ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช มีอะไรบ้าง? รู้จักประเภทของดินแต่ละชนิด

ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช มีอะไรบ้าง? รู้จักประเภทของดินแต่ละชนิด

ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช มีอะไรบ้าง? ดินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเพาะปลูกพืช เพราะดินที่ดีจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งดินแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ใช้ในการปลูกพืชได้ไม่เหมือนกัน หากใช้ดินผิดประเภท ผลผลิตอาจไม่งอกเงย

ในบทความนี้ จะมาอธิบายให้พี่น้องเกษตรกรไทยทุกคนทราบเองว่า  ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชมีอะไรบ้าง? และพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประเภทของดินแต่ละชนิดว่ามีข้อดี-ข้อด้อยสำหรับการปลูกพืชอย่างไร

ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช มีกี่ประเภท?

หากพูดถึงดินที่เหมาะกับการปลูกพืชนั้น โดยทั่วไปสามารถแบ่งดินออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามลักษณะของเนื้อดิน ได้แก่

  • ดินทราย มีลักษณะ เป็นดินที่มีเม็ดดินขนาดใหญ่ เรียกว่า อนุภาคขนาดทราย (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-0.05 มิลลิเมตร) และดินทราย จะมีเม็ดดินที่ไม่เกาะตัวกันดี เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี หรือน้ำซึมผ่านได้ง่ายกว่าดินร่วน และดินเหนียว ดินทรายจัดว่าเป็นดินที่มีธาตุอาหารต่ำ หากจะปลูกพืชบนดินทรายควรปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง มะพร้าว ไผ่ หรือกล้วย และก่อนปลูกพืชควรเติมอินทรียวัตถุอย่างเช่นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะช่วยให้พืชที่เราปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะปุ๋ยคอกจะช่วยในเรื่องของการปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้น

  • ดินเหนียว มีลักษณะเป็นดินที่มีเม็ดดินขนาดเล็ก เรียกว่า อนุภาคขนาดดินเหนียว (เส้นผ่าศูนย์กลาง เล็กกว่า 0.002 มิลลิเมตร) และดินเหนียว เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ มีความเหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำ และอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำ ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน

  • ดินร่วน เป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือ ในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชมากที่สุด

โดยดินที่เหมาะกับการปลูกพืช แต่ละประเภทนั้นก็มีข้อดี-ข้อด้อย ที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

ดินทราย

ดินทราย คือ ดินที่มีเม็ดดินเป็นทราย มีขนาดเม็ดเล็ก มีลักษณะเนื้อดินที่เกาะตัวกันหลวม ๆ มีความละเอียดต่ำ ถ้าสัมผัสดินจะรู้สึกหยาบ ๆ ที่มือ และเป็นดินที่มีการระบายน้ำ และอากาศได้ดีมาก แต่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ที่ต่ำ เพราะความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย

  • ดินทรายปลูกอะไรได้บ้าง : พืชที่ต้องการน้ำน้อย เช่น พืชทะเลทราย พืชทนแล้ง พืชตระกูลถั่วยืนต้น เช่นกระถิน ทองหลาง หรือพืชไร่ที่ต้องการน้ำน้อยเช่นมันสำปะหลัง พืชผักสวนครัวบางชนิด เช่น คะน้า ผักกาดหอม แตงกวา มะเขือเทศ มะระ เป็นต้น

ดินเหนียว

ดินเหนียว คือ เป็นดินที่มีเนื้อละเอียดที่สุด เมื่ออยู่ในสภาพดินแห้งจะเป็นก้อนแข็ง แต่เมื่อเปียกน้ำจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือรูปทรงต่าง ๆ ได้ โดยเป็นดินที่มีการระบายน้ำ และอากาศได้ไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำได้ดี เหมาะที่จะใช้ดินเหนียวในการทำนาปลูกข้าว รวมถึงปลูกพืชน้ำชนิดต่าง ๆ

  • ดินเหนียวปลูกพืชอะไรได้บ้าง : ข้าวทุกชนิด พืชลุ่มน้ำ พืชผักสวนครัวบางชนิด เช่นบัวตัดดอกผักบุ้ง ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฯลฯ

ดินร่วน

ดินร่วน คือ ดินที่มีเนื้อค่อนข้างละเอียด เมื่ออยู่ในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ส่วนในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีทำให้รากพืชสามารถหายใจได้สะดวก จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกกับพืชที่สุด อย่างพืชทางการเกษตร ไม้ยืนต้น ไม้ดอกและไม้ประดับ

