การผลิตข้าวโพดหลังนา

การเลือกพื้นที่

ควรเลือกพื้นที่ ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก หลีกเลี่ยงพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีการระบายน้ำไม่ดี

ฤดูปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา

เดือนที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม หรือปลูกทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อใช้ประโยชน์จากความชื้นที่เหลืออยู่ในดิน ซึ่งหากปลูกได้เร็วจะทำให้ต้นข้าวโพดมีการเจริญเติบโตดี และระยะออกดอกไม่ตรงกับช่วงที่อุณหภูมิสูงจนเกินไป การปลูกข้าวโพดในช่วงนี้หากบางปีมีอุณหภูมิต่ำ จะทำให้ข้าวโพดงอกช้ากว่าปกติ หรือแสดงอาการใบ  สีม่วงคล้ายขาดปุ๋ยฟอสฟอรัสในระยะต้นกล้า แต่ต้นจะฟื้นตัวได้เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

การเลือกพันธุ์

เลือกพันธุ์ที่เมล็ดมีคุณภาพดี มีความงอดมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และมีความแข็งแรงสูง เนื่องจากการปลูกข้าวโพดใน  ฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยว ต้องอาศัยความชื้นในดินที่มีค่อนข้างจำกัด ในปัจจุบันพันธุ์ข้าวโพดที่นำมาใช้เป็นพันธุ์ลูกผสมของเอกชน และภาครัฐ เช่น นครสวรรค์3 นครสวรรค์4 และนครสวรรค์5 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร

ลักษณะดิน
ดินที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือ ดินร่วน ดินร่วนเหนียว และดินร่วนปนทราย เนื่องจากเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวโพดในดินที่เป็นดินเหนียวจัด เนื่องจากระบายน้ำไม่ดี โดยค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน (PH)ควรอยู่ระหว่าง 5.5-7.0

การเตรียมดิน

หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวออกจากแปลงนา ควรไถดะ จำนวน 1 ครั้ง แล้วพรวนด้วยโรตารี่ 1-2 ครั้ง เพื่อให้ดินแตกเป็นก้อนเล็กแล้วยกร่องปลูก เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลง ในบางพื้นที่เกษตรกรมีการตัดตอซังข้าวแล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงหลังจากนั้นหยอดเมล็ดตาม

วิธีการปลูก

วิธีการปลูกมีทั้งแบบพื้นราบและแบบยกร่อง ขึ้นกับชนิดของดิน โดยใช้ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระยะระหว่างต้น 20 เซนติเมตร หยอดเมล็ดจำนวน 1 เมล็ดต่อหลุม อัตราเมล็ดที่เหมาะสมคือ 3.0-3.5 กิโลกรัมต่อไร่ จะได้จำนวนต้นประมาณ 10,000 – 11, 000 ต้นต่อไร่

การใส่ปุ๋ย

แบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 : ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยหว่านแล้วพรวนดินกลบ หรือชักร่องเป็นแถวพร้อมหยอดเมล็ด
  • ครั้งที่ 2 : ใส่เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วันหลังปลูกด้วยสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพูนโคนกลบเมื่อดินมีความชื้น
  • ครั้งที่ 3 : เมื่อข้าวโพดอายุ 40-50 วัน หรือเมื่อข้าวโพดเริ่มออกช่อดอกตัวผู้และออกไหม สูตร 46-0-0 อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างร่องปลูกเมื่อดินมีความชื้น

การกำจัดวัชพืช

เมื่อข้าวโพดอายุ 20-25 วัน ทำการกำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูก และใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกครั้ง โดยโรยข้างแถวจากนั้นจึงพรวนดิน แถกล่องกลบด้วยแรงงานคนหรือเครื่องจักรฯ ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการให้น้ำครั้งแรก

การให้น้ำ

การปลูกข้าวโพดโดยอาศัยความชื้นในดินที่หลงเหลืออยู่หลังการเก็บเกี่ยวข้าว ควรมีการตรวจสอบความชื้นของดินหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากความชื้นของดินไม่เพียงพอสำหรับการงอกและการเจริญเติบโตในระยะแรก 1-2 สัปดาห์ ควรมีการให้น้ำก่อนปลูก โดยไถดะพร้อมกับปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ทิ้งไว้จนความชื้นพอเหมาะสำหรับการไถพรวน ถ้าดินมีความชื้นเพียงพอให้ไถดะ พร้อมคราดเพื่อเก็บรักษาความชื้นให้น้ำครั้งแรกหลังปลูก และให้น้ำครั้งต่อไปเมื่อดินแห้ง การปลูกแบบพื้นที่ราบให้น้ำก่อนปลูก การปลูกแบบยกร่องทำการปลูกก่อนให้น้ำ

การเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวข้าวโพดเมื่อข้าวโพดแก่จัด และแห้งสนิทอายุประมาณ 120 วัน หลังปลูก ขึ้นอยู่กับพันธุ์หรือเมื่อต้นข้าวโพดมีใบแห้งหรือเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวหมดทั้งแปลง เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ และไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังฝนตกเพราะเมล็ดจะมีความชื้นสูง ควรปล่อยให้ฝักและต้นข้าวโพดก่อนการเก็บเกี่ยว

บทความที่เกี่ยวข้อง

กำจัดข้าวเรื้อก่อนปลูก เตรียมแปลงโดยตากหน้าดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วใช้โรตารี่หรือขลุบย่ำ กลบตอซัง (ไม่ควรใช้ผานไถเพราะจะกลบเมล็ดข้าวเรื้อลงใต้ดิน ยากต่อการกำจัด) จากนั้นระบายน้ำออกให้หน้าดินแห้ง 2 สัปดาห์ ล่อให้ข้าวเรื้องอกใช้ขลุบย่ำกลับข้าวเรื้อหมักไว้ 3-5 วันก่อนคราดทำเทือกปลูก
ชื่อสามัญ Pineapple disease สาเหตุ เชื้อรา Ceratocystis paradoxa อาการ : เป็นโรคที่เกิดกับท่อนพันธุ์ ทำให้ท่อนพันธุ์มีความงอกต่ำ หน่ออ้อยไม่เจริญเติบโต ผ่าลำดู จะเป็นสีแดงเข้มสลับดำมีกลิ่นเหม็นคล้ายสับปะรด วิธีการแพร่ระบาด : เชื้อราในดินจะเข้าทำลายทางตามรอยแผล และด้านตัดของท่อนพันธุ์ ต้นอ้อยแก่
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต่างทราบกันดีว่าหากเกิดภัยแล้ง จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของอ้อยเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกษตรกรหลายรายพยายามหาวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาอ้อยขาดน้ำ โดยมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในการปลูกอ้อย เช่น การใช้แทรกเตอร์พ่วงด้วยแทงค์น้ำทำการรดน้ำหลังการเพาะปลูกอ้อย