สยามคูโบต้า ร่วมกับเกษตรกรดีเด่นจ.สระแก้ว ส่งเสริมการบริหารจัดการไร่อ้อยด้วยเครื่องจักรลการเกษตร

การบริหารจัดไร่อ้อยด้วยเครื่องจักรลการเกษตร เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่สยามคูโบต้าได้ส่งเสริมเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดต้นทุน ทั้งในด้านการประหยัดท่อนพันธุ์และการจ้างแรงงานคน รวมไปถึงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยล่าสุด สยามคูโบต้า ได้ส่งเสริมการบริหารจัดการไร่อ้อยด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร ร่วมกับ คุณประดุง อาตวงค์ เกษตรกรดีเด่น ในสาขา Modern Farm ในพื้นที่ จ.สระแก้ว 

คุณประดุง อาตวงค์ กล่าวว่า ช่วงเริ่มแรกของการปลูกอ้อยในพื้นที่จำนวน 300 ไร่ ตนเองใช้แรงงานคนในการเตรียมดิน และการปลูก ซึ่งพบว่ามีปัญหาเรื่องของความแม่นยำในการปลูกที่ไม่สม่ำเสมอกัน อีกทั้งยังมีความล่าช้า ปลูกไม่ทันฤดูกาล และมีต้นทุนสูงในการจ้างแรงงานคน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาช่วยทุ่นแรง เพื่อให้ทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น

“เมื่อปลายปี 2560 สยามคูโบต้าได้เข้ามาทำแปลงส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ของตนเอง จำนวน 6 ไร่ โดยนำขั้นตอนการบริหารการจัดการไร่อ้อยและเทคนิคการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มาใช้เป็นแนวทางในการเพาะปลูก โดยเฉพาะการระเบิดดินดานที่เจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำตลอด เพราะเมื่อก่อนสภาพดินที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีจุลินทรีย์อยู่ในดินจำนวนมาก จึงปลูกอ้อยได้ผลผลิตค่อนข้างดี แต่พอผมปลูกอ้อยในพื้นที่เดิมๆ อยู่หลายปี ก็พบว่าดินเริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม แร่ธาตุอาหารในดินค่อยๆ หายไป จึงเกิดแนวคิดที่จะทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ได้ยังคงดีอยู่ การระเบิดดินดาน จึงเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่คูโบต้ามาส่งเสริมเพื่อให้ดินกักเก็บความชื้น อ้อยทนแล้ง อุ้มน้ำได้ และรากหยั่งลึกลงในดินได้ด้วย”

คุณประดุง กล่าวต่อว่า สยามคูโบต้าได้แนะนำให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยบริหารจัดการไร่อ้อย ตั้งแต่การเตรียมดิน ได้ใช้แทรกเตอร์คูโบต้าติดริปเปอร์ ทำการระเบิดดินดาน ให้มีความลึกมากกว่า 40 ซม. เพื่อเปิดช่องให้น้ำฝนเข้าไปกักเก็บที่ใต้ดิน  จากนั้นได้ใช้ผานพรวน ไถกลบพืชปุ๋ยสดและวัชพืชให้อยู่ใต้ผิวดิน เพื่อเร่งอัตราย่อยสลายและปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย  รวมทั้งใช้โรตารี่ ปั่นดินให้ละเอียด เพื่อปิดผิวหน้าดินและลดการสูญเสียความชื้นใต้ดิน

“สำหรับการบำรุงรักษาไร่อ้อย ในระยะยืดปล้องและระยะสร้างน้ำตาล ได้ใช้แทรกเตอร์คูโบต้าขนาดเล็กติดอุปกรณ์ครื่องฝั่งปุ๋ย ทดแทนการหว่านปุ๋ย เพื่อลดการสูญเสียปุ๋ยจากความร้อนและการพัดพาของน้ำ ทำให้อ้อยได้รับปุ๋ยอินทรีย์อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก ติดอุปกรณ์โรตารี่ นำมาปั่นดินและกำจัดวัชพืชในระยะช่องว่างระหว่างแถวอ้อยด้วย ซึ่งผมค่อนข้างพอใจกับแนวทางที่เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาส่งเสริม และเหมาะอย่างยิ่งกับเกษตรกรไทยในยุคปัจจุบัน ประหยัดแรงงานคน ย่นระยะเวลาในการทำการเกษตร และยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยผมคาดว่าผลผลิตที่จะได้ไม่ต่ำกว่า 15 ตัน/ไร่”

ในตอนท้าย คุณประดุง กล่าวอีกว่า การที่สยามคูโบต้าเข้ามาทำแปลงส่งเสริมในครั้งนี้ เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยตนเองในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเพาะปลูก การวิเคราะห์สภาพดิน สภาพอากาศ รวมทั้งการเลือกใช้พันธุ์อ้อย จึงได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับทีมงานคูโบต้าด้วย ในขณะเดียวกันตนเองก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรจากสยามคูโบต้าด้วยเช่นกัน ซึ่งตนเองมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ที่ได้ส่งเสริมการปลูกอ้อยร่วมกัน และจะนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป  

หมายเหตุ: ตัวเลขที่ได้จากการเพาะปลูกจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ  การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

การควบคุมแมลงศัตรูอ้อยโดยเชื้อราเมตาไรเซียม (ราเขียว)(Metarhizium anisopliae) เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงได้หลายชนิด ซึ่งขึ้นกับชนิดและสายพันธุ์ของเชื้อรา เมตตาไรเซียมด้วย ลักษณะโดยทั่วไปของเชื้อราเมตตาไรเซียม คือเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีสี เขียวหม่น สามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน เป็นเชื้อรา
พื้นที่นาเล็กทำให้สิ้นเปลืองน้ำมัน จริงหรือ? ร่วมหาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย