ประเทศไทยพบโรคใบด่างมันสําปะหลังครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 โดยมีพื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเสียหายอย่างมากต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมมันสําปะหลังของประเทศ เนื่องจากโรคใบด่างมันสําปะหลังส่งผลให้ผลผลิตมันสําปะหลังลดลง 20 – 80 เปอร์เซ็นต์
โดยการควบคุมโรคใบด่างมันสําปะหลังสามารถทําได้ ดังนี้
- กําจัดแมลงหวีขาวยาสูบซึ่งเป็นพาหะนําโรค
- เมื่อพบต้นที่เป็นโรคต้องทําลายทิ้งทันที
- ไม่ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค
ดังนั้นในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเกษตรกรจึงจําเป็นต้องทําลายต้นที่เป็นโรคและเร่งหาต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคมาปลูกทดแทน ส่งผลให้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคไม่เพียงพอต่อความต้องการ การเลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาดปลอดโรค จึงเป็นวิธีการควบคุมโรคใบด่างมันสําปะหลังที่กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนและส่งเสริม โดยเฉพาะการให้เกษตรกรขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด เพื่อให้มีท่อนพันธุ์ปลอดโรคที่เพียงพอและลดความเสียหายดังกล่าว
การขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X20
หมายถึง การขยายพันธุ์มันสําปะหลังที่ได้ต้นพันธุ์เพิ่มขึ้น 20 เท่า เป็นวิธีการที่สามารถทําได้ง่าย โดยในระยะเวลา 1 เดือน จะได้ต้นพันธุ์มันสําปะหลังถึง 20 ต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากวิธีขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเดิมซึ่งมันสําปะหลัง 1 ลํา จะขยายพันธุ์ได้เพียง 4 – 5 ต้นเท่านั้น
วิธีการขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X20 มีขั้นตอน ดังนี้
1. เลือกใช้ต้นพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือได้รับการรับรองพันธุ์เป็นท่อนพันธุ์มันสําปะหลังสะอาด
2. ใช้เลื่อยหรือมีดคมตัดให้เป็นท่อนยาวท่อนละ 6-8 เซนติเมตร (โดยให้มีตาประมาณ 2 – 3 ตา)
3. นําสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง ไทอะมีโทรแซม 4 กรัม ที่ละลายในน้ำสะอาด 20 ลิตร เติมสารป้องกัน เชื้อราแมนโคเซบ 60 กรัม และเติมฮอร์โมนเร่งราก (B1) 40 มิลลิลิตร แล้วนําท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงไปแช่อย่างน้อย 10 นาที
4. จากนั้นนําวางบนตะกร้า ผึ่งลมให้แห้งก่อนนําไปปักชํา
5. นําท่อนพันธุ์ลงปักชําในถุงหรือถาดหลุม ลึก 1 ใน 3 ของท่อนพันธุ์ ให้ตา 1 ตาอยู่ใต้ดินและ 1 ตาอยู่ เหนือดิน โดยวัสดุในการปักชําประกอบด้วย ขี้เถ้าแกลบ ทรายหยาบ ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมกันในอัตราส่วน 10: 2: 1 นําใส่ถุงดํา ขนาด 3 x 7 นิ้ว หรือใส่ถาดหลุมขนาด 50 หลุม (ถาดหลุมมีข้อดี คือ ใช้ได้หลายครั้ง ขนย้ายสะดวก)
6. นําถุงหรือถาดที่ปักชําแล้วไปวางในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันแมลงและรดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง
7. ท่อนพันธุ์จะเริ่มแตกตาและออกรากภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อครบ 3 สัปดาห์ จะมีรากที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะปลูก ให้นําถุงหรือถาดเพาะชําออกวางกลางแดดให้ต้นปรับสภาพอีก 7 วัน ก่อนนําปลูกในแปลงปลูกต่อไป
8. เมื่อปลูกแล้วควรให้น้ำทันที ปลูกในฤดูฝนให้น้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และหากปลูกในพื้นที่ไม่มีฝน ให้น้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 เดือน
การขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X80
คือ การนํายอดที่แตกใหม่จากลําต้นที่ได้จากวิธีการขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X20 มาขยายพันธุ์ ซึ่งวิธีการนี้จะเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์จากการขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X20 ได้ถึง 4 เท่า (อย่างน้อย 80 เท่าจากต้นพันธุ์เริ่มต้น)
วิธีการขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X80 มีขั้นตอน ดังนี้
1. เลือกท่อนพันธุ์จากการขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X20 ความยาวท่อน 6 – 8 เซนติเมตร ในการผลิตต้นแม่พันธุ์
2. นําท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูกลงในกระถาง หลังจากท่อนพันธุ์แตกยอดที่อายุ 30 – 45 วัน ให้ตัดยอด โดยมีความยาวยอดประมาณ 10 เซนติเมตร จะได้ยอดอย่างน้อย 1 ยอดต่อท่อนพันธุ์ โดยเก็บท่อนพันธุ์เดิมไว้ในกระถางดูแลตามปกติ
3. นําต้นแม่พันธุ์ที่ได้จากการตัดยอดลงไปปักชำ ในวัสดุปักชําแล้วไปวางในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันแมลง
4. รดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยรากจะเริ่มออกภายใน 2 สัปดาห์ และพร้อมพัฒนาเป็นต้นกล้าใหม่เมื่อครบ 4 สัปดาห์ จากนั้นนําถาดเพาะชําออกวางกลางแดดเพื่อปรับสภาพอีก 7 วัน ก่อนนําไปปลูกในแปลงปลูก
5. เมื่อปลูกแล้วควรให้น้ำทันที ปลูกในฤดูฝนให้น้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และหากปลูกในพื้นที่ไม่มีฝนให้น้ำทุกวัน อย่างน้อย 1 เดือน
6. ท่อนพันธุ์ที่ผ่านการตัดยอดในขั้นตอนที่ 2 จะเจริญเติบโตได้ยอดใหม่ ให้ดําเนินการตามขั้นตอนที่ 3 – 5 ซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งท่อนพันธุ์หมดอายุการใช้งาน (ไม่แตกยอดใหม่)
หมายเหตุ : โรงเรือนเพาะชําที่ดีควรปรับความชื้นในอากาศ ให้อยู่ที่ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ และควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ที่ 30 – 35 องศาเซลเซียส เพื่อให้ท่อนพันธุ์ที่ปักชํามีอัตราการงอกเกิน 90 เปอร์เซ็นต์
หากเกษตรกรหันมาขยายพันธุ์มันสําปะหลังแบบเร่งรัด X20 และ X80 ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทําได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ นอกจากจะได้ท่อนพันธุ์ปลอดโรคที่เพียงพอแล้วยังปลอดจากโรคใบด่างมันสําปะหลังอีกด้วย