
ปัจจุบันดอกไม้เมืองหนาวเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล อย่างงานแต่ง งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ หรือจะเป็นงานไว้อาลัยให้กับผู้เป็นที่รักก็ตาม ทำให้ความต้องการของดอกไม้เมืองหนาวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การปลูกดอกไม้เมืองหนาวในไทย ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เนื่องจากภูมิประเทศ และภูมิอากาศของไทยในบางพื้นที่ที่ยังไม่รองรับการปลูกดอกไม้เมืองหนาวเท่าที่ควร
บทความนี้ KAS หรือ KUBOTA (Argi) Solutions จะพาไปทำลายข้อจำกัด และชี้แนะเทคนิคการสร้างผลผลิตจากดอกไม้เมืองหนาวกัน
“ดอกไม้เมืองหนาว โอกาสใหม่ของเกษตรกรไทย”
ดอกไม้ เมื่อใช้งานไปนานวัน ก็มีสิทธิ์ที่จะโรยราไปตามกาลเวลา จึงถือว่าเป็นสินค้าที่มีอายุสั้น ดอกไม้เมืองหนาว ก็เช่นกัน ที่นอกจากจะมีระยะเวลาในการใช้งานที่จำกัดแล้ว ก็ยังมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นด้วย ดังนั้นหากผู้บริโภคมีความต้องการจะใช้งานต่อเนื่อง ก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนหรือซื้อใหม่เพื่อทดแทนบ่อยครั้ง ยิ่งเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลปลูก หากความต้องการของผู้บริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้ราคาในการซื้อขาย มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างมากตลอดปีจึงเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรจะหันมาปลูกดอกไม้เมืองหนาวเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

“ข้อจำกัดที่ต้องทลาย เพื่อเพาะปลูกสิ่งใหม่ที่ดีกว่า”
ถึงแม้ดอกไม้เมืองหนาวจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มาก แต่ก่อนที่จะลงทุนก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจปัญหา และวิธีการรับมือก่อนปลูกดังนี้
- สภาพอากาศ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของดอกไม้ ไม่ร้อนหรือเย็น และไม่ชื้นแฉะจนเกินไป
- โรคและแมลง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพโดยเฉพาะตัวดอกหรือลำต้นที่ไม่สวย ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด หรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
- การจัดการน้ำ ควรรดน้ำอย่างเหมาะสมตามระยะการเจริญเติบโตของดอกไม้ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากการสูญเสียผลผลิตและโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการให้น้ำที่ไม่เหมาะสม การดูแลรักษา ดอกไม้เมืองหนาวเป็นพืชต่างถิ่นที่มีความอ่อนไหว การดูแลรักษาจึงมีขั้นตอนที่มากกว่า เพื่อให้ดอกไม้เติบโตอย่างแข็งแรง มีคุณภาพ และได้ปริมาณผลผลิตสูง


“ดอกไม้เมืองหนาว (แค่ไหน) เกษตรกรไทยก็ปลูกได้”
ไม่ว่าเกษตรกรไทยท่านใดก็ปลูกดอกไม้เมืองหนาวได้เพียงทำตามขั้นตอน ดังนี้
1. คัดเลือกสายพันธุ์
KAS ขอแนะนำดอกไม้เมืองหนาวอย่างดอกแอสเตอร์ 3 สายพันธุ์ที่นิยมในตลาด มีการใช้งานที่สูง และมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ได้แก่
- คัตเตอร์, พีค็อก หรือ ดาวเงิน

- มากาเร็ตม่วง
- มากาเร็ตชมพู

2. เตรียมดิน
ลักษณะดินที่เหมาะสมสำหรับดอกแอสเตอร์ทั้ง 3 สายพันธุ์ ควรมีความละเอียด ร่วนซุย และ มีการบำรุงธาตุอาหาร รวมไปถึงอินทรีย์วัตถุเบื้องต้นภายในดิน
ซึ่งสามารถเตรียมดินได้ผ่าน 3 ขั้นตอนนี้
- พื้นที่ใหม่ หรือ ที่นาเดิม ควรทำการไถดะหรือไถแปรด้วยรถไถพร้อมกับบดดินให้ละเอียดด้วยโรตารี่ พร้อมใส่ปุ๋ยมูลวัวรองพื้นในอัตรา 35-40 กระสอบต่อไร่ (ประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม/ไร่) ในช่วงนี้ได้ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและโครงสร้างดินที่ดี (หากมีดินแข็งหรือดินดานควรทำการระเบิดดินดานก่อนด้วยการใช้รถไถพร้อมชุดริปเปอร์ระเบิดดินดาน ในความลึก 50 ซม. ขึ้นไป)


- ระหว่างเตรียมดินให้ทำการแช่น้ำไว้ในแปลงเพื่อให้น้ำซึมลงดินช่วยให้ดินมีความชื้นที่เหมาะสม

- การยกร่องหน้าดินให้มีความกว้างที่ 120 ซม. โดยสูงไม่ต่ำกว่า 25 ซม.

