เตือนภัยโรคพืช ที่มาในช่วงหน้าหนาว

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่จะเริ่มทำการเพาะปลูกพืชผัก เพราะในช่วงฤดูหนาวพืชผักจะงอกงามอย่างดี แต่อากาศที่หนาวเย็นบวกกับความแล้ง ที่มีหมอกในตอนเช้า แดดแรงในตอนกลางวัน อากาศเย็นในตอนกลางคืน ระวังโรคพืชที่จะตามมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว  ทำให้ผลผลิตน้อย โตช้า ร้ายแรงสุดถึงขั้น ผลผลิตจากลาไปโดยถาวร เรามาดูโรคพืชที่พบได้บ่อยที่สุดว่า  แต่ละโรคเกิดจากเชื้อชนิดไหน มีอาการ และเราควรป้องกันวิธีไหน

1. โรคราน้ำค้าง 

เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Pseudoperonospora cubensis

พบในกลุ่มพืชจำพวกแตง พืชในตระกูลผักกะหล่ำ 

ลักษณะอาการ มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรก บนใบปรากฏแผลฉ่ำน้ำต่อมาแผลจะขยายตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นแผลเป็นรูปเหลี่ยมเล็กๆ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะ ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรค ในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค 

2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศา เซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสาร เมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม 

3. ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง 

4. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศใน แปลงได้ดี และทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง 

5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค เริ่มระบาดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น                         ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5 – 7 วัน 

2. โรคราแป้ง

เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Oidium sp. 

ลักษณะอาการ พบเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดเป็นหย่อมๆ บนใบ มักพบที่ใบส่วนล่างของต้นก่อน        ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมอาการโรคจะกระจายทั่วทั้งใบ และลุกลามขึ้นไปยังใบส่วนบนของต้น ต่อมาใบค่อยๆ ซีดเหลืองและแห้ง ถ้าพืชเป็นโรคในระยะติดผลอ่อน จะทำให้ผลแกร็น บิดเบี้ยว ผิวขรุขระ เป็นตุ่ม หรือแผลที่เปลือก

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข

1. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศใน แปลงได้ดี 

2. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาด พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ทีบูโคนาโซล + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% + 25% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เพนทิโอไพแรด 20% SC อัตรา 5 – 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 – 7 วัน

3. แปลงที่เป็นโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรเก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

3.โรคใบจุดสีม่วง

พบในหอมหัวใหญ่, หอมแดง, กระเทียม

เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Alternaria porri

ลักษณะอาการ อาการเริ่มแรก พบจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็ก ต่อมาแผลขยายออกตามความยาวของใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ เนื้อเยื่อยุบตัว แผลสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลอมม่วง ตรงกลางซีดจางกว่าเล็กน้อย มีแถบสีขาวหรือสีเหลืองส้มล้อมรอบแผล ถ้าอากาศชื้นจะพบผงสปอร์สีดำของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล เมื่อมีหลายแผลขยายต่อกันจะทำให้ใบแห้ง ต้นโทรม หากเชื้อราเข้าทำลายที่ส่วนหัว จะทำให้หัวเน่าเก็บไว้ได้ไม่นาน

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข

1. ก่อนปลูกควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูกหอมและกระเทียม โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์

2. ใช้หัวพันธุ์ที่ปราศจากโรค โดยแช่หัวพันธุ์หรือต้นกล้าก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดฟีโนโคนาโซล 25% EC อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15 – 20 นาที

3. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดฟีโนโคนาโซล 25% ECอัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หากโรคยังคงระบาดควรพ่นซ้ำ ทุก 5 – 7 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4ครั้ง แล้วสลับพ่นด้วย แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40 – 50 กรัมต่อน้ำ20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค

4. โรคเน่าคอดิน

พบในต้นอ่อนของผัก ตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักฮ่องเต้ กวางตุ้ง เป็นต้น

เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Pythium spp.

ลักษณะอาการ โรคเน่าคอดิน แบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ

1) ราเข้าทำลายเมล็ดหรือต้นกล้า ก่อนที่จะงอกพ้นดิน ทำให้เมล็ดไม่งอก หรือรากต้นอ่อนถูกทำลายทันที ทำให้ไม่มีใบเลี้ยงออกมา

2) ราเข้าทำลายส่วนราก ทำให้ต้นกล้าเหี่ยวทั้งต้นและหักล้มและตายก่อนจะแตกใบจริง 

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้ชีววิธี โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยทำการคลุกกับเมล็ดหรือดิน หรือแช่เมล็ดและกิ่งพันธุ์ในอัตรา 200ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 2-10ชั่วโมง 

2. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีที่ฆ่าเชื้อรา (fungicide) ช่วยป้องกัน hypocotyls และradicle ที่งอกมาให้มีความต้านทานต่อรา ที่นิยมใช้คือ captan , dichlone และ thiram

3. ใช้สารเคมีพ่นต้นกล้าในระยะที่ปลูกใหม่ เช่น ziram , chloranil , captan ,soluble coppers ถ้าดินมีเชื้อมากและมีความชื้นสูง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความสำคัญ มวนเพชฌฆาต เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติประเภทแมลงห้ำ เป็นแมลงปากดูด ทำลายแมลงศัตรูพืชโดยใช้ปากที่แหลมยาวแทงเหยื่อที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม แล้วปล่อยสารพิษจนเหยื่อเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้จากนั้น จึงดูดกินของเหลวภายใน ตัวเหยื่อจนแห้งตาย มวนเพชฌฆาตเป็นแมลงห้ำตั้งแต่ระยะตัวอ่อนวัย 1จนถึงตัวเต็มวัยทำลาย
ในปัจจุบันนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการทำเกษตรเป็นอย่างมาก ทำให้รูปแบบการทำเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลง เกษตรกรจึงควรปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและการเกษตร สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว ช่วยให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น