สุดยอดคัมภีร์รวมวิธีปลูกถั่วงอกง่ายที่สุด ลงทุนน้อย กำไรดีงาม

สุดยอดคัมภีร์รวมวิธีปลูกถั่วงอกง่ายที่สุด
ลงทุนน้อย กำไรดีงาม

การปลูกถั่วงอกที่ลงทุนน้อย และทำกำไรได้ดีงาม เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปก็อยากจะรู้
ขั้นตอนการปลูกและการดูแลที่ถูกต้องกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเมล็ด สภาพแวดล้อมที่ปลูก
ดินที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ถั่วงอกที่มีคุณภาพสูงสุด ในบทความนี้ จะมาเผยสุดยอดคัมภีร์ที่รวมเอาวิธีการ
ปลูกถั่วงอก แบบลงทุนน้อยแต่กำไรงาม มาให้คุณได้ทำตามพร้อมกัน

ข้อควรรู้ ก่อนเริ่มปลูกถั่วงอก

  1. ควรทำการล้างเมล็ดถั่วเขียว โดยคัดแยกเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำและไม่สมบูรณ์ออกมา จากนั้นนําไปแช่
    ในน้ำอุ่น 6-8 ชม. โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ โดยจะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่าเมล็ดถั่วจะเริ่มงอก
  2. การปลูกถั่วงอก ใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ก็พร้อมเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปทำอาหาร
  3. ควรรดน้ำถั่วงอก 2-3 ครั้งต่อวัน เช้า กลางวัน และเย็น แต่หากไม่สะดวกรดน้ำในเวลากลางวัน
    ก็สามารถรดน้ำแค่เช้าและเย็นได้เช่นกัน
  4. รายได้ที่ได้จากการปลูกถั่วงอกจะแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นหลักพันไปจนถึงหลักแสน

วิธีปลูกถั่วงอกอย่างง่าย สะดวก และอุปกรณ์ที่ต้องใช้

การปลูกถั่วงอกมีหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้เอง และใช้อุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น ไม่จำกัดว่าต้องปลูก
ในแปลงนาเพียงเท่านั้น โดยมีวิธีให้เลือกทำดังนี้

1. ปลูกถั่วงอกในทิชชู่

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ทิชชู่, ผ้าขนหนู และกล่องพลาสติกสำหรับเป็นภาชนะรองทิชชู่

  1. นำเมล็ดถั่วเขียวไปล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  2. วางเมล็ดถั่วเขียวให้กระจายตัวบนกระดาษทิชชู่ จากนั้นนำทิชชู่มาวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ (ระวังอย่าให้แต่ละชั้นหนาเกิน เพราะจะทำให้ถั่วงอกไม่อวบอ้วน)
  3. รดน้ำให้ชุ่ม นำผ้าขนหนูชุบน้ำหมาด ๆ คลุมไว้ เพื่อเก็บความชื้นและป้องกันแสง ควรเก็บในที่พ้นแสงเพื่อทำให้ถั่วงอกมีต้นที่ขาวและอวบ
  4. รดน้ำเรื่อย ๆ วันละ 2-3 ครั้ง ไม่ควรรดน้ำแฉะเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการเน่า
  5. เมื่อเมล็ดเริ่มงอกจนมีใบเลี้ยง ให้เปิดฝากล่อง จากนั้นเพียง 2-3 วัน ถั่วงอกก็จะพร้อมให้เก็บแล้ว
ภาพจาก BlogGang

2.ปลูกถั่วงอกในตะกร้า

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ตะกร้า, ผ้าขาว, ตาข่าย, ถุงดำ

