การพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง (ข้าว) เหนียวของไทย สำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเพื่อการส่งออก

การพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง (ข้าว) เหนียวของไทย สำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเพื่อการส่งออก

การพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง(ข้าว) เหนียวของไทย สำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเพื่อการส่งออก จากปริมาณความต้องการและคุณสมบัติของแป้ง ประกอบกับศักยภาพของวิทยาศาสตร์เกษตรในปัจจุบัน นักวิชาการจาก International Center for Tropical Agriculture หรือ CIAT จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังแป้ง (ข้าว) เหนียว และได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านขั้นตอนการรวบรวมการผสมพันธุ์  และคัดเลือกจนกระทั่งได้สามารถรวบรวมสายพันธุ์แป้ง (ข้าว) เหนียวที่มีคุณสมบัติพิเศษได้สำเร็จ

ความสำคัญของมันสำปะหลังคุณลักษณะพิเศษ เมื่อมีนาคม 2549 CIAT ได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังโดยได้คัดเลือกลักษณะทางพันธุกรรม (genotype) ที่มีคุณสมบัติของแป้งที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ และการผสมตัวเอง ลักษณะกลายพันธุ์ที่สำคัญที่ประสบความสำเร็จอย่างน้อย 2 ลักษณะคือ ลักษณะแป้ง (ข้าว) เหนียว (waxy starch) ซึ่งไม่มี amylose เป็นองค์ประกอบ และลักษณะที่สองซึ่งตรงข้ามกับลักษณะแรกคือ มีสัดส่วนของ amylose ในแป้ง สูงเป็นสองเท่า 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของพันธุ์ทั่วไป ลักษณะทั้งสองมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแป้งข้าวเหนียวที่มี amylopectin 100% ทั้งนี้ในแง่ของอุตสาหกรรมแป้งพบว่า

ในผลิตภัณฑ์บางชนิดจะนิยมใช้แป้งที่ได้จากแป้งข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn) ซึ่งไม่มีอะมิโลสเป็นองค์ประกอบ และไม่สามารถใช้แป้งมันสำปะหลังทดแทนได้ ถึงแม้จะผ่านการทำการดัดแปลงแล้วก็ตาม โดยแป้งข้าวเหนียวสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะที่ต้องการแป้งเปียกที่มีความคงตัวสูง (High paste stability หรือ Low retrogradation) เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นข้อดีและเป็นการพัฒนาเชิงรุกที่พัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังที่มี คุณสมบัติสนองความต้องการของตลาด ส่วนลักษณะการกลายพันธุ์ที่มี amylose สูงสามารถนำไปสู่การผลิต resistant starches ที่มีคุณสมบัติที่ดีมากสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งคุณลักษณะ จำเพาะนี้เป็นที่ต้องการสำหรับอุตสาหกรรมแป้งดัดแปลงที่มีความเฉพาะในปัจจุบันมีกลุ่มเอกชนที่ให้ความสนใจและถือเป็นผู้ริเริ่มที่จะพัฒนา ผลิตภัณฑ์แป้ง โดยถือเป็นนวัตกรรมใหม่โดยการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีในอนาคตจึงมีโอกาสสำหรับอุสาหกรรมการส่งออกแป้งคุณสมบัติจำเพาะได้

อย่างไรก็ตามลักษณะกลายพันธุ์ทั้งสองที่ค้นพบนั้นปรากฏอยู่ในสายพันธุ์ที่ด้อยคุณสมบัติที่ดีทางพืชไร่ และยังไม่สามารถพัฒนาเป็นพันธุ์การค้าได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์โดยการผสมสายพันธุ์ที่มีลักษณะแป้งจำเพาะนี้เข้ากับพันธุ์การค้า ให้ลักษณะทางพืชไร่ที่ดีและให้ผลผลิตสูง เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาพันธุ์ การค้าที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้มูลค่าของมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมให้ตลาดแป้งมันสำปะหลังมีความโดดเด่นและแข็งแกร่งขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก ซึ่ง CIAT กำลังดำเนินการเสาะหาประเทศที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาความร่วมมือ และประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ CIAT ต้องการที่จะพัฒนาโครงการนี้ร่วมกัน จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสำหรับกลุ่มนักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มผู้ลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ซึ่งจะเรียกเป็น Thai Cassava Consortium (TCC) ที่จะได้ทำงานร่วมกันในการที่จะพัฒนาบทบาทของประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเชิงรุก โดยสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและมุ่งเน้นการส่งออกเป็นสำคัญ

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนามันสำปะหลังมูลค่าสูง

หลังจากการค้นพบนวัตกรรมดังกล่าว CIAT ได้ดำเนินการเบื้องต้นที่จะสร้างพันมิตรกับสถาบันการวิจัยในต่างประเทศ โดยเลือกประเทศตัวแทนในสองภูมิภาคของโลกคือ ลาตินอเมริกา และเอเชียที่มีการพัฒนางานวิจัยมันสำปะหลังและมีความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง

CIAT ได้เริ่มเจรจากับประเทศไทย โดยได้เสนอแผนการดำเนินการเป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับโครงการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังลักษณะแป้งข้าวเหนียวเป็นโครงการแรก ในการนี้จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมดำเนินการในด้านการสนับสนุนทางการเงินในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มัน สำปะหลังข้าวเหนียวส่วนหนึ่ง และในด้านการร่วมมือในการปลูกทดลอง อีกส่วนหนึ่งวัตถุประสงค์ในครั้งนี้ CIAT และประเทศไทยต้องการทำงานร่วมกันที่จะพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังแป้งข้าวเหนียวและมีความสามารถที่จะปรับตัวเพื่อการเจริญภายใต้สภาวะของประเทศไทย แนวคิดคือขั้นที่หนึ่ง CIAT จะดำเนินการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ที่ให้แป้งข้าวเหนียวกับสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพืชไร่ที่ดี หรือพันธุ์การค้าของไทยเพื่อสร้างลูกผสม (hybrids) ที่มีลักษณะ heterozygous ซึ่งมีลักษณะกลายพันธุ์ (recessive mutation) คือมีลักษณะแป้งข้าวเหนียวร่วมอยู่ ขั้นที่สองจะเป็นการสุ่มผสมระหว่างลูกผสมที่ได้จากการทดลอง ขั้นที่หนึ่งเพื่อที่จะสร้างลูกผสมรุ่นที่สองที่จะแสดงลักษณะทางจีโนไทป์ (genotype) ที่มีการกระจายตัวของยีนด้อยจากการกลายพันธุ์ (homozygous recessive mutation) 25% เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการดำเนินการระยะที่สองจะถูกส่งมาที่ประเทศไทย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นผู้ทำการวิจัยเพื่อที่จะคัดเลือกสาย พันธุ์แป้งข้าวเหนียวที่มีคุณสมบัติในการเจริญเติบโตดี ปรับตัวดี และให้ผลผลิตสูงเพื่อพัฒนาเป็นพันธุ์การค้าต่อไป

ผลประโยชน์และข้อได้เปรียบสำหรับประเทศไทย

มันสำปะหลังแป้งข้าวเหนียวจะเป็นพืชอุตสาหกรรมที่จะสร้าง Competitive edge ให้สำหรับอุตสาหกรรมแป้งที่สามารถสนองความต้องการแป้งที่มีคุณสมบัติจำเพาะเหมาะสมกับการใช้งานสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่ม ไม่เหมือนกับสายพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งสูงที่มีประโยชน์ในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นอุตสาหกรรมแป้งข้าวเหนียวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ หรือบริษัทที่เป็นผู้ทรงสิทธิทางปัญญาในสายพันธุ์ใหม่นั้น และหากประเทศไทยเป็นผู้ทรงสิทธิ์ก็จะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่นับเป็นนวัตกรรมสินค้าเกษตรของประเทศไทย และเพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม การสร้างพันธุ์ใหม่ที่ตรงกับความต้องการใช้งาน เป็นนวัตกรรมที่จะสร้างให้ประเทศไทยมี Competitive Edge เหนือคู่แข่งอื่นอย่างเด่นชัด อีกทั้งยังสามารถพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมเชิงการค้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นๆ ในเอเชีย หากประเทศไทยพลาดโอกาสที่จะพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังแป้งข้าวเหนียวกับ CIAT ในครั้งนี้สิทธิผูกขาดอาจตกไปอยู่ในประเทศอื่นหรือบริษัทข้ามชาติอื่น ซึ่งจะเป็นการสูญเสียโอกาสทางการค้าครั้งสำคัญ เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศและเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยให้ก้าวขึ้นอีกระดับหนึ่ง คณะกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย จึงตัดสินใจอนุมัติการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการในชั้นนี้การวิเคราะห์แป้งตัวอย่างจากต้นที่ปลูกโดย CIAT เบื้องต้นแสดงผลว่าแป้งที่มีคุณลักษณะเป็นมันสำปะหลังข้าวเหนียวและในกลางปี 2552 นี้ เมล็ดพันธุ์มันสำปะหลังข้าวเหนียว (Waxy Cassava) รุ่นแรกจะส่งเข้ามาเพาะและขยายพันธุ์ในประเทศโดย โครงการพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังแป้งข้าวเหนียวร่วมกับ CIAT ซึ่งคาดว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถนำพาประเทศไทยเข้าสู่การแข่งขันของ อุตสาหกรรมแป้งในระดับโลกได้อย่างแท้จริงและมั่นคงยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5. ชุดดินโคราช (โคราช series : Kt) กลุ่มชุดดินที่ 35 การกำเนิด : เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ และ/หรือเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะทางไม่ไกลนักของหินตะกอนเนื้อหยาบพวกหินทรายบริเวณพื้นที่เกือบราบหรือที่เกือบราบ (peneplain)
การลดความชื้นโดยใช้แสงอาทิตย์ คือ การใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งความร้อน โดยมีการเคลื่อนที่ของอากาศเป็นตัวช่วยพาความชื้นออกจากเมล็ด ทำให้ความชื้นของเมล็ดลดลง เป็นวิธีการที่ประหยัด ไม่ยุ่งยากแต่มีข้อเสียคือใช้แรงงานและพื้นที่ในการตาก
การไถเตรียมดินมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้ดินมีสภาพเหมาะแก่การปลูกข้าว การไถครั้งแรกพลิกดินขึ้นมาแล้วเว้นช่วงให้เมล็ดวัชพืชงอก ยิ่งงอกมากยิ่งดี แล้วไถครั้งที่ 2 หรือไถแปรฝังกลบต้นวัชพืชลงในดิน จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้มาก ช่วงเวลาระหว่างไถครั้งแรกกับครั้งที่ 2 ขึ้นกับปัจจัยในการงอกของเมล็ด