การปรับปรุงบำรุงดิน

วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน

การปรับปรุงบำรุงดินที่มีความสามารถในการให้ผลผลิตพืชต่ำ จะต้องมีการปฏิบัติพร้อม ๆ กันไปกับการอนุรักษ์ดินหรือการควบคุมการสูญเสียเนื้อดินออกไปจากแปลงปลูก หลักการในประเด็นนี้นับว่าเป็นมาตรการที่สำคัญมาก ในทางปฏิบัติ วิธีการปรับปรุงบำรุงดินมันสำปะหลังให้ดีขึ้นพร้อม ๆ กันไปกับการป้องกันเสื่อมโทรมของดิน อาจปฏิบัติได้โดยวิธีการหลัก ๆ ดังนี้

(1) การใช้ปุ๋ยเคมี

ใช้ปุ๋ยเคมีที่มีสมบัติและสูตรปุ๋ยเหมาะสม เพื่อบำรุงดินโดยการเพิ่มธาตุอาหารพืชที่จำเป็นให้กับดินและพืช โดยเฉพาะธาตุ N P และ K โดยทั้งนี้ ให้ทำการวิเคราะห์ดินก่อนว่ามีความสมบูรณ์เพียงไร ขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง ถ้าดินยังขาดธาตุอาหารพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ธาตุอาหารรองหรือธาตุอาหารเสริม ต้องพิจารณาให้ธาตุอาหารรอง เช่น ธาตุ Mg S หรือธาตุอาหารเสริมชนิดต่าง ๆ เช่น Zn Fe เป็นการเพิ่มเติมด้วย

(2) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และหรือปุ๋ยชีวภาพ

เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ทางด้านธาตุอาหารพืชในดินเป็นหลัก การใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยทั่ว ๆ ไปมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิด เช่น ปุ๋ยมูลไก่ ปุ๋ยมูลค้างคาว ที่มีปริมาณธาตุอาหารพืชค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยมูลโค ตะกอนขี้หมู ถ้ามีการใช้ในปริมาณมาก เช่น การใช้มากกว่า 500 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นไป จะมีผลดีทั้งในแง่ของการบำรุงดินเพื่อเพิ่มพูนธาตุอาหารพืชในดินและการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินไปด้วยพร้อม ๆ กัน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ทำให้เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์บางชนิดลงดินหรือส่งเสริมกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินมากกว่าการใช้เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชโดยตรง

(3) การใช้สารปรับปรุงดิน

ดินบางประเภทอาจไม่มีปัญหาสำคัญทางด้านปริมาณอินทรียวัตถุหรือชนิด และปริมาณธาตุอาหารพืชในดินมากนัก แต่อาจมีปัญหาสำคัญทางด้านสมบัติทางกายภาพ เช่น เป็นดินที่มีเนื้อดินที่ไม่จับตัวกันเป็นก้อน ไม่อุ้มน้ำ เกิดการชะล้างพังทะลายง่าย หรือผิวหน้าดินอาจเกิดการแข็งตัวแน่นทึบเวลาเมื่อดินเปียกและแห้งตัวลง ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จำเป็นต้องมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดินในรูปสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสารอินทรีย์ธรรมชาติ สารอินทรีย์ที่ได้จากผลพลอยได้ทางการเกษตร เช่น เศษเปลือกมันค้างปี กากอ้อย หรืออาจใช้ผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ฟอสโฟยิปซั่มจากโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อแก้ปัญหาการเกิดแผ่นแข็งบนผิวดิน ฯลฯ สารปรับปรุงดินในรูปปูนไลม์ ปูนโดโลไมท์ หินฝุ่นหรือหินปูนบด แร่ที่มีการปรุงแต่งชนิดต่าง ๆ หรือในรูปสารอินทรีย์สังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น สารดูดน้ำโพลิเมอร์ ฯลฯ ซึ่งสำหรับมันสำปะหลังที่เป็นพืชไร่ที่มีราคาผลผลิตต่อหน่วยค่อนข้างต่ำและไม่แน่นอน การใช้สารปรับปรุงดินในรูปแร่ปรุงแต่งสารสังเคราะห์หรือสารอื่น ๆ ที่มีราคาต่อหน่วยค่อนข้างแพง ในทางปฏิบัติไม่แนะนำให้ใช้เพราะจะทำให้มีต้นทุนการปลูกมันสำปะหลังสูงเกินไปและผลที่ได้อาจทำให้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป

(4) การใช้ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ร่วมกับสารปรับปรุงดินอย่างผสมผสาน

เนื่องจากดินที่ใช้ในการปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่ มักมีปัญหาทั้งทางด้านความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชและสมบัติทางกายภาพบางประการ เช่น เป็นดินที่มีสมบัติแข็งและแน่นทึบไม่ร่วนซุย ทำให้ไม่เกิดการแทรกซึมของน้ำที่ดีพอ หรือเป็นดินที่มีเนื้อทรายจัด ไม่อุ้มน้ำ ไม่ดูดยึดปุ๋ย และเกิดการชะล้างพังทะลายได้ง่าย ในการใช้ปุ๋ยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไปพร้อม ๆ กันนั้น ควรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกันอย่างผสมผสานมากกว่าจะใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะการใช้ปุ๋ยทั้งสองชนิดร่วมกันกับสารปรับปรุงดินอย่างเหมาะสม จะช่วยปรับปรุงและบำรุงดินให้มีสมบัติทั้งทางด้านกายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินดีขึ้นพร้อม ๆ กัน และดีขึ้นกว่าเดิมอย่างยั่งยืนยาวนานมากกว่าสารปรับปรุงดิน (Soil Conditioners)

สารปรับปรุงดินเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ สารสังเคราะห์ หรือสารเคมี
ทั้งในรูปสารประกอบอินทรีย์หรือสารประกอบอนินทรีย์ที่มีการปรุงแต่ง หรือไม่มีการปรุงแต่ง หรืออาจอยู่ในรูปของผลพลอยได้จากการประกอบการต่าง ๆ โดยทั่วไปในการใช้สารปรับปรุงดินนั้นมักมีวัตถุประสงค์ และตัวสารปรับปรุงดินเองก็มีสมบัติเหมาะสมต่อการแก้ปัญหาสมบัติทางกายภาพของดินมากกว่าการปรับปรุงสมบัติทางเคมีและความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชในดิน ดังนั้นสารปรับปรุงดินส่วนมากจึงไม่ใช่สารบำรุงดินที่จะมีผลต่อการเพิ่มพูนธาตุอาหารพืชโดยตรง แต่บางชนิดก็อาจมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน และบำรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินไปพร้อมกัน เช่น สารปรับปรุงดินในรูปของสารอินทรีย์ที่เป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรและอยู่ในรูปที่สลายตัวง่ายและเร็ว มีธาตุอาหารพืชสูง เช่น กากเมล็ดนุ่น กากเมล็ดฝ้าย กากละหุ่ง กระดูกป่น ฯลฯ หรือเป็นสารอินทรีย์ฯ ที่มีธาตุอาหารพืชต่ำแต่มีการใช้ในปริมาณมาก เช่น เปลือกมันค้างปี กากอ้อย กากส่าเหล้า เป็นต้น

การจำแนกประเภทของสารปรับปรุงดินขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่กำหนด     ในการจำแนกเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าจะจำแนกประเภทของสารปรับปรุงดินตามลักษณะองค์ประกอบของตัวสาร สารปรับปรุงดินอาจจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

(1) สารอนินทรีย์หรือสารเคมี ได้แก่ สารปรับปรุงดินในรูปหินหรือแร่ตามธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่งหรือมีการปรุงแต่งโดยใช้ความร้อน เช่น วัสดุปูนไลม์ ยิบซั่ม แร่พูไมซ์ แร่ซีโอไลท์ รวมทั้งสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น เช่น สารประกอบแคลเซียม โพลีซัลไฟท์ หรือสารที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ฟอสโฟยิบซั่มฯ เป็นต้น

(2) สารอินทรีย์ ได้แก่ สารอินทรีย์ธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่งหรือมีการปรุงแต่ง เช่น เศษซากพืช ปุ๋ยหมัก ฯลฯ ผลพลอยได้ทางการเกษตรโดยตรงและจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกภาคเกษตร เช่น ขุยมะพร้าว แกลบดิบ เปลือกมันค้างปี กากอ้อย กากน้ำตาล สารฮิวมัสและจีเอ็มแอล (GML) จากโรงงานผงชูรส กากกระดาษ ฯลฯ รวมทั้งสารอินทรีย์สังเคราะห์ที่สังเคราะห์ขึ้นโดยขบวนการทางเคมี เช่น สารโพลิเมอร์ที่ละลายน้ำได้ เช่น สารโพลีอครีลามีด (หรือ PAM) สารดูดน้ำโพลิเมอร์ สารประกอบแอมโมเนียมลอเร็ชซัลเฟต (หรือสารอกริ-เอส-ซี) เป็นต้น

