
มะเขือเทศ หนึ่งในพืชสารพัดประโยชน์ ทานสดก็ได้ แปรรูปก็ดี จึงเรียกได้ว่ามะเขือเทศเป็นพืชที่มีความต้องการสูงในตลาดไม่แพ้พืชใด แต่การที่จะปลูกมะเขือเทศให้ได้คุณภาพดีนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากมะเขือเทศมีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ โดยเฉพาะมะเขือเทศทานสด เพราะต้องการการดูแลที่มากเป็นพิเศษ ทำให้การปลูกแบบปกติที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ไม่เพียงพออีกต่อไป เกษตรกรจึงต้องหันมาพึ่งพาวิธีอย่าง “การปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน”
ในบทความนี้ KAS จะมาแนะนำวิธีการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนแบบครบถ้วน แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการปลูกในโรงเรือนเราไปทำความรู้จักมะเขือเทศกันก่อนดีกว่าครับ
เรื่องที่ควรรู้ก่อนปลูกมะเขือเทศ
มะเขือเทศ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีค่า pH 5.5 – 7.0 และควรให้อุณหภูมิช่วงกลางวันอยู่ที่ 25 – 30 องศาเซลเซียส และกลางคืน 16 – 20 องศาเซลเซียส จะทำให้ต้นมะเขือเทศแข็งแรงและติดผลได้ดี
มะเขือเทศแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์
- มะเขือเทศพันธุ์เลื้อย มีลำต้นเป็นเถาสูง 2 – 3 เมตร ต้องทำค้างเพื่อพยุงลำต้นให้สูงจากพื้นดิน ช่อดอกจะเจริญเติบโตสลับกับใบ ทุก ๆ 2 – 3 ใบ มีแขนงหลักที่ขนาดใกล้เคียงกับลำต้น 2 – 3 แขนง

2. มะเขือเทศพันธุ์พุ่ม มีลำต้นตั้งตรง ช่อดอกกับใบเติบโตในเวลาใกล้เคียงกัน แขนงหลักมักเกิดบริเวณด้านล่างลำต้น

มะเขือเทศพันธุ์ไหนนิยมปลูกในประเทศไทย
มะเขือเทศที่นิยมในประเทศไทย คือ มะเขือเทศพันธุ์ไม้เลื้อยกลุ่มเชอร์รี่ ผลจะมีลักษณะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะรูปร่างหรือสีสัน รสชาติหวาน เมล็ดน้อย น้ำหนักไม่เกิน 15 กรัม นิยมทานสด มะเขือเทศกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักนำเข้าจากต่างประเทศ ควรได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้คุณภาพและปริมาณของมะเขือเทศลดลง จึงจำเป็นต้องปลูกในโรงเรือนเพื่อช่วยให้ มะเขือเทศเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง สร้างผลผลิตให้มีคุณภาพ

ข้อดีของการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน
- ควบคุมสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้มะเขือเทศเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
- ปรับแต่งได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะพื้นที่เล็กหรือใหญ่รวมไปถึงอุปกรณ์ภายในโรงเรือน
- จัดการแปลงได้สะดวก ช่วยให้การดูแลรักษาง่าย
- เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ลดการสูญเสียผลผลิต
- ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายต่อผลผลิต
ขั้นตอนการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน
1. การเตรียมความพร้อมโรงเรือนก่อนปลูก
ฉีดพ่นสารกำจัดโรคและแมลง ให้ทั่วโรงเรือนไม่ว่าจะด้านในหรือด้านนอก
ก่อนย้ายปลูกอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ โดยสารที่สามารถให้ทำความสะอาดได้มีดังนี้
- อิมิดาคอลพริด 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- สไปนีโทแรม 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- ครอรีน 10 % อัตราส่วน 1 : 20
2. การเตรียมอุปกรณ์
- อุปกรณ์สำหรับการเพาะกล้าถาดเพาะกล้า ขนาด 105 หลุม หรือ 104 หลุมเมล็ดพันธ์ ที่มีอัตราการงอกมากกว่า 80%ผ้าสะอาด สำหรับบ่มเมล็ดพันธุ์ไม้จิ้มฟัน สำหรับเจาะหลุมวัสดุเพาะ เช่น พีทมอส
- อุปกรณ์สำหรับการปลูก
- ขุยมะพร้าว
- กาบมะพร้าวสับ
- ถุงปลูก ขนาด 8 x 16 นิ้ว
- อุปกรณ์สำหรับการดูแล
- ปุ๋ย AB ใช้เพิ่มธาตุอาหารให้พืช
- ด้ายสีขาวหรือเชือก สำหรับผูกโยงต้นมะเขือเทศ
- คลิปล็อก สำหรับล็อกต้นมะเขือเทศกับเชือก ป้องกันต้นล้ม
- อุปกรณ์สำหรับการปลูก
3. การบ่มเมล็ด
- แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50°C นาน 6 – 8 ชั่วโมง
- นำเมล็ดขึ้นจากน้ำ ห่อด้วยผ้า
- มัดผ้าและใส่ภาชนะทึบแสง ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เมล็ดจะเริ่มงอกรากยาว 2 – 3 มม.

