มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 80

มันสำปะหลังพันธุ์ ห้วยบง 80 เป็นมันสำปะหลังที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของนักวิจัยจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย พันธุ์นี้เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และเกษตรศาสตร์ 50 เริ่มแนะนำพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ปี 2551

พันธุ์ห้วยบง 80 คำว่า “ห้วยบง” หมายถึงตำบลที่ตั้งของสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ส่วน “80” หมายถึง การเฉลิมฉลองพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ลักษณะประจำพันธุ์

จากการทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ตั้งแต่ปี 2541- 2557 ในท้องที่ 13 จังหวัดสำคัญที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากรวม 128 การทดลอง พบว่า พันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือมีแป้งในหัวเฉลี่ยสูงถึง 26.8% ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 ผลผลิตหัวสดใกล้เคียงกับพันธุ์ห้วยบง 60 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.9-5.5 ตัน/ไร่ มีลักษณะทรงต้นสูง แตกกิ่งน้อยหรือไม่แตกกิ่ง สะดวกแก่การเก็บเกี่ยว งอกดี ความอยู่รอดสูง สามารถคลุมวัชพืชได้ดี ผลผลิตตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เหมาะสมกับการส่งเสริมในเขตที่มีศักยภาพของผลผลิตสูง

ผลผลิตหัวสดสามารถสกัดแป้งจากหัวสดได้ดีมาก แป้งมีสีขาวและมีความหนืดสูง เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแป้งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเป็นมันสำปะหลังพันธุ์แรกของไทยที่ได้รับการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542

ข้อแนะนำในการปลูก

มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 80 นิยมปลูกในต้นฤดูฝน (มีนาคม – พฤษภาคม) หรือปลายฤดูฝน (ตุลาคม) และพื้นที่ที่เป็นดินเนื้อหยาบ สามารถปลูกได้ในฤดูแล้ง (พฤศจิการยน – กุมภาพันธ์)

การปลูกควรใช้ต้นพันธ์สด หากจำเป็นต้องเก็บต้นพันธ์ไว้ ควรวางตั้งไว้กลางแจ้งให้ส่วนโคนของต้นพันธ์สัมผัสผิวดิน หรือพูนดินกลบให้โคนต้นสัมผัสดิน แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 30 วัน ระยะปลูกขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำให้ปลูกถี่ หากดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงให้ปลูกห่างโดยใช้ระยะระหว่างแถว 0.8-1.0 เมตร ส่วนระยะระหว่างต้นห่างกัน 0.8-1.0 เมตร

การปลูกให้ได้ผลผลิตสูงควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือ 16-8-16 อัตรา 25-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 1-2 เดือน (ในขณะที่ดินมีความชื้น) หรือใส่รวมกับปุ๋ยคอกปรับปรุงดินเช่น ปุ๋ยมูลไก่ อัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ โดยหว่านปุ๋ยคอกก่อนปลูก และไม่ควรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุน้อยกว่า 10 เดือน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพลี้ยกระโดดหลังขาว Sogatella furcifera (Horvath) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยคล้ายกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปีกมีจุดดำที่กลางและปลายปีก และมีแถบสีขาวตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลถึงสีดำ ลำตัวสีเหลือง มีแถบสีขาวเห็นชัดอยู่ตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง มีทั้งชนิดปีก
นาข้าวต้องเขียว ถึงจะดีจริงหรือ วันนี้มาหาคำตอบกัน
แมลงหางหนีบ (Earwig) แมลงหางหนีบมีประมาณ 1,800 ชนิด มีลักษณะลำตัวยาวรี และค่อนข้างแบน มีชนิดที่เป็นตัวสีดำ และชนิดที่เป็นตัวสีน้ำตาล มีแพนหางเป็นรูปคีมใช้สาหรับการจับเหยื่อเพื่อการป้องกันตัว เพื่อสร้างรัง และเพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ทั้งนี้ แมลงหางหนีบมีความยาวลำตัวจากหัวจรดแพนหางประมาณ 4-15 มิลลิเมตร