(3) สารอนินทรีย์ผสมสารอินทรีย์ ได้แก่ สารปรับปรุงดินที่ผลิตขึ้นโดยการผสมวัสดุปรับปรุงดินในรูปสารอนินทรีย์ลงในสารอินทรีย์ เพื่อเพิ่มคุณค่าของตัวสารหรือเพื่อการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน เช่น การผลิตปุ๋ยหมักโดยการผสมปุ๋ยเคมี และแร่พูไมซ์เข้าด้วยกัน หรือการผลิตสารปรับปรุงและบำรุงดินเพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะเอนกประสงค์ เช่น สารปรับปรุงดินที่มีชื่อว่า “เทอราค๊อตเต็ม” (TerraCottem) ที่มีองค์ประกอบสำคัญประกอบด้วยสารดูดน้ำโพลิเมอร์ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชฯ เป็นต้น

การจำแนกประเภทของสารปรับปรุงดินตามแหล่งที่มาหรือแหล่งกำเนิด แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 

  1. สารปรับปรุงดินที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ เช่น เศษพืชต่าง ๆ แร่พูไมซ์ 
  2. สารปรับปรุงดินในรูปผลพลอยได้ต่าง ๆ เช่น ขุยมะพร้าว เปลือกมันค้างปี ฟอสโฟยิบซั่ม ฯลฯ และ 
  3. สารปรับปรุงดินที่ได้จากการสกัดหรือจากการสังเคราะห์ทางเคมี เช่น สารเคมีในรูปสารประกอบแคลเซี่ยมโพลีซัลไฟด์ สารดูดน้ำโพลิเมอร์ สารโพลีอครีลามีด (หรือ PAM) ฯลฯ

พิจารณาจำแนกประเภทตามลักษณะการใช้ประโยชน์ 

เพื่อการปรับปรุงดิน เราอาจจำแนกประเภทสารปรับปรุงดินออกได้ดังนี้คือ

1) สารปรับปรุงดินทางด้านกายภาพเป็นหลัก ได้แก่ สารปรับปรุงดินที่ในรูปสารอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น เปลือกมันค้างปี กากอ้อย ขุยมะพร้าว แกลบดิน ฟอสโฟยิบซั่ม PAM สารดูดน้ำโพลิเมอร์ ฯลฯ

2) สารปรับปรุงสมบัติทางเคมีของดินเป็นหลัก ส่วนใหญ่ได้แก่สารปรับปรุงดินในรูปสารประกอบอนินทรีย์หรือสารเคมี เช่น สารปูนไลม์ (ปูนสุก ปูนขาว หินปูน ปูนมาร์ล) กำมะถันผงและรวมทั้งแร่ต่าง ๆ เช่น แร่พูไมซ์ ซีโอไลท์ เพื่อเพิ่มสมบัติความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (Cation Exchange Capacity) และความจุบัฟเฟอร์ (Buffering Capacity) ของดินเนื้อหยาบ เป็นต้น

สมบัติและคุณค่าต่อการปรับปรุงดินของสารปรับปรุงดินบางชนิด

สำหรับสมบัติและคุณค่าต่อการปรับปรุงดินของสารปรับปรุงดินในที่นี้ จะขอกล่าวถึงแต่พอสังเขปเฉพาะสารปรับปรุงดินบางชนิดที่มีการโฆษณาสรรพคุณและมีจำหน่ายค่อนข้างแพร่หลายในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้โดยยึดถือหลักการหรือความเป็นไปได้ในเชิงวิชาการเป็นสำคัญ

(1) ซีโอไลท์ (Zeolite)