4. การเพาะกล้า
- บรรจุวัสดุเพาะลงถาดเพาะกล้า ใช้ไม้จิ้มฟันเจาะหลุมลึก 1 มม.
- หยอดเมล็ดลงหลุม กลบด้วยวัสดุเพาะบาง ๆ และฉีดน้ำให้ชุ่ม
- เก็บถาดเพาะในพื้นที่ปิดทึบ สังเกตการงอกของเมล็ดอย่างสม่ำเสมอ เมื่องอกแล้วให้นำออกมาตากแดดทันที วันละ 8 – 12 ชั่วโมง
- รดน้ำทุกวันช่วง 8.00 – 14.00 น. เพื่อรักษาความชื้นที่เหมาะสม พร้อมฉีดพ่นไตรโครเดอร์มาทุก 7 วัน เพื่อป้องกันโรคและแมลง
- เมื่ออายุ 15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเกร็ดสูตร 15-15-15 ทุก 3 วัน โดยผสมปุ๋ย 1 ช้อนโต๊ะ/ น้ำ 20 ลิตร
- เมื่ออายุ 20 – 25 วัน จะได้ต้นกล้าพร้อมย้ายปลูกในโรงเรือน

5. การเตรียมวัสดุปลูก
- แช่ขุยมะพร้าวและกาบมะพร้าวสับในน้ำสะอาด 2 – 3 วัน เพื่อลดความเค็มและสารแทนนินที่อาจกระทบการเจริญเติบโตของพืช
- ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายครั้งจนไม่มีน้ำสีแดงออกมา
- ผึ่งขุยมะพร้าวและกาบมะพร้าวสับให้แห้งด้วยการตากแดด
- ผสมขุยมะพร้าวและกาบมะพร้าวสับในอัตราส่วน 4:1 บรรจุในถุงปลูกและจัดวางในโรงเรือน
- รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 2 กรัมต่อต้น
เพิ่มเติม: ในระหว่างรองก้นหลุมสามารถใส่ไดโนทีฟูแรนเพื่อป้องกันแมลงที่จะมาทำความเสียหายกับต้นมะเขือเทศได้
6. การย้ายปลูก
- นำต้นกล้าออกจากถาดเพาะ จับที่โคนต้นอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้รากขาด
- ใส่ต้นกล้าลงในถุงปลูก กดโคนต้นให้ลึกถึงระดับใบเลี้ยง เพื่อป้องกันต้นล้ม และรดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังการย้ายปลูก

ข้อแนะนำ ควรย้ายต้นกล้ามะเขือเทศในตอนเย็นซึ่งจะช่วยให้ต้นมะเขือเทศตั้งตัวได้เร็วขึ้นในเวลากลางคืน
7. การดูแลรักษา
การให้น้ำและธาตุอาหาร
มะเขือเทศแต่ละต้นต้องได้รับน้ำ 500 – 1,200 มล. ต่อวัน และ EC* (ความเข้มข้นของธาตุอาหารพืช) ตามระยะการเจริญเติบโต ดังนี้
- ระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น 0.9 – 1.8 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร
- ระยะออกดอก 1.8 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร
- ระยะติดผล 1.8 – 2.2 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร
- ระยะเก็บเกี่ยว 2.2 มิลลิซีเมนส์ต่อเซนติเมตร
*หากมีค่า EC ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้มะเขือเทศเจริญเติบโตไม่ปกติ หรือ ไม่สมบูรณ์
การผูกและโยงต้นมะเขือเทศ
- ผูกเชือกกับสายสลิง หรือคานสำหรับมะเขือเทศต้นละ 1 เส้น (หรือ 2 เส้น หากไว้ 2 กิ่งต่อต้น)ก่อนย้ายปลูกต้นกล้า
- ใช้เชือกผูกคลิปล็อกและหนีบข้อแรกของต้น แล้วพันเชือกสีขาวรอบต้นทุกข้อจนถึงยอด ห้ามข้ามข้อ
- ตรวจสอบการเจริญเติบโตและล็อกเชือกใหม่เป็นประจำเพื่อป้องกันยอดหัก
- หากไม่มีคลิปล็อก สามารถพันเชือกล้ำต้นตามแนวได้
เพิ่มเติม: ขั้นตอนที่ 1 และ 2 ควรทำก่อนย้ายปลูก เพื่อเป็นการกำหนดจุดในการวางมะเขือเทศและให้ต้นมะเขือเทศมีที่ยึดเกาะยืดลำต้นได้สูงขึ้น ส่วนขั้นตอนที่ 3 และ 4 ควรทำหลังย้ายปลูกเพื่อปกป้องให้มะเขือเทศเติบโตได้อย่างแข็งแรง