  • ดินร่วน ปลูกพืชอะไรได้บ้าง : ต้นข้าวทุกชนิด พืชลุ่มน้ำ พืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว ฟักทอง มันสำปะหลัง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การที่จะบอกได้ว่าพื้นที่ใดเป็นดินดีหรือไม่นั้น ยังต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่จะปลูกในบริเวณนั้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีความต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ข้าว เป็นพืชที่ชอบน้ำ ดังนั้นดินดีที่เหมาะสมสำหรับข้าวจึงควรเป็นดินในพื้นที่ลุ่ม เนื้อดินเป็นดินเหนียวที่มีการระบายน้ำเลว ซึ่งจะช่วยให้สามารถขังน้ำไว้ในนาข้าวได้ แต่ถ้าต้องการปลูกพืชไร่หรือผลไม้ ดินที่ดีสำหรับพืชพวกนี้ควรเป็นดินลึก มีหน้าดินหนา เนื้อดินเป็นพวกดินร่วนหรือพวกที่มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้รากพืชสามารถชอนไชลงไปในดินได้ลึก สามารถต้านทานแรงลมได้ดี เป็นต้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ดินและปุ๋ย สำหรับ “มันสำปะหลัง”

ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช ต้องเป็นดินที่มีคุณสมบัติแบบไหน

ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช ต้องมีองค์ประกอบ 4 ส่วน คือ (1) สารอนินทรีย์ 45% (2) อินทรียวัตถุ 5% (3) อากาศ 25% และ (4) น้ำ 25%

  • ดินมีอินทรีย์วัตถุสูง อินทรีย์วัตถุจะช่วยให้ดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี และอุ้มน้ำได้พอดี
  • ดินมีธาตุอาหารพืชเพียงพอ ธาตุอาหารพืชจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
  • ดินมีสภาพทางเคมีเหมาะสม ดินควรมีสภาพเป็นกรดอ่อนหรือเป็นกลาง (pH 6.0-7.0)
  • ดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช
  • ดินไม่มีเชื้อโรคหรือแมลงสะสม เชื้อโรคและแมลงอาจทำให้พืชเกิดโรคหรือเสียหายได้
  • ต้องไม่เป็นดินที่เป็นกรด หรือ ดินที่เป็นด่าง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ดินที่เหมาะกับการปลูกพืช

ดินเป็นกรดควรแก้ไขอย่างไร

ดินที่เป็นกรด คือดินที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 ซึ่งอาจทำให้พืชขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เช่น ธาตุไนโตรเจน ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม และธาตุเหล็ก พืชที่ปลูกในดินกรดจัดอาจแสดงอาการผิดปกติ เช่น ใบสีซีด ใบเหลือง ใบไหม้ ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง หรืออาจตายในที่สุดและวิธีแก้ดินกรดที่ทาง KUBOTA Argi Solution หรือ KAS แนะนำยังมีอีก 3 วิธีดังนี้

  1. ลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน
  2. ใช้ปูนขาว โดโลไมท์ เปลือกหอย ขี้เถ้า เพื่อลดความเป็นกรดในดิน
  3. ในกรณีที่มีน้ำเพียงพอ ควรระบายน้ำที่มีความเป็นกรดสูงออกจากแปลง แล้วขังน้ำใหม่ ที่มีสภาพความเป็นกรดน้อยกว่าแทน

ผลกระทบของการที่ดินเป็นกรดจัด

  1. ธาตุบางอย่างจะละลายน้ำในดิน (ที่มีสภาพเป็นกรด) ได้ดีขึ้น ทำให้พืชดูดธาตุนี้เข้าไปในราก-ต้น จนทำให้เกิดเป็นพิษต่อพืช เช่น อะลูมิเนียม จะทำให้รากพืชถูกทำลาย/ไม่เจริญเติบโต, แมงกานีส ใบมีจุดสีเหลือง-น้ำตาล
  2. ในขณะเดียวกัน ทำให้ธาตุอาหารบางอย่างละลายน้ำในดินได้น้อยลงหรือถูกชะล้างไป เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แมกนีเซียม (ดูแผนภูมิด้านล่าง)
  3. จุลินทรีย์ดินที่ชอบ/ทนสภาพความเป็นกรดจะเพิ่มจำนวน จุลินทรีย์ที่ไม่ทนกรด (ไรโซเบียม ที่ตรึงไนโตรเจน โดยเกิดเป็นปมที่รากของพืชตระกูลถั่ว) จะลดจำนวนตายลง

ดินเป็นด่างควรแก้ไขอย่างไร

ดินที่เป็นด่างจัดจะมีค่า pH มากกว่าหรือเท่ากับ 7.5 ซึ่งอาจทำให้พืชขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เช่น ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และแมงกานีส พืชที่ปลูกในดินด่างจัดอาจแสดงอาการผิดปกติ เช่น ใบเหลือง ต้นแคระแกร็น เสี่ยงต่อการขาดน้ำเมื่อพบชั้นของปูนในระดับดินตื้น ผลผลิตลดลง หรืออาจตายในที่สุด

วิธีแก้ไขดินที่เป็นด่างคือการลองใส่กรดอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือกรดเกลือ จะช่วยปรับสภาพดินให้เป็นกรดเล็กน้อย อัตราส่วนในการใส่กรดอินทรีย์ขึ้นอยู่กับค่า pH ของดิน โดยทั่วไปจะใส่กรดอินทรีย์ประมาณ 1 ตันต่อไร่ หากค่า pH ของดินสูงกว่า 8.0 หากค่า pH ของดินอยู่ระหว่าง 7.5-8.0 จะใส่กรดอินทรีย์ประมาณ 0.5 ตันต่อไร่

วิธีแก้ไขดินที่เป็นด่างจัด

  1. ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เพื่อเพิ่มการปลดปล่อยฟอสฟอรัสให้แก่พืช
  2. การใช้ปุ๋ยเคมีต้องคำนึงถึงต้นทุนธาตุอาหารอย่างมาก และควรใส่ในปริมาณที่พอเหมาะกับชนิดพืช
  3. อาจมีความจำเป็นต้องฉีดพ่นปุ๋ยจุลธาตุให้กับพืชทางใบ ในพืชที่มีความอ่อนไหวต่อการขาดจุดธาตุ เช่น ถั่วลิสง
  4. ควรมีการไถกลบต่อซังสม่ำเสมอ หรือเพิ่มเติมอินทรียวัตถุด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เพื่อรักษาปริมาณอินทรียวัตถุในดิน และช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
  5. ควรมีการคลุมดิน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดน้ำของพืช

ดินมีกี่ชั้น แต่ละชั้นแตกต่างกันอย่างไร?

ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชนั้นสามารถแยกออกมาได้เป็น 2 ชั้น ได้แก่

  • ดินชั้นบน : หรือเรียกว่า “ชั้นไถพรวน” โดยทั่วไปมีความหนาประมาณ 15-30 ซม. จากผิวหน้าดิน ชั้นดินบนนี้เป็นชั้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก เพราะเป็นชั้นที่มีอินทรียวัตถุหรือฮิวมัส สูงกว่าชั้นดินอื่นๆ โดยปกติจะมีสีคล้ำหรือดำกว่าชั้นอื่นๆ รากพืชส่วนใหญ่จะชอนไชหาอาหารอยู่ในช่วงชั้นนี้
  • ดินชั้นล่าง :  ชั้นดินล่างเป็นชั้นที่มีอินทรียวัตถุน้อยกว่า รากพืชที่ชอนไชลงมาถึงชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรากของไม้ผลหรือไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อยึดเกาะดินไว้ให้พืชทรงตัวอยู่ได้ ไม่โค่นล้มลงได้ง่ายเมื่อมีลมพัดแรง โดยทั่วไปรากพืชเจริญเติบโตและดูดธาตุอาหารเฉพาะในส่วนที่เป็นดินบนและดินล่าง ซึ่งดินแต่ละชนิดมีความลึกไม่เท่ากัน ดินที่ลึกจะมีพื้นที่ให้พืชหยั่งรากและดูดธาตุอาหารได้มากกว่าดินที่ตื้น การปลูกพืชให้ได้ผลดีจึงควรคำนึงถึงความลึกของดินด้วย จะนับความลึกถัดจากชั้นดินบนลงไปจนถึงชั้นหิน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : รู้หรือไม่? ดินแต่ละชั้นแตกต่างกันอย่างไร?

สรุป ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชมากที่สุด คือดินอะไร

สรุปแล้วดินที่เหมาะกับการปลูกมากที่สุดคือ ดินร่วน เพราะดินร่วนมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชผักสวนครัวหลายชนิด และต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือต้องเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี ทำให้รากผักสามารถหายใจได้สะดวก, เป็นดินที่อุ้มน้ำได้พอดี ทำให้ผักได้รับน้ำเพียงพอ และต้องมีเนื้อดินที่ร่วนซุย ไม่แน่นจนเกินไป ทำให้รากผักเจริญเติบโตได้ดี แต่ทั้งนี้ดินร่วนก็อาจไม่ได้เหมาะกับพืชทุกชนิด ควรศึกษาสภาพดินและประเภทของดินก่อนการเพาะปลูกพืชที่คุณต้องการเสมอ
ติดตามความรู้ด้านการเกษตรยุคใหม่ได้ทุกสัปดาห์ที่เว็บไซต์ KAS Kubota (Argi) Solution เพื่อเกษตรกรไทยทุกคน 

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่ทำกินมีจำกัด จะจัดสรรอย่างไรดี ?