  1. นำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  2. นำผ้าขาวขนาดเท่ากับพื้นของก้นตะกร้ามาชุบน้ำให้เปียก แล้ววางรองลงไปที่ก้นตะกร้า โดยไม่ต้องบิดน้ำออก
  3. นำตาข่ายหรือมุ้งเขียวมาวางทับบนผ้า
  4. นำเมล็ดถั่วเขียวโรยลงไปบนตาข่าย ให้กระจาย ๆ จากกัน ไม่ทับซ้อน
  5. นำผ้ามาชุบน้ำให้เปียก แล้ววางทับลงไปบนเมล็ดถั่วเขียว
  6. นำตะกร้าใส่เข้าไปในถุงดำ แล้วปิดปากถุงให้มิดชิด แล้วนำไปไว้ในที่มืดที่อุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป
  7. เปิดถุงเพื่อรดน้ำทุก 4-6 ชม. โดยรดลงไปบนผ้าที่คลุมอยู่ด้านบนสุดให้ชุ่ม ๆ
  8. เมื่อครบ 3 วัน จึงนำออกมาจากตะกร้าเก็บเกี่ยวได้
ภาพจาก Thaihometown

3.ปลูกถั่วงอกในถังพลาสติกทึบ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ถังพลาสติก, กระสอบป่าน, ตะแกรง

  1. แช่เมล็ดถั่วเขียวทิ้งไว้ 1 คืน
  2. เจาะรูที่ก้นถังพลาสติก เพื่อทำเป็นที่ระบายน้ำ
  3. นำตาข่ายวางลงที่ก้นถัง ตามด้วยผ้ากระสอบป่าน ตะแกรง และจึงโรยเมล็ดถั่วเขียวเป็นขั้นสุดท้าย
  4. ทำแบบเดิมซ้ำกัน 3 ชั้น โดยในชั้นสุดท้ายให้นำกระผ้าสอบป่านปิดไว้ 2 ชั้น รดน้ำให้ชุ่ม แล้วจึง
    ปิดฝาถัง และเก็บในที่ร่ม อากาศไม่ร้อน
  5. รดน้ำวันละ 3 ครั้ง หลังจากนั้น 2-3 วันถั่วงอกก็จะพร้อมเก็บเกี่ยว
ภาพจาก Thaihometown

4.ปลูกถั่วงอกในขวดพลาสติก

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ขวดพลาสติก, ทิชชู่, ถุงดำ

  1. นำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  2. นำขวดพลาสติกมาผ่าครึ่งแนวนอน
  3. ใช้กระดาษทิชชู่รองในขวดพลาสติก
  4. นำเมล็ดถั่วงอกที่แช่น้ำไว้มาวางบนกระดาษทิชชู่ที่เตรียมไว้
  5. รดน้ำให้ชุ่มและนำไปใส่ไว้ในที่มืด ที่ไม่มีแสงแดดส่องถึง
  6. นำออกมารดน้ำเรื่อย ๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  7. ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน จึงพร้อมเก็บเกี่ยว
ภาพจาก Postjung

5.ปลูกถั่วงอกในเข่ง

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: เข่ง, ใบตอง, กระดาษหนังสือพิมพ์, เชือก, ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 1 กก. กะละมัง,
ผ้า กระสอบป่าน

  1. นำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  2. รองก้นเข่งด้านในด้วยใบตองให้เต็มพื้นที่ก้นเข่ง แล้วนำกระดาษหนังสือพิมพ์คลุมเข่งให้รอบ
    จากนั้นมัดด้วยเชือก
  3. นำขี้เลี่อยใส่ในกะละมัง แล้วใส่เมล็ดถั่วเขียวลงไป คลุกให้เข้ากันแล้วเทลงไปในเข่ง ปิดทับด้วยผ้าและกระสอบป่านที่ชุบน้ำชุ่ม
  4. ดูแลรดน้ำให้ชุ่ม
  5. เช้าวันที่ 3-4 ถั่วจะงอกออกจนเต็มล้นเข่ง สามารถตัดปาดจากหน้าขี้เลื่อยได้เลย
ภาพจาก Pantip

6.ปลูกถั่วงอกในขวดโหล

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: ขวดโหล, ผ้า, ถุงขยะ/ถุงกระดาษ

