โครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม (นาแปลงใหญ่) คือ การส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มกันเพื่อผลิต ทำให้มีอำนาจในการต่อรอง และสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ โดยไม่ได้รวมทุกแปลงเข้าด้วยกัน เพียงแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเท่านั้น โดยภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว และกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ พัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ การบริหารจัดการ เชิงอุตสาหกรรมครบวงจร ด้วยการถ่ายทอด เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ประณีตและเหมาะสมกับพื้นที่สู่เกษตรกรในชุมชน โดยวางเป้าหมายในระยะแรก 50 กลุ่มใน 20 จังหวัด โดยกลุ่มต้นแบบจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ในพื้นที่ 5,200 ไร่ แบ่งเป็นการผลิตข้าวคุณภาพดี 5,000 ไร่ และผลิตพันธุ์ข้าว 200 ไร่
แนวทางปฏิบัติ
ในระยะเริ่มโครงการจะมีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยมีหลักพิจารณาอยู่หลายประการ เช่นต้องมีการรวมกลุ่มเข้มแข็งพอสมควรแล้ว มีพื้นที่นาที่เป็นแปลงใหญ่ตั้งแต่ 1-2 ไร่/แปลงขึ้นไป
1. การปลูก
– เขตชลประทาน นาโรย (ข้าวงอก) เป็นแถวเป็นแนว
– เขตอาศัยหน้าฝน นาหยอด (ข้าวเปลือก) เป็นแถวเป็นแนว
2. ใช้เมล็ดพันธุ์ ข้าวคุณภาพดีตามมาตรฐานกรมการข้าว ชั้นพันธุ์ขยายหรือจำหน่าย
3. ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด/ไถกลบตอซัง/ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก โดยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง
4. ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือแผ่นเทียบสี
5. ป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน วางระบบพยากรณ์เตือนภัยศัตรูข้าวและผลิตสารชีวภัณฑ์/สารสมุนไพรใช้เอง
6. จัดการน้ำที่เหมาะสม แบบเปียกสลับแห้งอย่างน้อยให้นามีสภาพแห้ง 1 ครั้ง ช่วงข้าวแตกกอสูงสุด ระบายน้ำเข้านาหลังหว่านปุ๋ย (แนะนำในเขตชลประทานหรือสามารถระบายน้ำออกแปลงนาได้)
7. เก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง ระบายน้ำออกก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยว 7-10 วัน
กลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ
กลุ่มเกษตรกรรมแปลงใหญ่ บ.โนนกระสัง ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยในขณะนี้ทางกลุ่มได้เปลี่ยนรูปแบบการทำนาในหลายๆ อย่างตามคำแนะนำจากนักวิชาการของกรมการข้าวที่เข้ามาดูแลกลุ่ม มีการวางรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น มีหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนชัดเจน โดยทำให้เห็นผลของการพัฒนาค่อยข้างดีในระยะเริ่มแรกนี้ โดยทางกลุ่มมีการดำเนินงานดังนี้
1. ต้องมีการประชุมกลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกันในกลุ่มอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
2. จะมีการเข้ามาสอน และเก็บข้อมูลแปลงนาจากกรมการข้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคัดพันธุ์ปน การเก็บและประเมินความสมบูรณ์ของข้าว
3. มีการจัดสรรเครื่องจักรกลการเกษตรภายในกลุ่มให้ทั่วถึง เป็นธรรม และมีระเบียบ โดยจะมีการทำบัญชีเครื่องจักรกลในกลุ่ม และจัดสรรการใช้งานแก่สมาชิก
4. มีการจัดหาสถานที่จำหน่ายผลผลิตทั้งในรูปแบบ เมล็ดพันธุ์ การเก็บสต๊อก การแปรรูป และช่องทางเพิ่มมูลค่าด้านอื่นๆ โดยปัจจุบัน ส่งขายเป็นข้าวเปลือกให้แก่โรงสีของ สหกรณ์เพื่อการเกษตรพิมาย แต่อนาคตเมื่อโรงสีในชุมชนเปิดทำงานจะหาช่องทางส่งขายในรูปแบบข้าวกล้อง
5. ร่วมกันหาแนวทางการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ทั้งการใช้นาหยอด (10 กก./ไร่) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการงดใช้จนสามารถผ่านมาตรฐาน GAP มาเป็นปีที่ 6 แล้ว
โดยจากการดำเนินงานในฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ทำให้เห็นถึงต้นทุนที่ลดลงได้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของต้นทุนเมล็ดพันธุ์ที่จากเดิมใช้ 30 กก./ไร่ เมื่อทำนาหลอดก็ใช้เพียง 10 กก./ไร่ ต้นทุนค่าไถ่ดิน ค่าเก็บเกี่ยวก็จ้างเครื่องจักรกลการเกษตรได้ราคาที่ถูกลงเนื่อง จากไม่ต้องเสียค่าขนย้ายเครื่องจักรฯ ค่าการดูแลรักษาวัชพืช โรค และแมลงก็ลดลงเนื่องจากข้าวเป็นแถวเป็นแนวง่ายต่อการจัดการดูแล นอกจากนี้จากการประเมินตัวอย่างของกรมการข้าว ยังชี้ให้เห็นว่าผลผลิตข้าวของปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาก คือจากเดิมได้ข้าวเปลือกประมาณ 400 กก./ไร่ ปีนี้คาดการณ์แล้วว่าน่าจะได้ 500 – 600 กก./ไร่ ทำให้เกษตรกรเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน และคิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วที่จะเดินต่อไปในปีหน้า