4.  ใช้แกลบหรือขี้เลื่อยเก่าๆ กลบบนแปลงเพาะแล้วเกลี่ยให้สม่ำเสมอ (แปลงเพาะอาจจะทำในระหว่างแถวยางใหญ่ก็ได้ ซึ่งไม่ต้องทำร่มกันแดดให้อีกแต่ถ้าทำในที่โล่งแจ้งจะต้องทำเพิงคลุมให้ร่ม โดยใช้ใบมะพร้าวหรือวัสดุอื่นๆ)

การจัดเรียงเมล็ดบนแปลงเพาะ

1.  เกลี่ยเมล็ดยางให้เรียงกันเพียงขั้นเดียว และสม่ำเสมอกันตลอดทั้งแปลง

2.  คว่ำด้านแบนของเมล็ดยางลงและกดเบาๆ

3.  ใช้แกลบหรือขี้เลื่อยกลบทับอีกครั้งเพียงเบาๆ

4.  รดน้ำบนแปลงเพาะเบาๆ เช้า-เย็น ทุกวัน (หากฝนตกไม่จำเป็นต้องรดน้ำอีก)

5.  หลังจากเพาะเมล็ดได้ 5 วันหมั่นตรวจดูเมล็ดในแปลงเพาะทุกวัน

6.  นำเมล็ดที่งอกแล้วไปปลูกในแปลงชำทุกๆวัน และควรทำด้วยความระมัดระวัง

7.  คัดเมล็ดที่ไม่งอกภายใน 14 วันนับจากวันเพาะทิ้ง เพราะเมล็ดที่งอกหลักจากนี้จะเป็นกล้ายางที่ไม่สมบูรณ์ การทิ้งเมล็ดยางที่งอกแล้วไว้ในแปลงนานๆจะทำให้รากยาว การขนย้ายไปปลูกจะทำให้รากหักเสียหายง่าย

การปลูกในแปลงเพาะกล้ายางโดยใช้เมล็ดงอก

–  หลังจากเตรียมดินในแปลงเรียบร้อยแล้ว การปลูกด้วยเมล็ดงอกใช้ระยะปลูก 15×70 เซนติเมตรหรือ 20×70 เซนติเมตรจะปลูกได้ประมาณ 15,000 ต้น และ 12,000 ต้น ตามลำดับ

การบำรุงรักษาแปลงเพาะกล้ายาง

  แปลงเพาะกล้ายางควรได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้กล้ายางที่เจริญเติบโตแข็งแรงและสมบูรณ์เต็มที่ ในการบำรุงรักษาควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  การกำจัดวัชพืชในแปลงเพาะกล้ายางนิยมใช้สารเคมี เพราะจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าใช้แรงงาน

  ครั้งที่ 1-กำจัดวัชพืชก่อนงอก ทำการพ่นสารเคมีก่อนหรือหลังการปลูก โดยใช้ไดยูรอน  อัตรา 250 กรัม (สารออกฤทธิ์)ผสมน้ำ 80 ลิตรต่อไร่ ใช้หัวฉีดสีแดงเบอร์ 0.078

  ครั้งที่ 2– หลังจากปลูกได้ 6-8 สัปดาห์ ถากวัชพืชให้หมดแล้วพ่นด้วยไดยูรอน อัตรา 120 กรัม(สารออกฤทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อไร่ ใช้หัวฉีดสีเหลือง 0.040

  ครั้งที่ 3– เมื่อต้นกล้ายางอายุ 4 เดือน ให้ถากวัชพืชออก แล้วพ่นตามด้วยไดยูรอน ในอัตราเดิม

  ครั้งที่ 4– ระยะติดตาใช้พาราควอท อัตรา 60 กรัม(สารออกฤทธิ์)ต่อไร่ ผสมน้ำ 50-80 ลิตร ใช้หัวฉีดสีเหลืองเบอร์ 0.040

การใส่ปุ๋ย  ต้นกล้ายางที่ตั้งตัวได้แล้ว ควรใส่ปุ๋ยเป็นระยะๆต้นกล้ายางจะแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว

1.  เตรียมดินใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต(Rock Phosphate)100 กิโลกรัม

2.  ปุ๋ยที่ใช้สำหรับกล้ายาง

–  สำหรับดินทราย ใช้ปุ๋ยผสมสูตร 8-13-7 หรือปุ๋ยเม็ดสูตร 10-5-9

–  สำหรับดินร่วน ใช้ปุ๋ยผสมสูตร 8-14-3 หรือปุ๋ยเม็ดสูตร 11-6-4

3.  ใส่ปุ๋ยทุกระยะ 1-2-3 เดือนหลังปลูกและใส่อีกครั้งก่อนติดตา 1 เดือน

4.  ใช้ปุ๋ยในอัตราครั้งละประมาณ 60 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งหมดจะใช้ปุ๋ยประมาณ 240 กิโลกรัมต่อไร่

วิธีใส่ปุ๋ย

1.  กำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง

2.  การใส่ปุ๋ย 2 ครั้งแรกหว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร โดยหว่านให้ห่างจากแถวยางข้างใดข้างหนึ่งประมาณ 3.5 เซนติเมตร

3.  การใส่ปุ๋ยครั้งต่อไปควรหว่านปุ๋ยให้ทั่วแปลง และควรระมัดระวังอย่าให้ปุ๋ยถูกใบอ่อนของกล้ายาง

การคลุมดินควรคลุมดินเมื่อต้นยางอายุได้ 2 เดือนเป็นต้นไป เพื่อควบคุมวัชพืชและควบคุมความชื้นในดิน ให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ายาง วัสดุที่ใช้ควรเป็นเศษวัชพืช หรือวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ควรใช้วัสดุคลุมดินในระหว่างแถวกล้ายางในท้องที่แห้งแล้ง สามารถติดตาต้นกล้าได้ก่อนการไม่คลุมดิน ประมาณ 2 เดือน

การคัดต้นเลวทิ้งควรกระทำเมื่อต้นกล้ายางได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังจากปลูกควรเลือกถอนต้นยางที่แคระแกร็นหรือต้นยางที่คดงอทิ้ง เหลือไว้ในแปลงสำหรับติดตาเฉพาะต้นกล้ายางที่แข็งแรง ต้นกล้ายางอายุ 6-8 เดือน หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับ 10 เซนติเมตร จากพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า  1 เซนติเมตร สามารถติดตาได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชุดดินในที่ลุ่มที่สำคัญ ในภาคเหนือ 1. ชุดดินหางดง (Hang Dongseries : Hd) กลุ่มชุดดินที่ 5 การกำเนิด : เกิดจากตะกอนน้ำพาบริเวณที่ราบตะกอนน้ำพาหรือตะพักลำน้ำ สภาพพื้นที่ : ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชัน 0-2 % การระบายน้ำ : เลว การซึมผ่านได้ของน้ำ : ช้า การไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน : ช้า