การแต่งกิ่ง มะเขือเทศพันธุ์เลื้อย
ตัดกิ่งด้านล่างออกก่อนที่จะมีการแตกง่าม เพื่อให้เหลือกิ่งหลักเพียง 1 – 2 กิ่งและเด็ดกิ่งกระโดง (กิ่งเล็ก ๆ ที่แตกออกมาจากลำต้น) ทุก 1 – 2 วัน เพื่อลดการแย่งชิงธาตุอาหารส่งผลให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์
การผสมเกสร
มะเขือเทศสามารถผสมเกสรได้เอง แต่เพื่อเพิ่มการติดผล ควรช่วยผสมเกสรหลังออกดอก 5 – 7 สัปดาห์ โดยการเขย่าหรือเคาะเชือก เพื่อให้ละอองตกลงบนเกสรตัวเมีย 3 ครั้ง/ สัปดาห์
มะเขือเทศจะใช้เวลาในการปฏิสนธิ 50 – 55 ชั่วโมง และหลังจากนั้นผลจะสุกเต็มที่ใน 6 – 8 สัปดาห์ เมื่อติดผลแล้วให้แต่งกิ่งอีกครั้ง

การฉีดพ่นอาหารเสริม
ฉีดพ่นอาหารเสริมทุกสัปดาห์ตั้งแต่ระยะออกดอก – เก็บเกี่ยว โดยใช้แคลเซียมโบรอน (ชนิดฉีดพ่น) ในอัตรา 40 ซีซี/ น้ำ 20 ลิตร ป้องกันอาการก้นเน่าของมะเขือเทศ
การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช
- โรคใบแห้ง เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส์ (Phytophthora Infestans) ป้องกันด้วยการพ่นยาดีโฟร่า 80% ทุก 7 วัน โดยควรฉีดป้องกันไว้ก่อน
- โรคใบจุด เกิดจากเชื้อราออลเทอร์นาเรีย โซลานี (Alternaria Solani) ป้องกันด้วย สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียบาซิลลัส คลุกเมล็ดหรือผสมกับวัสดุปลูก และควรฉีดพ่นทุก 7 วัน
- โรคเหลืองเหี่ยวตาย เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม อ๊อกซิสปอรัม (Fusarium Oxysporum) ป้องกันโดยลดการใช้สารเคมี ใส่อินทรียวัตถุ ปูนขาว และปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อปรับปรุงดิน
- โรคใบหงิกเหลือง เกิดจากไวรัสกลุ่มเจมินี่ (Gemini Virus) สามารถป้องกันโดยถอนต้นที่เป็นโรคและเผาทิ้ง
- แมลงปากดูด ป้องกันโดยรองก้นหลุมปลูกด้วย ไดโนทีฟูแรน (Dinotefuran)
8. การเก็บเกี่ยว
มะเขือเทศสามารถเก็บเกี่ยวได้ 70 – 90 วันหลังหยอดเมล็ด โดยผลจะเริ่มสุกแดงในช่วง 30 – 45 วันหลังดอกบาน เมื่อผลเปลี่ยนเป็นสีแดงแล้ว 7 วัน ผลจะสุกเต็มที่และพร้อมเก็บเกี่ยว มะเขือเทศ 1 ต้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่อง 8 – 10 เดือน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
แนะนำ: ควรเก็บผลพร้อมกลีบเลี้ยงเพื่อรักษาความสด และใช้ภาชนะรองรับเพื่อป้องกันการปนเปื้อน
ปลูกในโรงเรือนถูกวิธี มะเขือเทศเจริญเติบโตเร็วขึ้น
มะเขือเทศ เป็นพืชที่มีความอ่อนไหวและต้องการการดูแลรักษามากกว่าพืชอื่น ๆ หากปลูกด้วยกรรมวิธีทั่วไปอาจสูญเสียผลผลิตระหว่างการเพาะปลูก โดยเฉพาะสายพันธุ์ต่างถิ่นยอดนิยมอย่างพันธุ์เชอร์รี ซึ่งไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศ การปลูกในโรงเรือนจึงมีความเหมาะสมกว่า เพียงเกษตรกรออกแบบสภาพแวดล้อมภายในให้เหมาะสมและเพาะปลูกตามที่ KAS แนะนำจะช่วยให้ผลผลิตดีขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี
ศึกษาวิธีปลูกมะเขือเทศในโรงเรือน ให้เนื้อหวานฉ่ำน้ำ ได้แล้วที่ KUBOTA FARM !!
หากเกษตรกรท่านใดสนใจศึกษาวิธีปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ผ่านช่องทางดังนี้
- KUBOTA CONNECT เบอร์ 02-029-1747
- ศึกษาเครื่องจักรกลการเกษตรจากคูโบต้าผ่านเว็บไซต์ Siam Kubota
- ติดต่อผ่านร้านผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ คลิกที่นี่
- Facebook Page: Siam Kubota และ Kubota Drone Club – คูโบต้าโดรนคลับ
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน LINE Official @siamkubota
ขอบคุณข้อมูลจาก Kasetinno, กรมวิชาการเกษตร (อ้างอิงในเรื่องของสายพันธุ์มะเขือเทศ)