การปลูกพืชหมุนเวียน ช่วยเสริมรายได้ และเพิ่มผลผลิต

สยามคูโบต้า นำองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ไปต่อยอดและพัฒนาเกษตรกร ด้วยการทำแปลงทดสอบการปลูกพืชหมุนเวียน (Revolving crop model) ในพื้นที่นาข้าว ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี  โดยร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พื้นที่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างรายได้เพิ่ม จากการปลูกพืชหลังนา  

สำหรับแปลงทดสอบดังกล่าว สยามคูโบต้า ได้เริ่มทำการปลูกข้าว ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2559  โดยใช้รถดำนา ทำการปักดำต้นกล้าด้วยระยะห่างที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว และใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับค่าวิเคราะห์ดินในการบำรุงรักษาแปลงข้าว  ในช่วงเก็บเกี่ยวได้ใช้รถเกี่ยวนวดข้าวเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยพบว่า ได้ผลผลิตปริมาณ 733 กิโลกรัม/ไร่ และได้กำไร 5,000 บาท/ไร่ สำหรับวิธีดั้งเดิมแบบหว่านที่เกษตรกรทำอยู่ ได้กำไร 3,396 บาท ซึ่งทั้งสองวิธีได้กำไรแตกต่างกัน 1,605 บาท หรือคิดเป็น 47 %

ภายหลังจากที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ยังได้ทำการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่นาข้าว ระหว่างเดือน ธันวาคม 2559 – เมษายน 2560 โดยใช้แทรกเตอร์ขนาด 40 หรือ 50 แรงม้า (รุ่น L ซีรีส์) ติดผานพรวนและโรตารี่ ทำการไถกลบตอซังข้าวและพรวนดินให้ละเอียดสม่ำเสมอกัน จากนั้นใช้เครื่องหยอดเมล็ดถั่วเหลือง ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ให้มีระยะห่างระหว่างแถว 30 เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกในการพรวนดิน กำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย ในส่วนของขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้ใช้รถเกี่ยวนวดข้าวติดตั้งอุปกรณ์เก็บเกี่ยวถั่วเหลือง โดยพบว่า ได้ผลผลิต 245 กิโลกรัม/ไร่ และได้กำไรจากการขายเมล็ดพันธุ์ 1,640 บาท/ไร่ (ราคาขาย 20 บาท/กก.)*  สำหรับการปลูกถั่วเหลืองด้วยวิธีดั้งเดิมที่เกษตรกรทำอยู่ ได้ผลผลิต184 กิโลกรัม/ไร่ และได้กำไรจากการขายเมล็ดถั่วเหลือง 240 บาท (ราคาขาย 16 บาท/กก.)**  และหลังจากที่เก็บเกี่ยวถั่วเหลืองเสร็จแล้ว จะทำการไถกลบต้นถั่วเหลืองลงสู่ดิน เพื่อใช้เป็นปุ๋ย ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยในฤดูกาลทำนาในครั้งถัดไป

ตลอดระยะเวลาของการทำแปลงทดสอบ สยามคูโบต้า ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาเมล็ดพันธุ์  การปลูก  การดูแลรักษา  ตลอดจนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับการปลูกถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตดี และมีประสิทธิภาพ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่หลังการทำนาได้มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเกิดความคุ้มค่าในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ได้อีกด้วย เพราะสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายและเกิดประโยชน์สูงสุดในทุกฤดูกาลเพาะปลูก  

ความสำเร็จจากการทำแปลงทดสอบ ณ วิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่าในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรและชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาวิธีการทำเกษตร เพื่อให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

* ผลผลิตด้วยวิธี KAS ขายได้ 20 บาท/กก. เนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีคุณภาพและมีการบำรุงรักษาอย่างดี อีกทั้งยังได้รับการทดสอบจากหน่วยงานราชการแล้วว่ามีคุณภาพอีกด้วย

** ผลผลิตด้วยวิธีดั้งเดิม ขายได้ 16 บาท/กก. เนื่องจากเป็นเมล็ดถั่วเหลืองเกรดต่ำ

หมายเหตุ: ตัวเลขทั้งหมดได้จากผลการทดสอบ ณ แปลงทดสอบวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี  ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันทั้งสองวิธี โดยผลการทดสอบอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ  การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

“น้ำดี ดินดี คนมีความสามัคคี ข้าวดีมีคุณภาพ ต้องข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนหนองปิ้งไก่” พี่น้องเกษตรกรทุกท่าน เคยประสบปัญหาเหล่านี้บ้างไหม ไม่รู้จะปลูกอะไรดี ปลูกอย่างไร ใช้วิธีไหนถึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณมาก เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะไปขายที่ไหน ทำไมราคาสินค้าทางการ
ชุดดินในที่ลุ่มที่สำคัญ ในภาคกลาง 2. ชุดดินนครปฐม (Nakhon Pathom series : Np) กลุ่มชุดดินที่ 7 การกำเนิด : เกิดจากตะกอนน้ำพามาทับถมอยู่บนที่ราบตะกอนน้ำพาหรือตะพักลำน้ำ สภาพพื้นที่ : ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดชัน 0-2 % การระบายน้ำ : ค่อนข้างเลว การซึมผ่านได้ของน้ำ : ช้า การไหลบ่าของน้ำ
ในการทำนาข้าวแบบดั้งเดิมนั้นหนึ่งฤดูการเพาะปลูกจะใช้น้ำประมาณ 700 -1,500 มิลลิเมตร ดังนั้นเทคนิคการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง(แกล้งข้าว)สามารถประหยัดน้ำได้ประมาณ 30% -50% ลดปัญหานาหล่ม ป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเนื่องจากความชื้นที่โคนกอข้าวต่ำ และกระตุ้นการออกรากของข้าว ซึ่งวิธีการนี้เหมาะสำหรับ