นวัตกรรมนาข้าวชาวนาอัจฉริยะ กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองสาหร่าย

กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองสาหร่ายตั้งอยู่ที่ ต. หนองสาหร่าย อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี มีโดยมี คุณแรม เชียงกา ผอ.โรงเรียนชาวนาอัจฉริยะ ได้เล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มและความร่วมมือที่ได้ทำกับทาง ม.รังสิต กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองสาหร่ายเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการกลุ่มและเคยผลิตข้าว ต้นทุนต่ำเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศได้ แต่ก็ยังประสบปัญหาการทำนา ทั้งในด้านขาดปัจจัยการผลิต และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ

แต่เมื่อกลุ่มได้รับความช่วยเหลือจาก ม.รังสิต ที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของกลุ่มในเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยได้มีการออกแบบและสร้างจากโรงสีข้าวต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยีในการ อบ การสี และการบรรจุภัณฑ์ข้าวที่ทันสมัยเช่นเดียวกับโรงสีขนาดใหญ่ แต่ย่อขนาดของโรงสีให้อยู่ในขนาดของชุมชน ซึ่งโรงสีต้นแบบนี้มีกำลังการผลิตได้ถึง 1 ตันต่อชั่วโมง และสามารถเก็บแกลบ รำข้าว ปลายข้าว ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ 

นอกจากการสีข้าวแล้ว ทาง ม.รังสิต มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการช่วยเหลือการทำการเกษตรให้กับทางกลุ่มอีกหลากหลาย เช่น

1) การใช้สถานีวัดสภาพอากาศ ที่ช่วยพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วง 24 ชั่วโมง โดยอัพเดทข้อมูลแบบ Real time บนเว็บไซต์ ให้สมาชิกในกลุ่มสามารถดูข้อมูลได้ตลอดเวลา

2) การพัฒนา โดรนสำรวจแปลงข้าวในการวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวและโรคของข้าว จากการวิเคราะห์ความเขียวของใบข้าว โดรนหว่านเมล็ดข้าว โดรนพ่นปุ๋ย และพ่นยา ซึ่งกำลังพัฒนาและกำลังทดลองใช้กับทางกลุ่มบ้านหนองสาหร่าย

3) การให้ความรู้ การปลูกข้าว GAP และ ข้าว Organic เพื่อยกระดับสร้างมาตรฐานให้กับทางแบรนด์ของกลุ่ม

4) การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวสารพรีเมี่ยม ข้าวพอง ทองม้วน เป็นต้น เพื่อการเพิ่มมูลค่าของสินค้า

ซึ่งจากการช่วยเหลือต่างๆ จึงทำให้ทางกลุ่มผลิตข้าวที่มีมาตรฐาน สามารถสีข้าวเองได้ สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองได้ และเป็นผู้ขายสินค้าเอง อีกทั้งทางคณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต ยังช่วยเรื่องการทำการตลาด ในด้านการออกแบบ  บรรจุภัณฑ์ การหาช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พัฒนาให้กลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบชาวนาอัจฉริยะ และทางกลุ่มยังมีโรงเรียนชาวนาอัจฉริยะที่สอนการทำนาตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นทุกกระบวนการ ซึ่งจะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ที่สนใจและได้รับปัญญาบัตร เป็นสิ่งการันตีให้ผู้เข้ารับการเรียน

สรุป แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการเกษตรของประเทศไทยคือ การรวมกลุ่ม เกษตรกรจะสามารถแบ่งปันองค์ความรู้และการบริหารจัดการเครื่องจักรกันภายในกลุ่มได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการร่วมกลุ่มกันต่อรองราคาข้าวเปลือก ซึ่งจะมีอำนาจการต่อรองกับโรงสีมากกว่าการทำนาแบบต่างคนต่างทำและยังสามารถที่จะสร้างแบรนด์เป็นของกลุ่มเอง เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ตนเองให้มีรายได้มากขึ้น แนวทางเหล่านี้นี่เองที่จะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตถั่วเขียวประมาณ 829,145 ไร่ มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ 4,146 ตัน แต่รัฐผลิตได้ 617 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความต้องการเมล็ดพันธุ์ทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 เกิดปัญหาฝนแล้งทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำนาปรังได้ ประกอบกับนโยบายแทรกแซงราคาข้าวสิ้นสุดลง เกษตรกรจึงหันมาปลูกถั่วเขียวแทน
วันนี้สยามคูโบต้า มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณวีนัด สำราญวงศ์ เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศสาขาทำไร่ ที่มีการปลูกอ้อยแบบลดต้นทุน มีผลผลิตที่ดี และยังมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งเพื่อสร้างเป็นอาชีพอย่างยั่งยืน ที่เกษตรกรรายอื่นสามารถปฏิบัติตามได้อย่างแน่นอน เกษตรกรปลูกอ้อยในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่ ต.หินโคก อ.ลำปลาย