วิธีแก้ปัญหาโรคจากเชื้อราในแปลงเพาะกล้าและนาข้าว

“เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลของการทำนาปรัง จึงจะขอนำเสนอ กรรมวิธีการป้องกันกำจัดเชื้อรา ที่เป็นปัญหาสำคัญของการเพาะกล้า และการทำนาในปัจจุบัน เพราะถ้าหากเกิดการระบาดของเชื้อราในพื้นที่แล้วนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อีกทั้งโรคพืชในปัจจุบันเกิดการปรับตัวให้ทนต่อสารเคมี เราจึงต้องหาทางออกที่ยั่งยืนมาทดแทนนั้นคือ “วิธีทางชีวภาพที่อาจจะไม่ได้ผลทันใจ แต่ปลอดภัย 100%”

เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคข้าวในปัจจุบันมีด้วยกันหลายชนิด แต่สมุนไพรไทยแท้ที่เราไม่คาดคิดสามารถกำจัดให้เชื้อราหมดฤทธิ์ไปได้ วิธีการก็แสนจะง่ายดายเดี๋ยวจะสาธยายให้รู้กัน

สมุนไพรในสูตรที่ต้องเตรียม

เปลือกมังคุด, เปลือกต้นแค, ตะไคร้หอม, ข่าแก่, ใบกระเพรา, ใบสะเดาแก่, ใบฝรั่งแก่, ใบน้อยหน่า, กระเทียม, กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง 1 กก.

วิธีการและขั้นตอน

1. นำสมุนไพรทั้งหมดในสูตร (หรือเท่าที่หาได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5 ชนิด) โดยรวมกันแล้วต้องได้น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม โดยสมุนไพรแต่ละชนิดมีปริมาณเท่าๆ กัน คิดโดยประมาณก็อย่างละ 3 กิโลกรัม อัตราส่วนไม่ตายตัวแต่ถ้าเพิ่มปริมาณการผลิตก็สามารถทำได้โดยเทียบเคียงสัดส่วนดังที่กล่าวมา แล้วนำสมุนไพรมาสับจนเป็นชิ้นเล็กๆ โดยประมาณก็ขนาด 1 – 2 เซนติเมตร หรือยิ่งเล็กยิ่งดีเพราะสารสำคัญจะถูกสกัดออกมาได้มากขึ้น แล้วนำสมุนไพรที่หั่นแล้วใส่ลงในถังมีฝาที่สามารถปิดสนิทได้ขนาดของถังก็ประมาณ 50 ลิตรพอดีเหมาะ               

2. นำกากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง มาผสมน้ำสะอาดปริมาณ 5 ลิตร คนจนเข้ากันดี แล้วเทลงในถังที่ใส่พืชสมุนไพรไว้แล้ว ใช้ไม้ค่อยๆ คน ค่อยๆ กวนให้ส่วนผสมคลุกเคล้าจนเข้ากันดี

3. หาไม้ไผ่ผ่าแล้วนำมาขัดอัดให้สมุนไพรจมน้ำ แล้วก็ตามด้วยการปิดฝาให้สนิทมิดชิด หมักไว้เพื่อให้เกิดฤทธิ์ประมาณซัก 7 – 10 วัน ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์กำจัดโรค และเชื้อราได้

วิธีการนำไปใช้

ใช้ผ้ามุ้ง หรือผ้าขาวบาง กรองเอาเฉพาะส่วนน้ำนำไปใช้ในอัตราส่วน 20 – 30 มิลลิลิตร (1 – 2 ช้อนโต๊ะ) ผสมน้ำสะอาด 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นในแปลงนา หรือแปลงเพาะกล้า โดยทำการฉีดพ่นในช่วงเย็นทุก 7 – 10 วัน/ครั้ง สามารถป้องกันเชื้อราในข้าว และยังช่วยขับไล่แมลงที่มารบกวนในแปลงเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี

จากการศึกษาทางวิชาการ พบว่า พืชที่มีรสฝาดหลายชนิด จะมีความสามารถป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้ การประยุกต์ใช้พืชสมุนไพรในการเกษตรทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต ทำให้เหลือกำไรมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างได้อีกด้วย

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

วัชพืชเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปลูกอ้อยและส่งผลให้ผลผลิตของอ้อยลดต่ำลงเป็นอันมากรวมถึงการที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการกำจัดวัชพืชไม่ทันตามเวลา โดยความเสียหายจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัชพืชและอายุอ้อยในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอ้อยปลูกสำหรับอ้อยตอนั้น
ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคใต้ 7. ชุดดินรือเสาะ (Rusoseries : Ro) กลุ่มชุดดินที่ 32 การกำเนิด : เกิดจากตะกอนของน้ำพามาทับถมอยู่บนตะพักลำน้ำหรือสันดินริมน้ำ สภาพพื้นที่ : ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความลาดชัน 1-5 % การระบายน้ำ : ดี การซึมผ่านได้ของน้ำ : ปานกลางถึงเร็ว
ชีวภัณฑ์ มิตรคู่เกษตรกร ผู้ปกป้องพืชผักจากศัตรูพืช วิธีการเกษตรที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีห่วงโซ่อาหารเข้ากับเกษตรกรรมอย่างลงตัว อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในยุคที่การใช้สารเคมีไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภค เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งชีวภัณฑ์คืออะไร ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้กับ KUBOTA