ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา จ.เพชรบูรณ์
การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พื้นที่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม จากการปลูกพืชหลังนา เป็นหนึ่งแนวทางที่สยามคูโบต้าได้สนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทยมาโดยตลอด เพราะนอกจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มแล้ว ยังเกิดความคุ้มค่าในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องจากสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายในทุกฤดูกาลเพาะปลูก ไม่เพียงเฉพาะการปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปลูกพืชหลังนาอย่างเช่นถั่วเขียวอีกด้วย แต่ที่ผ่านมา พบว่าถั่วเขียวที่เกษตรกรปลูกอยู่นั้นยังคงให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างน้อย และมีการใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้และเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ปลูกอย่างเหมาะสม
สยามคูโบต้า จึงได้มีการทำแปลงทดสอบการปลูกถั่วเขียวหลังการทำนา ร่วมกับเกษตรกรที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “แปลงใหญ่ประชารัฐ เกษตรสมัยใหม่” ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ จำนวนพื้นที่ 4 ไร่ เพื่อศึกษาการปลูกถั่วเขียวหลังการทำนา และเปรียบเทียบการปลูกแบบวิธีดั้งเดิมกับการปลูกดัวยการใช้องค์ความรู้ “KUBOTA (Agri) Solutions” เกษตรครบวงจร ซึ่งเป็นระบบการจัดการด้านการเกษตรที่มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำเกษตรในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
สำหรับการปลูกถั่วเขียวด้วยวิธี KAS นั้น ในขั้นตอนการเตรียมดินได้ใช้แทรกเตอร์ ติดอุปกรณ์ผานพรวนและโรตารี่ ทำการไถกลบตอซังข้าวและพรวนดินให้ละเอียดสม่ำเสมอกัน จากนั้นใช้เครื่องหยอดเมล็ดถั่วเขียว ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ให้มีระยะห่างระหว่างต้นที่เหมาะสม เพื่อให้สะดวกในการพรวนดิน ดายหญ้า และใส่ปุ๋ย ส่วนในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้ใช้รถเกี่ยวนวดข้าวติดตั้งอุปกรณ์เก็บเกี่ยวถั่วเขียว เพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตระหว่างเก็บเกี่ยว และยังได้ถั่วเขียวที่มีคุณภาพ หลังจากเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว จะทำการไถกลบต้นถั่วเขียวลงสู่ดิน เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดในการปลูกข้าวครั้งต่อไป เนื่องจากพืชตะกูลถั่วจะมีส่วนช่วยให้ดินมีปริมาณอินทรีย์วัตถุและธาตุไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของข้าว รวมทั้งช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนปริมาณการใส่