ชื่อวิทยาศาสตร์ : มอดดิน (Ground Weevil)
รูปร่างลักษณะ :
ตัวเต็มวัยของมอดดินเป็นด้วงงวงขนาดเล็ก เป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวป้อม ผิวขรุขระมีสีดำปนน้ำตาล และเทา มีขนาดความกว้างของลำตัวเฉลี่ยประมาณ 2.2 มิลลิเมตร ความยาวเฉลี่ย 3.5 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ในดินบริเวณที่มีต้นพืช ไข่มีลักษณะกลมรี สีขาว ผิวเรียบ เป็นมัน วางเป็นฟองเดี่ยว ๆ มีขนาดกว้างเฉลี่ย 0.30 มิลลิเมตร ยาว 0.50 มิลลิเมตร ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนภายใน 5-7 วัน ตัวหนอนมีรูปร่างงอเป็นตัว C ตัวหนอนที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ จะมีสีขาวใส และมีขนเล็ก ๆ ทั่วทั้งตัว หัวกะโหลกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ ตัวหนอนโตเต็มที่จะยาว 6.5 มิลลิเมตร มีความกว้างของหัวกะโหลกโดยเฉลี่ยประมาณ 0.75 มิลลิเมตร ตัวหนอนเข้าดักแด้เมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 45 วัน
ดักแด้มีรูปร่างแบบ Exarate Pupa คือ ขาและปีกเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ติดกับตัว มีสีขาวครีม มีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 3.9 มิลลิเมตร ระยะดักแด้ประมาณ 5 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุอยู่ได้นานถึง 8 เดือน ในเวลากลางวันจะพบอยู่ทั่ว ๆ ไปในแปลงหรือหลบอยู่ใต้ดินในบริเวณโคนต้น โดยเฉพาะตามกองดินของข้าวโพดที่เริ่มงอก และจะเริ่มออกหากินในเวลาพลบค่ำพร้อมกับจับคู่ผสมพันธุ์
ลักษณะการทำลาย :
มอดดินหรือมอดช้าง เป็นด้วงงวงขนาดเล็กอาศัยอยู่ในดินพบทั่วไปในไร่ข้าวโพด โดยเฉพาะระยะกล้า แมลงชนิดนี้จะทำลายพืชในระยะตัวเต็มวัย ต้นกล้าข้าวโพดจะเสียหาย ต้นที่ถูกกัดทำลายจะแตกแขนงชะงักการเจริญเติบโต ทำให้ข้าวโพดแก่ไม่พร้อมกัน ฝักลีบเล็กหรือไม่ติดฝัก
การป้องกันและกำจัด :
การป้องกันและกำจัดมอดดินวิธีที่ดีที่สุด คือ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เนื่องจากมอดดินจะระบาดทำลายข้าวโพดตั้งแต่ระยะเริ่มงอกประมาณ 10 วันเท่านั้น การใช้สารเคมีประเภทคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกจะป้องกันการทำลายของมอดดินได้ดี ให้ผลตอบแทนสูง เช่น carbosulfan 25% ST ในอัตรา 20 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือ imidacloprid 70% WS ในอัตรา 5 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หากจำเป็นและเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง ถ้าพบการระบาดทำลายของมอดดินเมื่อข้าวโพดงอกแล้ว สารเคมีที่ควรใช้ฉีดพ่นในระยะนี้ คือ carbosulfan 20% EC ในอัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร