การผลิตและใช้เชื้อราบิวเวอเรีย เพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืช

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Beauveria  bassiana

วงศ์ (Family) :  Moniliales

อันดับ (Order) :  Deutesomycetes

ชั้น (Class) :  Fungi Imperfecti

ประโยชน์และความหมาย

        เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) เป็นเชื้อรากำจัดแมลง โดยส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราหรือที่เรียกว่า สปอร์ จะสัมผัสและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด ลักษณะที่พบคือ แมลงจะแห้งและแข็งเชื้อราที่เข้าทำลายแมลงจะขยายพันธุ์ขึ้นมาอีกครั้งและขึ้นปกคลุมตัวแมลง พร้อมแพร่กระจายสปอร์ต่อไปอีกในธรรมชาติ

วงจรการเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอเรีย

–  สปอร์เชื้อรา เข้าสู่ตัวแมลงทางผนังลำตัว รูหายใจ บาดแผลบนผนังลำตัว เมื่อความชื้นเหมาะสมกับการงอก สปอร์จะแทงทะลุผิวหนังลำตัว จากนั้นเชื้อราจะงอกสู่ช่องว่างลำตัวแมลง เจริญเติบโตสร้างเส้นใยจำนวนมากเพื่อทำลายแมลง

–  เมื่อแมลงตาย เส้นใยจะแทงผ่านผนังลำตัวแมลงออกสู่ภายนอกตัวแมลง

–  สปอร์จะแพร่กระจายไปตามลม ฝน หรือติดกับตัวแมลง เชื้อราจึงสามารถขยายพันธุ์ต่อได้ และเมื่อสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะทำลายแมลงศัตรูพืชต่อไป

ลักษณะอาการของแมลงที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย

1.  แมลงที่ถูกเชื้อราบิวเวอเรียทำลาย จะแสดงอาการเบื่ออาหาร กินน้อยลง อ่อนเพลีย และไม่เคลื่อนไหว

2.  สีผนังลำตัวจะเปลี่ยนไป ปรากฎจุดดำบริเวณที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย

3.  พบเส้นใยและผงสีขาวของสปอร์ปกคลุมตัวแมลงที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย

ขั้นตอนการผลิตเชื้อรากำจัดแมลงอย่างง่าย

วัสดุ/อุปกรณ์

1.  หัวเชื้อราบิวเวอเรีย

2.  ข้าวสารเจ้า

3.  ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 8 x 12 นิ้ว

4.  เข็มหมุด

5.  ยางรัด

6.  น้ำสะอาด

7.  ลังถึง

วิธีทำ

1.  ตักข้าวสารใส่ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 8 x 12 นิ้ว ในอัตรา 2 ส่วน (หรือประมาณ 250 กรัม)

ต่อน้ำสะอาด 1 ส่วน รัดปากถุงให้แน่น เจาะรู 1 รู เรียงให้เต็มลังถึง ใช้เวลานึ่ง 30 นาที

2.  จะได้ข้าวที่มีลักษณะแข็งและนิ่มปนกัน จึงนำออกมาผึ่งให้คลายความร้อน แล้วขยำคลุกเคล้าให้ข้าวส่วนที่แข็งและนิ่มเข้ากัน ทิ้งให้ระบายความร้อนพออุ่นๆ

3. เปิดถุงเพื่อใส่เชื้อราลงไป เทลงในถุงประมาณ 1-2 ช้อนชา รัดปากถุงและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้เข็มหมุดเจาะรูเพื่อระบายอากาศ ประมาณ 15-20 รู บริเวณใต้ยางรัด

4.  วางไว้ในที่มีแสงสว่าง ใน 3 วันแรก เชื้อราจะเกาะบนข้าว ให้คลุกเคล้าเพื่อกระจายเชื้อราให้ทั่วถุง ใช้เวลาประมาณ 7 วัน เชื้อราจะขาวเต็มถุง และสามารถนำไปใช้ได้

ข้อดีของการใช้เชื้อราบิวเวอเรีย

–  ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค ไม่มีสารพิษตกค้าง

–  ลดต้นทุนการผลิต

–  สามารถแพร่กระจายในธรรมชาติได้ และทำลายแมลงศัตรูพืชได้อย่างต่อเนื่อง

วิธีใช้

ใส่ทางดิน ใช้เชื้อราอัตรา 100 กรัม (1-2 กำมือ) ต่อตารางเมตร

1.  ไม้ผล ใช้กำจัดหนอน และดักแด้แมลงวันผลไม้ โรยเชื้อรารอบโคนต้นบริเวณทรงพุ่ม จากนั้นพรวนดินกลบ หรือใช้วัสดุอื่นคลุม เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง เศษพืช ฯลฯ เพื่อป้องกันแสงแดด ใส่ซ้ำทุกๆ 2 สัปดาห์

2.  พืชผัก หลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว โรยเชื้อราแล้วคลุกเคล้าลงดิน ก่อนหว่านกล้า เพื่อป้องกันแมลงหวี่ และไข่ในดิน

พ่นทางใบ ใช้เชื้อราอัตรา 250 กรัม (1 ถุง) ผสมน้ำ 1 ลิตร คนให้สปอร์เชื้อรา หลุดจากวัสดุเลี้ยงเชื้อละลายลงในน้ำ กรองวัสดุเลี้ยงเชื้อออก ใส่สารจับใบ หรือน้ำยาล้างจาน นำไปฉีดโดยพ่นใต้ใบ พยายามให้ถูกตัวแมลง ควรพ่นเวลาเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดด และพ่นอย่างสม่ำเสมอทุก 2 สัปดาห์

เชื้อราบิวเวอเรียสามารถทำลายแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น แมลงหวี่ขาว หนอนเจาะสมอฝ้าย ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ส้ม เพลี้ยจักจั่น และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะของข้าว เป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และการให้ผลิตผลของต้นข้าว ในท้องที่ ปลูกการทนต่อสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงเสมอๆ ตลอดถึงคุณภาพของเมล็ดข้าว ฉะนั้น พันธุ์ข้าวที่ดีจะต้องมีลักษณะเหล่านี้ดี และเป็นที่ต้องการของชาวนา และตลาดลักษณะที่สำคัญๆ
ถั่วเหลือง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 65-75 วัน (บริโภคสด) และ 85-95 วัน (เมล็ดแห้ง) ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง นิยมใช้ในระบบปลูกพืช การปลูกถั่วเหลืองในระบบปลูกพืชมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ ตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าว ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร เพิ่มปริมาณ