การจัดการปัญหาภัยแล้งเชิงพื้นที่

1. การจัดการปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด

ดินเปรี้ยวจัด (acid sulfate soils) มีโครงสร้างดินแน่นทึบ ทําให้ดินมีการระบายน้ำเลว เนื้อดินเป็นดินเหนียวถึงเหนียวจัด เมื่อดินแห้งจะแข็งและแตกระแหง ทําให้ไถพรวนยาก

1.1 การจัดการดิน ควรมีการคลุมดินด้วยวัสดุต่างๆ ด้วยฟางข้าว แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ใบหญ้าแฝก หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วพุ่ม เพื่อรักษาความชื้นในดินไม่ให้เกิดการสูญเสียน้ำหรือขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน และป้องกันวัชพืชขึ้นด้วย ในพื้นที่นาข้าว หลังเก็บเกี่ยวข้าว ฟางข้าวและตอซังข้าวควรทิ้งไว้ในพื้นที่นาเพื่อเป็นการคลุมผิวหน้าดิน หรือหากเกษตรกรจะปลูกพืชหลังนา สามารถปลูกพืชใช้น้ำน้อยบางชนิดหลังเก็บเกี่ยวข้าวได้ เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด แตงโม แตงกวา เป็นต้น 

1.2 การจัดการน้ำ การจัดการน้ำให้เหมาะสมและเพียงพอตลอดฤดูการเพาะปลูก โดยการขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ปลูกพืช รวมถึงการให้น้ำพืชแบบประหยัด เช่น การให้น้ำระบบน้ำหยดในปริมาณที่เหมาะสม

1.3 การจัดการพืช โดยพิจารณาเลือกปลูกพืชที่มีอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น       ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วพุ่ม ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน มันเทศ และผักชนิดต่างๆเกษตรกรสามารถปลูกและเก็บผลผลิตได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำ

2. การจัดการปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดินเค็ม

แนวทางการจัดการดินเค็มในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ผลกระทบที่เกิดเห็นได้ชัดเจนคือการสะสมเกลือที่ผิว ดินส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตพืช และการขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุนทางการเกษตร

2.1 การจัดการดิน

1) ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กากอ้อย และแกลบ เป็นต้น ช่วยให้โครงสร้างดินดีขึ้นลดการนําพาเกลือใต้ดินขึ้นสู่ผิวดิน

2) เลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับระดับความเค็มของดิน 

3) คลุมดินหลังปลูกด้วยวัสดุอินทรีย์ เพื่อลดการระเหยของน้ำ และป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม

4) ปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม และหญ้าชอบเกลือ เช่น ต้นกระถินออสเตรเลีย ยูคาลิปตัส และ หญ้าดิ๊กซี่ เนื่องจากเป็นพืชทนเค็ม และเจริญเติบโตได้ในพื้นที่แห้งแล้ง จึงสามารถช่วยฟื้นฟูดินเค็มให้กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

2.2 การจัดการน้ำ วิธีการให้น้ำต่อการสะสมเกลือในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ควรให้แบบน้ำหยด เป็นวิธีที่ประหยัดน้ำ ควบคุมปริมาณเกลือไม่ให้สะสมในบริเวณรากพืชได้ แต่ต้องลงทุนสูง และหาพืชที่มีราคาสูงมาปลูกจึงจะคุ้มทุน และถ้าน้ำชลประทานที่ใช้รดเป็นน้ำกร่อยก็จะเกิดการอุดตันได้ และการให้น้ำแบบหัวฉีด ถ้าให้สม่ำเสมอกันก็จะควบคุมความเค็มได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงต้องควบคุมปริมาณน้ำให้เหมาะสม ควบคู่กับการคลุมดินเพื่อลดอัตราการระเหยน้ำ และการสะสมเกลือที่ผิวดิน

2.3 การจัดการพืช การจัดการพืชโดยการเลือกชนิดพืชให้เหมาะสมกับระดับความเค็มของดินเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการปัญหาดินเค็ม เพราะพืชแต่ละชนิดมีความสามารถในการทนเค็มได้แตกต่างกัน หรือแม้แต่ชนิดเดียวกันแต่ ต่างพันธุ์ก็มีความสามารถในการทนเค็มได้แตกต่างกัน 

3. การจัดการปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดินทราย

3.1 การจัดการดิน

1) ไถพรวนขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม

2) การปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ร่วมกับปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

3) การปลูกพืชปุ๋ยสด ไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3-4 สัปดาห์ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านโสนอัฟริกัน หรือโสนอินเดีย 6-8 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์)

4) การอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม ปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การใช้วัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นไว้ในดิน

5) การใช้ปุ๋ยเคมีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมากและมีปริมาณธาตุอาหารพืชไม่เพียงพอควร ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยตามความเหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีที่ละลายช้าแบ่งใส่ครั้งละน้อย ๆ เป็นระยะใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสมและควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

3.2 การจัดการน้ำ

1) การจัดการน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เช่น การให้น้ำแบบหยด 

2) พัฒนาแหล่งน้ำและจัดการระบบการให้น้ำในแปลงปลูกให้เหมาะสม เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ 

3.3 การจัดการพืช

1) การเลือกชนิดพืชปลูกที่เหมาะสม ปลูกพืชทนแล้งหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น 

2) ถ้าเป็นพื้นที่ดอน หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 5 % ปลูกพืชไร่ขวางความลาดเท

3) การปลูกพืชสลับเป็นแถบ พืชเหลื่อมฤดู หรือพืชคลุมดิน ระหว่างพืชหลักและพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม หรือปอเทือง แล้วไถกลบในระยะออกดอก ทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพลี้ยกระโดดหลังขาว Sogatella furcifera (Horvath) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยคล้ายกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปีกมีจุดดำที่กลางและปลายปีก และมีแถบสีขาวตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลถึงสีดำ ลำตัวสีเหลือง มีแถบสีขาวเห็นชัดอยู่ตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง มีทั้งชนิดปีก
ต้นฤดูฝน นิยมปลูกประมาณ กลางเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน* โดยปลูกงาก่อนฤดูปลูกข้าว *ขึ้นกับวันเวลาที่ฝนตกครั้งแรกของฤดูกาลและปริมาณการกระจายตัว ของฝนในแต่ละพื้นที่ ปลายฤดูฝน ปลูกประมาณเดือน กรกฎาคม – สิงหาคมโดยจะปลูกในพื้นที่ไร่ หรือพื้นที่ดอนหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ ฤดูแล้ง