คลุมดินแปลง(มันสำปะหลัง)ให้ผ่านแล้ง

ภาวะภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งปลูกในสภาพพื้นที่โล่งและขาดสิ่งปกคลุมหน้าดิน ทำให้น้ำส่วนใหญ่ระเหยออกจากผิวดิน เมื่อน้ำในดินลดลงมากและฝนขาดช่วง จึงเกิดสภาพดินแห้ง ต้นมันสำปะหลังขาดน้ำ ทิ้งใบ ไม่ลงหัว และเหี่ยวแห้งตาย

การคายระเหยน้ำ เป็นการสูญเสียน้ำไปจากแปลงปลูกพืช เกิดจาก 2 กระบวนการ คือการระเหยน้ำจากผิวดินและการคายน้ำของพืช ซึ่งการคลุมดินจะช่วยลดการระเหยน้ำจากผิวดินเพราะช่วยลดความแตกต่างของอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ระหว่างดินกับอากาศจึงป้องกันและลดการสูญเสียน้ำไปจากดินได้มาก พืชก็จะสามารถนำน้ำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ยาวนานขึ้นเป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายจากภัยแล้ง

การคลุมดิน

เป็นการใช้วัสดุต่างๆคลุมดิน เช่น ฟางข้าว ใบหญ้าแฝก เศษใบไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการระเหยน้ำจากผิวดิน ช่วยควบคุมอุณหภูมิดิน และเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินสามารถเก็บความชื้นไว้ในดินได้ยาวนานขึ้น ลดปริมาณน้ำไหลบ่า ลดการชะล้างพังทลายของดิน และควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช

ประโยชน์ของการคลุมดิน

1.   คลุมดินหนาประมาณ 5 เซนติเมตร ช่วยลดการระเหยน้ำจากผิวดิน ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

2.   คลุมดินเป็นการรักษาโครงสร้างของดินไม่ให้ดินจับตัวแน่น เป็นแผ่นแข็งทึบ เพราะการคลุมดินเป็นการป้องกันไม่ให้เม็ดฝนที่ตกลงมากระทบกับผิวดินโดยตรง เพิ่มความสามารถในการซึมน้ำของดิน ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลบ่าบนผิวดินลดลง และเพิ่มการกักเก็บน้ำและรักษาความชื้นในดิน

3.  ช่วยป้องกันและลดการเจริญเติบโตของวัชพืช ลดการแย่งน้ำและอาหารระหว่างพืชปลูกกับวัชพืช

4.  ช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นดินโดยตรง จึงช่วยลดอุณหภูมิดินไม่ให้ร้อนจนเกิดอันตรายต่อรากพืช และมีผลทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

5.  วัสดุคลุมดิน เมื่อย่อยสลายจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช

ปริมาณน้ำที่เก็บไว้ในดินได้เพิ่มขึ้น

คลุมดินทำอย่างไร

1.  กำจัดวัชพืชก่อนคลุมดิน เพื่อลดการแย่งน้ำและธาตุอาหารของวัชพืช

2.  ใช้ฟางข้าว ใบหญ้าแฝก เหลือเศษใบไม้ คลุมดินระหว่างร่องแปลงปลูกมันสำปะหลัง คุมหนาไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ช่วยลดการระเหยน้ำจากผิวดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

การดูแลรักษาแปลงอ้อยโดยใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก อ้อยเป็นพืชที่มีการปลูกเป็นแถว มีระยะห่างระหว่างแถวตั้งแต่ 80 – 180 เซนติเมตร ปลูกได้ทั้งแบบร่องคู่และร่องเดี่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะการเจริญเติบโตของแต่ละพันธุ์อ้อยและความอุดมสมบูรณ์ของสภาพดินและน้ำ อีกทั้งเมื่อปลูกแล้วอ้อยยังสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง
การไถเตรียมดินมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้ดินมีสภาพเหมาะแก่การปลูกข้าว การไถครั้งแรกพลิกดินขึ้นมาแล้วเว้นช่วงให้เมล็ดวัชพืชงอก ยิ่งงอกมากยิ่งดี แล้วไถครั้งที่ 2 หรือไถแปรฝังกลบต้นวัชพืชลงในดิน จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้มาก ช่วงเวลาระหว่างไถครั้งแรกกับครั้งที่ 2 ขึ้นกับปัจจัยในการงอกของเมล็ด