เพลี้ยอ่อนข้าวโพด

เพลี้ยอ่อนข้าวโพด (Corn leaf aphid : Rhopalosiphum maidis Fitch.)

มักจะพบเกาะเป็นกลุ่ม ๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนใบ กาบฝัก และจะพบมากที่สุดบริเวณช่อดอกทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง ถ้าช่อดอกมีเพลี้ยเกาะกินอยู่มากจะทำให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อยและทำให้เมล็ดแก่เร็วทั้ง ๆ ที่เมล็ดยังไม่เต็มฝัก นอกจากนี้น้ำหวานที่เกิดจากเพลี้ยอ่อนยังดึงดูดให้แมลงศัตรูชนิดอื่นของข้าวโพด เช่น หนอนเจาะฝักหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด มาวางไข่ที่ไหมข้าวโพดอีกด้วย

รูปร่างลักษณะ :

เพลี้ยอ่อนข้าวโพดเป็นแมลงชนิดเล็กเคลื่อนไหวช้า หัวและอกมีขนาดเล็ก ส่วนท้องโตมีรูปร่างคล้ายผลฝรั่ง ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ตัวเต็มวัยมีสีเขียวอ่อนตลอดทั้งตัว และพบทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ซึ่งเป็นตัวเมียทั้งหมด โดยปกติพวกที่มีปีกจะมีลำตัวเล็กกว่าพวกที่ไม่มีปีก คือ มีความยาวประมาณ 0.7-2 มิลลิเมตร หัว อก หนวด และขามีสีดำ ส่วนท้องมีสีเขียวอ่อนและจุด ๆ สีดำทั่วไป ตรงส่วนท้ายของลำต้นมีท่อเล็ก ๆ ยื่นออกมาคล้ายหาง 2 อัน ท่อนี้เรียกว่า Cornicle ซึ่งเป็นที่ขับถ่ายน้ำหวาน (Honey Dew) ที่เกิดจากการดูดกินน้ำเลี้ยงจากท่ออาหารของพืชโดยปากที่มีลักษณะเป็นท่อยางคล้ายเข็มฉีดยา เพลี้ยอ่อนขยายพันธุ์โดยการออกลูกเป็นตัว มีเพศเมียเพียงเพศเดียว ตัวอ่อนที่ออกมาใหม่ ๆ มีขนาดเล็กมากจะมองเห็นเป็นเพียงจุดสีเหลืองอ่อน ๆ เพลี้ยอ่อนที่ไม่มีปีกจะลอกคราบไม่เกิน 4 ครั้ง ก็จะเป็นตัวแก่ที่สมบูรณ์ ถ้ามีการลอกคราบครั้งที่ 5 ก็จะเป็นพวกที่มีปีก ซึ่งมักจะเกิดเมื่อพืชอาหารไม่สมบูรณ์ เช่น ใบนั้นมีเพลี้ยเกาะกินอยู่อย่างหนาแน่น ขาดน้ำหรือใบแก่ไป เป็นต้น ระยะเวลาจากตัวอ่อนจนเป็นตัวโตเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 12 วัน เมื่อเป็นตัวโตเต็มวัยแล้วก็พร้อมที่จะขยายพันธุ์ได้อีกโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ ภายในเวลาประมาณ 5 วัน หลังจากเป็นตัวเต็มวัย เพลี้ยอ่อนตัวหนึ่งจะออกลูกได้ถึง 45 ตัว แต่โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 19 ตัว ตัวเต็มวัยชนิดไม่มีปีกมีขนาดยาวประมาณ 2-2.3 มิลลิเมตรเท่านั้น ถ้ามีอาหารตลอดทั้งปี ในปีหนึ่งจะมี 30-40 รุ่น

การป้องกันและกำจัด :

ปกติแล้วแมลงชนิดนี้ไม่ทำความเสียหายให้แก่ข้าวโพดมากนัก และมีแมลงศัตรูธรรมชาติบางชนิด เช่น Ladybird, Syrphid fly และ Earwigs คอยช่วยลดปริมาณเพลี้ยอ่อนอยู่แล้วตามธรรมชาติ  แต่ถ้าการระบาดของเพลี้ยอ่อนเกิดขึ้นในระยะที่ข้าวโพดกำลังจะมีเกสรตัวผู้ และเกิดฝนทิ้งช่วงในระยะนี้ก็อาจจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัดเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น การพ่นสารฆ่าแมลงไม่ควรจะพ่นคลุมทั้งพื้นที่ควรจะพ่นเป็นจุด ๆ ที่มีเพลี้ยระบาดอยู่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์และลดค่าใช้จ่าย สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้ผลซึ่งอาจเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งพ่นกำจัด มีดังนี้ Malathion (Malathion 57% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Diazinon (Basudin 60% EC) อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Betacyfluthrin (Bulldock 2.5% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Bifenthrin (Talstar 10% EC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Carbaryl (Sevin 85% WP) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประวัติ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2 เดิมชื่อรหัส เอ็น เอส เอ็กซ์ 022031 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว อายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-115 วัน เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 1 (พันธุ์แม่) และสายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 2 (พันธุ์พ่อ) ซึ่งสร้าง
หอยเชอรี่ (golden apple snail) เป็นหอยทากน้ำจืดชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายหอยโข่งบ้านเรา แต่สีเปลือกอ่อนกว่า (ภาพที่ 1) มีแหล่งกำเนิดอยู่ทางแถบอเมริกาใต้ นำเข้ามาในไทยเพื่อเลี้ยงขายเป็นอาหารและเลี้ยงประดับในตู้ปลา ต่อมาหลุดรอดลงแหล่งน้ำ และถูกปล่อยเมื่อไม่ต้องการ จนกลายเป็นสัตว์ศัตรูข้าวที่สำคัญในประเทศไทย
ปุ๋ยจุลินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด มีทั้งพืชอายุสั้น เช่น พืชตระกลูถั่วต่างๆ ตลอดจนพืชอายุข้ามปี รวมทั้งพืชขนาดเล็ก