  1. นำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  2. เทถั่วเขียวใส่ขวดโหล แล้วใช้ผ้าขาวบางปิดปากขวดไว้
  3. วางขวดเป็นแนวนอนในที่มืด (หรือวางในถุงขยะ / ถุงกระดาษ)
  4. หลังจากนั้น 3-4 ชม. รดน้ำใส่เมล็ดทางปากขวด แล้วจึงเทน้ำทิ้ง (เพื่อไม่ให้ถั่วงอกจมน้ำ
    และเน่าเสีย)
  5. ทำตามข้อ 4 ในทุกวัน หลังจากนั้น 3-4 วัน ถั่วงอกก็จะพร้อมเก็บเกี่ยว
ภาพจาก Sanook

7.ปลูกถั่วงอกในดิน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้: พลั่วขนาดเล็ก, แหนบสำหรับคีบเมล็ด, หญ้าสำหรับคลุมดิน

  1. เตรียมดินให้พร้อม โดยไถพรวนดินด้วยพลั่ว
  2. ขุดหลุมลึก 1 นิ้วสำหรับหยอดหรือโรยเมล็ด
  3. ใช้แหนบคีบเมล็ดถั่วงอกแต่ละเมล็ดวางลงในหลุม
  4. กลบดินในแต่ละหลุมแบบบางๆ โดยอย่าให้แน่นหนาจนเกินไป
  5. รดน้ำให้ดินมีความชื้น เพื่อให้ดินมีความชื้นตลอดเวลาเนื่องจากระยะปลูกสั้น
  6. คลุมดินด้วยหญ้าคลุมดินเพื่อกักเก็บความชื้น
  7. รดน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์จนกว่ายอดจะออก ซึ่งถั่วงอกจะเริ่มแตกยอดประมาณ 2-3 สัปดาห์
    ให้หลัง
ภาพจาก Health.kapook

สรุปทั้งหมด เกี่ยวกับวิธีปลูกถั่วงอก

การปลูกถั่วงอกเพื่อให้ได้ผลกำไรงาม สามารถทำได้ง่าย ๆ และมีหลากหลายวิธีให้เลือกตามความสะดวก ทั้งแบบที่ใช้อุปกรณ์ที่อยู่รอบตัว และแบบปลูกลงดิน โดยทุกวิธีการต้องรู้ขั้นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตจากการปลูกถั่วงอกที่ดีที่สุด และทำกำไรได้มากที่สุดนั่นเอง

สำหรับเกษตรกรท่านใดที่ต้องการทราบข้อมูลความรู้ที่จำเป็นต่อการทำการเพาะปลูกและการทำเกษตร

ให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ต้องอย่าลืมติดตามความรู้ด้านการเกษตรยุคใหม่ได้ทุกสัปดาห์ที่เว็บไซต์ KAS Kubota (Agri) Solutions คลังความรู้เพื่อเกษตรกรไทยทุกคน

อ้างอิงข้อมูล: Thairath, sgethai, thaihometown, diyinspirenow, fcdthailand, trueid, rakbankerd, postjung ,rmutsv

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

การไถเตรียมดินมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้ดินมีสภาพเหมาะแก่การปลูกข้าว การไถครั้งแรกพลิกดินขึ้นมาแล้วเว้นช่วงให้เมล็ดวัชพืชงอก ยิ่งงอกมากยิ่งดี แล้วไถครั้งที่ 2 หรือไถแปรฝังกลบต้นวัชพืชลงในดิน จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้มาก ช่วงเวลาระหว่างไถครั้งแรกกับครั้งที่ 2 ขึ้นกับปัจจัยในการงอกของเมล็ด
การเกิดสภาวะน้ำท่วมพื้นที่นาข้าว อาจเกิดได้ 2 กรณี คือจากฝนตกหนักน้ำไหลบ่าท่วมฉับพลัน หรือน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าว ดังนั้นหลังจากน้ำลดลงระดับปกติจึงควรมีการจัดการดินที่เหมาะกับการปลูกข้าว ซึ่งความรุนแรงของความเสียหายขึ้นกับระยะ