สารซีโอไลท์เป็นกลุ่มแร่ธรรมชาติในรูปสารประกอบอะลูมิโนซิลิเกต ที่มีโครงสร้างเป็นรูพรุน หรือมีโพรงหรือช่องว่างขนาด 2 – 10 แองสตรอม (0.002 – 0.01 มิลลิเมตร) ภายในเนื้อแร่จำนวนมาก ทำให้มีคุณสมบัติในการดูดซับไออ้อนของธาตุอาหารประจุบวกได้ดี เช่น ธาตุ N ในรูป NH4 ธาตุ Ca Mg K Zn รวมทั้งธาตุโลหะหนัก เช่น Pb Cd นอกจากนั้นยังสามารถดูดซับโมเลกุลของน้ำ และก๊าซต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีด้วย เช่น ก๊าซ NH3 H2S NO2 สำหรับคุณค่าทางการเกษตรทางด้านการปรับปรุงดินนั้น การใช้สารซีโอไลท์จะช่วยปรับปรุงสมบัติของดินที่ไม่เหมาะสมบางประการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความสามารถของดินเนื้อหยาบให้มีคุณสมบัติในการดูดยึดหรือกักเก็บปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปได้ดีขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยโดยการชะล้างด้วยน้ำน้อยลง และมีผลทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีเกิดประสิทธิภาพต่อพืชมากขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้ดินเนื้อหยาบที่แน่นแข็งสามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้นพร้อม ๆ กับการมีส่วนช่วยในการลดความแน่นแข็งของดินและการเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำและระบายอากาศของดินดังกล่าวไปด้วยในตัว อย่างไรก็ตามเนื่องจากสารซีโอไลท์เป็นสารปรับปรุงดินที่มีราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปุ๋ยเคมี การใช้เพื่อปรับปรุงดินมันสำปะหลังอาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอนินทรีย์หรือสารปรับปรุงดินประเภทอื่น ๆ ที่มีราคาถูกกว่า

(2) พูไมซ์ (Pumice)

สามารถในการอุ้มน้ำของดิน การระบายอากาศและน้ำของดิน รวมทั้งการเพิ่มความจุในการแลกเปลี่ยนแประจุบวกของดินด้วย เนื่องจากราคาต่อหน่วยของตัวสารพูไมซ์เองก็สูงเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของปุ๋ยเคมีและสารปรับปรุงดินชนิดอื่น ๆ การใช้ดังกล่าวเพื่อปรับปรุงสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินมันสำปะหลังในทางปฏิบัติ จึงเป็นการปฏิบัติที่อาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในการปลูกมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตที่มีราคาค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในท้องตลาดของสารพูไมซ์

(3) โดโลไมท์ (Dolomite)

โดโลไมท์เป็นชื่อหินตะกอนหรือหินแปรในรูปหินอ่อนที่มีสูตรทางเคมี Ca Mg(CO3)2 ในประเทศไทยพบมากในจังหวัดชลบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี และจังหวัดสงขลา ในทางการค้ามีการผลิตหินปูนโดโลไมท์บดเพื่อจำหน่ายในชื่อการค้าต่าง ๆ มาก วัตถุประสงค์หรือคุณค่าในทางการเกษตรก็คือการใช้เพื่อ 1) ทำให้ดินทรายเนื้อหยาบที่มีความโปร่งมากเกินไปและอุ้มน้ำได้น้อยมีการจับตัวกันเป็นก้อน และมีสมบัติอุ้มน้ำได้ดีกว่าเดิม 2) ทำให้ดินเนื้อละเอียดที่มีโครงสร้างแน่นทึบ มีการระบายน้ำและอากาศเลวเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนโดยอิทธิพลของไออ้อนประจุบวกในรูป Ca2+ และ Mg2+ ที่ได้จากโดโลไมท์มีผลทำให้ดินมีความแน่นทึบน้อยลง และมีการระบายอากาศและน้ำดีขึ้น 3) เพื่อลดความเป็นกรดของดินที่มีฤทธิ์เป็นกรดมากเกินไป (pH ต่ำกว่า 5.0) ให้มีปฏิกิริยาดินเหมาะสมต่อการปลูกพืชมากขึ้น และ 4) เพื่อเพิ่มธาตุ Mg ให้แก่ดินในกรณีที่ดินขาดธาตุ Mg โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินเนื้อหยาบที่มีองค์ประกอบของเนื้อดินประเภทดินทรายในปริมาณมาก