3. การปลูก
ปลูกโดยใช้ รถปลูกผัก KP-201 โดยการหย่อนต้นกล้าที่มีอายุที่ 20 – 25 วัน ในระยะห่าง 24 x 24 ซม. เป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับการปลูกต้นแอสเตอร์ สามารถเติบโตได้ดี ไม่แน่นหรือห่างจนเกินไป ให้ดอกสวย กิ่งก้านแตกแขนงได้ดีและให้น้ำหนักสูง อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถปลูกผัก คลิก

4. การให้น้ำ
การให้น้ำผ่านเทปน้ำหยด โดยเลือกใช้เทปน้ำหยดที่มีระยะห่างของรูหยด 20 ซม. โดยวางแนวเทปน้ำหยดไว้ที่กึ่งกลางระหว่างแถวของต้น เพื่อให้น้ำกระจายโดนบริเวณพื้นที่รากและโคนต้นทั้ง 2 ฝั่งของเทปน้ำหยด
ตารางเวลาให้น้ำ
- ช่วงเริ่มต้น: ให้น้ำทุกเช้าเป็นเวลา 20 นาที
- ทุก ๆ 30 วัน: เพิ่มระยะเวลาให้น้ำขึ้นจากเดิม อีก 10 นาที ตามการเติบโตของต้น
- ช่วงก่อนเก็บเกี่ยว (7-10 วันสุดท้าย): เพิ่มเวลาการให้น้ำขึ้นอีก 5-10 นาที เพื่อเสริมความแข็งแรงของต้นและช่วยให้ดอกมีน้ำหนักที่เหมาะสม


- ข้อควรระวังโดยเฉพาะในระยะดอกไม้เริ่มแย้มบาน ไม่ควรรดน้ำด้านบนโดยสัมผัสกับดอก เนื่องจากน้ำที่ค้างที่บริเวณดอก อาจทำให้ดอกเกิดความเสียหาย เสี่ยงต่อการเน่าได้
5. การใส่ปุ๋ย
ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 หรือ หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีควรใช้ที่มีวัตถุอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 10% โดยบำรุงการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ ตามการปลูกดอกไม้ทั่วไป
6. การให้แสง
การปลูกดอกแอสเตอร์ควรติดตั้งหลอดไฟเพื่อให้แสงในเวลากลางคืน เพื่อเพิ่มระยะเวลากลางวันให้นานขึ้น เป็นการแกล้งต้นแอสเตอร์ให้เจริญเติบโตทางลำต้นต่อไปอย่างต่อเนื่องก่อนการสร้างดอก เนื่องจากแอสเตอร์เป็นพืชมีการเจริญเติบโตและการสร้างดอกสัมพันธ์กับการกระตุ้นจากแสง โดยการได้รับแสงที่ยาวนานขึ้น จะมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเจริญเติบโตทางลำต้นของแอสเตอร์ และเมื่อระยะเวลาของแสงสั้นลง จะกระตุ้นให้แอสเตอร์เริ่มมีการสร้างดอก ฉะนั้นหากดอกแอสเตอร์ได้รับแสงในช่วงการเจริญเติบโตของต้นไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้แอสเตอร์รีบสร้างดอกในขณะที่ลำต้นและกิ่งก้านต้นยังคงมีขนาดเล็ก ทำให้ดอกที่ออกมาไม่มีคุณภาพและได้จำนวนที่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของปีที่มีระยะแสงสั้นลงเช่นในช่วงฤดูหนาว ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการให้แสง
- ควรติดตั้งหลอดไฟ สีเดย์ไลท์ (Daylight) ในทุก ๆ ระยะ 1.5 – 2 ม. และสูงจากพื้นไม่เกิน 1.5 ม. ตามความสว่างของหลอดไฟ โดยวางแนวสายไฟระหว่างร่องปลูกเพื่อให้แสงกระจายถึงร่องทั้ง 2 ฝั่ง
- ในระยะเริ่มปลูกจนถึงอายุประมาณ 30 วัน สามารถใช้แสงจากแดดปกติในช่วงกลางวัน หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น เกษตรกรควรให้แสงไฟเพิ่มในช่วงกลางคืนโดยเปิดไฟช่วง 6 โมง และเปิดไว้ 2 – 3 ชั่วโมงทุก ๆ วัน และเปิดต่อเนื่องไปอีก 30 – 45 วัน (อายต้นประมาณ 60 – 85 วัน) เพื่อให้ลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อลำต้นโตเต็มที่แล้วให้หยุดแสงไฟทันทีเพื่อกระตุ้นให้เกิดตาดอก
- หลังจากปิดไฟ จะเริ่มเห็นการสร้างตุ่มดอก และดอกแอสเตอร์จะเริ่มแย้มหลังจากปิดไฟประมาณ 20 วันเป็นต้นไป

7. การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวดอกแอสเตอร์นั้น ระยะเวลาเก็บเกี่ยวจะขึ้นอยู่กับตลาดและวิธีการนำไปใช้ หากเป็นการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปตกแต่งซุ้ม ใช้ในพิธีการสำคัญต่าง ๆ หรือทำดอกไม้แห้ง จะนิยมตัดเก็บเกี่ยวในระยะที่ดอกแย้มประมาณ 60 – 70% (ยังมีตุ่มดอกเขียวรวมอยู่) แต่หากเป็นช่อดอกไม้สดหรือจัดพุ่มดอกไม้ที่เน้นสีขาวสว่างมากขึ้น หรือใช้ในระยะไม่ไกลจากแหล่งปลูก สามารถเก็บเกี่ยวในระยะดอกแย้มมากขึ้นได้
- ดอกไม้แบบสด การเก็บเกี่ยวควรตัดตรงบริเวณโคนต้นเพื่อให้เหลือตอไว้สำหรับทำพันธุ์ต่อ โดยตัดสูงขึ้นจากผิวดินประมาณ 6 นิ้ว และให้ทำการรูดใบที่ติดอยู่ที่ก้านลำต้นนับแต่ตั้งแผลตัดขึ้นมาถึงช่อดอกประมาณ 6 – 12 นิ้วทิ้งทั้งหมด และรีบนำไปแช่น้ำทันทีเพื่อคงความสดของดอกไม้ โดยดอกไม้จะสดนาน 6 – 8 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มเฉา หรือ หากต้องการให้นานขึ้น ควรให้นำเข้าตู้แช่ทันที ซึ่งสามารถคงสภาพได้นาน 3 – 5 วันก่อนการใช้งานนิยมนำไปตกแต่งในเทศกาลหรือพิธีต่าง ๆ
- ดอกไม้แบบแห้ง วิธีการเก็บเกี่ยวจะคล้ายกับแบบสด แต่จะไม่มีการแช่น้ำ โดยจะนำส่วนที่ตัดพร้อมดอกมามัดไว้เป็นช่อแล้วนำไปตากแห้งประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งสามารถอยู่ได้นานกว่า 1 ปี นิยมนำไปใช้สำหรับการตกแต่งภายในบ้านหรืออาคาร
เพิ่มเติม: การบำรุงไว้ในแปลงเพื่อให้เป็นจุดถ่ายรูปท่องเที่ยว สามารถทำได้โดยรดน้ำให้ปุ๋ยบำรุงต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยดอกจะคงการแย้มบานไปได้อีกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ก่อนระเริ่มเหี่ยวเฉาและเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น สิ่งที่ควรระวังระหว่างนั้นคือการให้น้ำ ไม่ควรให้น้ำโดยตรงกับดอก อาจทำให้น้ำที่ค้างอยู่ไหม้แดดและเกิดการเน่าของดอกได้


8. การขยายพันธุ์
หลังจากตัดดอกเพื่อเก็บเกี่ยว ควรบำรุงต้นแม่เดิมด้วยปุ๋ยสูตร 16-16-16 และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นหน่อใหม่แตกออกโดยรอบ
- ช่วงการเจริญเติบโตของหน่อ
ควรรดน้ำอย่างต่อเนื่องจนหน่ออายุประมาณ 2 สัปดาห์ หรือมีความสูง 12-15 เซนติเมตร - การแยกหน่อปลูกต่อ
เมื่อหน่อเติบโตแข็งแรง สามารถแยกออกจากตอแม่เพื่อนำไปปลูกต่อได้ทันที โดยต้นแม่หนึ่งต้นสามารถขยายพันธุ์ได้ประมาณ 10-20 หน่อ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และการบำรุงต้นแม่
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ช่วยให้ได้ต้นใหม่ที่แข็งแรง ลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในรอบถัดไป



“เปลี่ยนพืชพรรณการปลูก เพื่อผลกำไรที่สูงกว่า”
การปลูกดอกไม้เมืองหนาวที่เจริญเติบโตเป็นดอกไม้สวยงดงาม สามารถส่งขายได้ทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปตกแต่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกหนึ่งทาง ช่วยให้คืนทุนได้อย่างรวดเร็ว สร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“KAS และ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.)”
“ขอมอบการเพาะปลูกแบบใหม่ให้เกษตรกรไทย”
KAS (KUBOTA Agri Solutions) ทีม Sustainable Solutions Promotion ร่วมกับ ทีมนักวิจัยเทคโนโลยีไม้ตัดดอก จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) ได้เก็บรวบรวมข้อมูลการเพาะปลูกตั้งแต่การเริ่มเตรียมดิน ดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวแบบครบถ้วน เพื่อให้ได้เป็น “คู่มือการปลูกไม้ตัดดอกเมืองหนาวด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร” เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ และเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมั่นใจและยั่งยืน
สำหรับการดาวน์โหลดคู่มือ โปรดติดตามข่าวสารได้เร็ว ๆ นี้ ที่เว็บไซต์ KAS หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมทางช่องทางดังนี้
- KUBOTA CONNECT เบอร์ 02-029-1747
- ศึกษาข้อมูลรถปลูกผักจากคูโบต้าผ่านเว็บไซต์ Siam Kubota
- ติดต่อผ่านร้านผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ คลิกที่นี่
- Facebook Page: Siam Kubota และ Kubota Drone Club – คูโบต้าโดรนคลับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อผ่าน LINE Official @siamkubota