การผลิตขยายมวนเพชฌฆาต

ความสำคัญ

มวนเพชฌฆาต เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติประเภทแมลงห้ำ เป็นแมลงปากดูด ทำลายแมลงศัตรูพืชโดยใช้ปากที่แหลมยาวแทงเหยื่อที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม แล้วปล่อยสารพิษจนเหยื่อเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้จากนั้น จึงดูดกินของเหลวภายใน ตัวเหยื่อจนแห้งตาย

มวนเพชฌฆาตเป็นแมลงห้ำตั้งแต่ระยะตัวอ่อนวัย 1จนถึงตัวเต็มวัยทำลายแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อ และหนอนที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม โดยเฉลี่ยมวนเพชฌฆาต 1 ตัว ดูดกินหนอนผีเสื้อได้ 4-5 ตัว/วัน ดังนั้นมวนเพชฌฆาตจึงเป็นแมลงห้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการลดปริมาณศัตรูพืชในแปลงปลูกพืช

การใช้มวนเพชฌฆาตในการควบคุมแมลงศัตรูพืช

เมื่อสำรวจพบหนอนศัตรูพืช 1-2 ตัว/จุดสำรวจให้ปล่อยมวนเพชฌฆาตทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ประมาณ 100 ตัว/ ไร่ เพื่อควบคุมปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับต่ำ ควรปลดปล่อยซ้ำหากศัตรูพืชยังไม่ลดลง หรือปลดปล่อยจนกว่ามวนเพชฌฆาตจะสามารถตั้งรกรากในธรรมชาติได้ ในกรณีที่สำรวจพบหนอนศัตรูพืชปริมาณสูงในแปลงปลูก ให้ปล่อยมวนเพชฌฆาตในอัตราประมาณ 2,000 ตัว/ไร่ และปลดปล่อยซ้ำทุก 7 วัน ในอัตราเดิมจนกว่าหนอนศัตรูพืชจะมีปริมาณลดลง การใช้มวนเพชฌฆาตในการควบคุมหนอนศัตรูพืชให้ได้ผลดี ควรมีการสำรวจศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสถานการณ์ศัตรูพืชและประเมินผลการควบคุมศัตรูพืช

วงจรชีวิต

มวนเพชฌฆาตมีการเจริญเติบโตแบบ Gradual metamorphosis (การเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย) โดยมี 3 ระยะ คือ ระยะไข่ มวนเพชฌฆาตวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 30-50 ฟอง สีน้ำตาล ลักษณะยาวรี ไข่ใหม่ๆ จะมีเมือกสีขาวปกคลุม อายุไข่ 5-7 วัน จึงฟักเป็นตัวอ่อน  ระยะตัวอ่อน ลำตัวสีแดง ก้นสีดำ ไม่มีปีก ปากมีลักษณะแหลมยาว มี 5 วัย แต่ละวัยจะมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบและเพิ่มขนาด เมื่อฟักออกจากไข่เป็นตัวอ่อนวัย 1 จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ยังไม่กินอาหาร จะเริ่มแยกออกจากกันเมื่อจะลอกคราบเข้าสู่วัย 2 แต่ละวัยมีอายุห่างกันประมาณ 5-7 วัน  ระยะตัวเต็มวัย ลำตัวสีแดง หัวและขาสีดำ มีปีกบางสีดำ คอคอดยาว ปากแหลมยาว หนวดแบบเส้นด้ายสีดำ อายุ 1 เดือน ตลอดอายุขัย ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 442 ฟอง

การเพาะเลี้ยงผลิตขยายมวนเพชฌฆาต

อุปกรณ์

–  กล่องเลี้ยงเป็นพลาสติกใส มีช่องระบายอากาศด้านข้างและด้านบนฝาปิดด้วยมุ้งลวดตาถี่

–  พู่กัน

–  ปากคีบ

–  กระปุกขนาดเล็ก

–  น้ำสะอาด

–  หนอนที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม

–  ชั้นวางเลี้ยง

วิธีการเพาะเลี้ยง

1.  ใส่สำลีชุบน้ำพอหมาดๆ  ลงในกระปุกขนาดเล็ก วางในกล่องเลี้ยง

2.  ใส่มวนเพชฌฆาตเพศผู้และเพศเมีย อัตราส่วน 1:1 ลงในกล่อง ความหนาแน่นขึ้นอยู่กับขนาด 

  กล่องเลี้ยง

3.  ใส่หนอนเพื่อเป็นอาหารสำหรับตัวเต็มวัย

4.  เก็บซากหนอนตาย เช็ดทำความสะอาดกล่อง และให้อาหารสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

5.  เติมน้ำในสำลีเมื่อสำลีแห้ง หากสำลีสกปรกให้เปลี่ยนใหม่

6.  เมื่อมวนเพชฌฆาตเริ่มวางไข่ให้เก็บรวบรวมไข่มวนเพชฌฆาต แยกเลี้ยงในกล่องใหม่โดยวางกระปุกที่มีสำลีชุบน้ำในกล่องเลี้ยง และวางกลุ่มไข่มวนเพชฌฆาตรอบๆ สำลี

7.  มวนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ยังไม่กินอาหาร รอให้ตัวอ่อนเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่มจึงเริ่มให้อาหาร โดยให้เป็นดักแด้หรือหนอนขนาดเล็ก

8.  เมื่อมวนเพชฌฆาตมีการลอกคราบ ให้อาหารเป็นหนอนขนาดใหญ่ขึ้นได้

9.  เก็บซากหนอนตายและคราบมวนเพชฌฆาตออกจากกล่อง เช็ดทำความสะอาดกล่อง และให้อาหาร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เติมน้ำในสำลีเมื่อส้าลีแห้ง

การควบคุมคุณภาพ

1.  อัตราการฟักไข่ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

2.  อัตราการรอดชีวิตถึงตัวเต็มวัย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

3.  ความสมบูรณ์ของตัวเต็มวัย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90

4.  อัตราส่วนเพศ เพศผู้ : เพศเมีย 1:1

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคพืช ตัวการทำลายพืชผล หนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกร หากไม่สามารถยับยั้งได้จะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อพืชผลและเกษตรกร ดังนั้นวันนี้ KAS จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรคพืช เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ป้องกันโรคพืชได้อย่างเหมาะสม จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
การปลูกข้าว ใช้เวลากี่เดือน และเก็บเกี่ยวข้าวเดือนไหนจึงจะได้ผลผลิตดีที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งพันธุ์ข้าว การดูแลระหว่างปลูก และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมไปถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ในการปลูกข้าวเกี่ยวข้าว ต่างก็มีผลทั้งสิ้น โดย KUBOTA จะพาไปดูรายละเอียดที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวกันในบทความนี้
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, Nilaparvata lugens (Stal) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น