(4) ฟอสโฟยิปซั่ม

ฟอสโฟยิปซั่ม คือ สารเคมีที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรดฟอสฟอรัสโดยขบวนการ Wet Process โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี องค์ประกอบทางเคมีโดยทั่ว ๆ ไปประกอบด้วยยิปซั่ม (CaSO4) ประมาณร้อยละ 97 ที่เหลือนอกจากนั้นประกอบด้วยสารประกอบแมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4) ประมาณร้อยละ 1 ฟอสฟอรัสในรูป P2O5 ร้อยละ 0.6 และฟลูออราปาไทท์ (Fluorapatite) และเม็ดทราย (SiO2) รวมกันประมาณร้อยละ 1.4 คุณค่าในทางการเกษตรทางการปรับปรุงดินที่ให้ผลดีเด่นชัด ก็คือการแก้ไขปัญหาการเกิดแผ่นแข็งบนผิวหน้าดิน (Surface Crust) เมื่อดินเปียกและแห้งสลับกัน ทำให้เม็ดดินที่เล็กละเอียดในบริเวณผิวดินเกิดการจับตัวกันเป็นก้อน ไม่จับตัวเคลือบติดกันเป็นแผ่นแข็ง น้ำสามารถซึมลงในดินล่างได้ลึกและเร็วขึ้น ทำให้ลดการสูญเสียน้ำโดยการไหลบ่า (Runoff) ของน้ำ และลดการเกิดการชะล้างพังทะลายของดินไปพร้อมๆ กันด้วย จัดได้ว่ามีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมาก โดยเฉพาะสำหรับดินมันสำปะหลังที่มีความอ่อนไหวต่อการชะล้างพังทะลายของดินง่าย และเกิดในปริมาณมากอย่างกว้างขวาง จากผลการวิจัยพบว่าการใช้สารฟอสโฟยิบซั่มหว่านลงบนดินทรายในอัตราประมาณ 1,600 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถลดการไหลบ่าของน้ำลงได้ประมาณ 6 เท่าตัว และลดการสูญเสียเนื้อดินโดยการชะล้างพังทะลายของดินลงได้ประมาณ 20 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม แม้ผลการทดลองโดยทั่ว ๆ ไปจะพบว่า สารฟอสโฟยิบซั่มให้ผลดีต่อการลดการสูญเสียดินและน้ำชัดเจนมากแต่เนื่องจากการใช้ให้เกิดผลดีในลักษณะดังกล่าวต้องใช้สารชนิดนี้ในปริมาณมากถึงประมาณ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้การใช้สารประเภทนี้ในการปรับปรุงดินเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ยังมีความเป็นไปได้น้อยในทางปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาและการใช้ค่อนข้างสูง และผลของการใช้สารก็ไม่ได้มีผลโดยตรงในระยะสั้นแบบฤดูปลูกต่อฤดูปลูกต่อการเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังเหมือนการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้น ในการพิจารณาใช้สารฟอสโฟยิปซั่มเพื่อการปรับปรุงดินหรือเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงควรพิจารณาใช้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นในเชิงวิชาการและเพื่อหวังผลดีอย่างยั่งยืนในระยะยาวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีหินปูนบด หินปูนฝุ่นหรือหินฝุ่นที่ได้จากภูเขาไฟ ซึ่งถ้าเป็นดินทรายให้ใส่ 100 ก.ก./ไร่ ทุกปี ถ้าเป็นดินร่วนก็อาจใส่ 200 ก.ก./ไร่ ปีเว้นปี ในกรณีที่เป็นดินเหนียวให้ใส่ 300-500 ก.ก./ไร่ โดยเว้น 2-3 ปีแล้วจึงใส่อีกครั้ง อนึ่งถ้าค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำ ก็จะต้องใช้ในจำนวนมากขึ้น การใส่สารปรับปรุงดินจะให้ผลมากยิ่งขึ้น ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี - ความงอกและความแข็งแรงสูง เจริญเติบโตเร็วและสม่ำเสมอ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ได้ต้นข้าวและผลผลิตตามพันธุ์ ให้ผลผลิตสูงกว่าเมล็ดทั่วไป ประหยัดต้นต่อไร่ ป้องกันการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช
เกษตรอินทรีย์ คือเกษตรคุณธรรม เป็นคำกล่าวของคุณสมัย คูณสุข อาศัยที่บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 6 บ้านดงบัง ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เกษตรผู้ปลูกสมุนไพรอินทรีย์แห่งบ้านดงบัง เพื่อส่งผลผลิตขายให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรเป็นหลัก จุดเริ่มต้นก่อนการปลูกพืชสมุนไพรชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มทำนามาก่อน จาก
ประวัติ ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 84-1 ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ในระหว่างปี พ.ศ.2544-2551 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เพื่อให้ได้ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมที่มีผลผลิตสูง และมีความเหนียวนุ่ม เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ F4305 กับสายพันธุ์แท้ M80 ผ่านการประเมินผลผลิตพันธุ์ลูกผสมตามขั้นตอนของกรม