การจัดการดินหลังน้ำท่วม ในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ถูกน้ำท่วม เกิดความเสียหายที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงอายุของปาล์มและสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ ดังนี้ 

1. น้ำท่วมน้อยกว่า 15 วัน

1.1 น้ำที่ท่วมขังไม่มีตะกอนดิน ต้นปาล์มน้ำมันฟื้นฟูตัวเองได้หลังน้ำลด

1.2 น้ำที่ท่วมขังมีตะกอนดินหรือน้ำเน่าเสีย ถ้าท่วมเฉพาะโคนต้นปาล์มน้ำมัน ฟื้นฟูตัวเองได้หลังน้ำลด แต่ถ้าท่วมถึงยอดต้นปาล์มน้ำมันอาจเน่าเสียหาย

2. ปาล์มน้ำมันอายุ 1-3 ปีน้ำท่วมนานกว่า 15 วัน

2.1 น้ำท่วมถึงโคน ถ้าน้ำที่ท่วมขังไม่มีตะกอนดิน ต้นปาล์มน้ำมันจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้หลังน้ำลดแล้ว 30 วัน แต่ทะลายที่ออกในช่วงนั้นเน่าเสียหายทั้งหมด

2.2 มีน้ำท่วมขังถึงยอดต้นปาล์มน้ำมันบางส่วน อาจตายได้หรือทรุดโทรมอย่างมาก ทะลายที่ออกในช่วงนั้นเน่าเสียหายทั้งหมด

3. ปาล์มน้ำมันอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

ปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 3 ปี ระดับน้ำที่ท่วมขังส่วนใหญ่จะไม่ท่วมถึงระดับยอดปาล์มน้ำมัน 

3.1 น้ำท่วมขัง 15 – 30 วัน ต้นปาล์มน้ำมันจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ภายใน 30 วัน หลังน้ำลด   แต่ทะลายที่ถูกน้ำท่วมจะเน่าเสียหายทั้งหมด ทะลายที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำสามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะต่อไป 

3.2 น้ำท่วมขัง 30 – 60 วัน ต้นปาล์มน้ำมันจะเริ่มแสดงอาการใบเหลือง เนื่องจากการขาดธาตุอาหาร รากปาล์มน้ำมันบางส่วนเสียหาย ต้นปาล์มน้ำมันต้องได้รับการฟื้นฟูในระยะสั้นหลังน้ำลดแล้ว และในระยะ ยาว เพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันแข็งแรงและให้ผลผลิตต่อไป 

3.3 น้ำท่วมขังมากกว่า 60 วัน ต้นปาล์มน้ำมันจะทรุดโทรมอย่างมาก ต้องระบายน้ำที่ท่วมขังออกก่อน แล้วจึงฟื้นฟูต้นปาล์มน้ำมันในระยะสั้นหลังน้ำลดแล้ว และในระยะยาวเพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันแข็งแรง และให้ผลผลิตต่อไป

แนวทางการฟื้นฟูดินหลังน้ำลด

          น้ำท่วมสวนปาล์มน้ำมันไม่เพียงแต่จะเสียหาย เฉพาะพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ยังสร้างความเสียหายให้หน้าดินอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมและมีกระแสน้ำหลากจะพัดพาหน้าดินและจุลินทรีย์ไปด้วย ในบริเวณที่น้ำท่วมขังนานจะกระทบต่อความเป็นกรด เป็นด่างของดิน ดังนั้นเกษตรกรต้องฟื้นฟูสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ก่อนที่จะมีการบํารุงต้นหรือปลูกต้นใหม่ทดแทน สามารถดําเนินการได้ดังนี้

1. ไม่เหยียบย่ำบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันโดยเด็ดขาดทั้งคนและสัตว์เลี้ยง หรือนําเครื่องจักรกลเข้าในแปลงปลูก เพราะหน้าดินที่ถูกน้ำขังจะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทําลาย และเกิดการอัดแน่นของดิน จึงเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำและการระบายอากาศ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากพืชทําให้ต้นปาล์มน้ำมันตายได้

2. หลังจากน้ำเริ่มลดลงใกล้แห้ง ต้องรีบดําเนินการป้องกันและแก้ไขความเสียหายที่จะเกิดขึ้น คือหากพบต้นที่เอนใกล้ล้มให้ใช้ไม้ยาวๆ ค้ำยันไว้ โดยไม่เข้าไปเหยียบย่ำโคนต้น จากนั้นต้องระบายน้ำที่แช่ขังบริเวณโคนต้นออกให้หมด ตัดหญ้าทําความสะอาดสวนและคลุมโคนต้นปาล์มด้วยหญ้าแห้ง วางเรียงทางใบรอบต้นรักษาความชื้นไว้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง

3. เมื่อดินเริ่มแห้งให้ตัดแต่งดอกและทะลายที่แช่น้ำออกให้หมด เว้นไว้แต่ดอกที่สมบูรณ์ จากนั้นใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีบํารุงดิน โดยใส่บริเวณรอบๆ ทรงพุ่ม ต้นละประมาณ 3-5 กิโลกรัม สําหรับปุ๋ยหมักที่ใช้ให้ขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ก่อน เพื่อควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน และรดด้วยน้ำหมัก ชีวภาพที่เตรียมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เจือจาง 1:500 เพื่อเร่งการเจริญของระบบรากพืช

4. ในพื้นที่ที่ถูกน้ำพัดพาหน้าดิน ทําให้หน้าดินสูญเสียแร่ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ให้ปรับปรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยหมัก จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในอัตรา 2 ตันต่อไร่ เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์

5. ขอคําแนะนําจากหมอดินอาสาและหรือเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินประจําจังหวัด เพื่อตรวจวิเคราะห์สมบัติของดิน เนื่องจากดินที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นกรดเป็นด่างและปริมาณธาตุอาหารในดิน ถ้าพบว่าดินเป็นกรดให้ใช้วัสดุปูนเพื่อการเกษตร เช่น ปูนมาร์ล หรือ  โดโลไมท์ ในอัตราประมาณ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับสภาพดินและช่วยให้เนื้อดินไม่แน่นทึบ    โดยการหว่านให้ทั่วพื้นที่หรือโดยรอบโคนต้นแล้วไถกลบ จะช่วยให้ดินมีสภาพเป็นกลาง

บทความที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการปรับปรุงบำรุงดินทำได้หลากหลายวิธี โดยการใช้อินทรียวัตถุในรูปแบบต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด การใช้วัสดุคลุมดินหรือการไถกลบตอซังของพืชที่ปลูก แต่หลายๆวิธีการที่กล่าวมานั้นต้องมีการจัดเตรียมหรือจัดหามาจากแหล่งภายนอก บางครั้งต้องเสียค่าใช้จ่าย วิธีการไถกลบ
มันสำปะหลังพันธ์ใหม่ “พิรุณ 2” พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตร สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตั้งแต่ 2549 จากลูกผสมมันสำปะหลัง รุ่น 1 ระหว่างพันธุ์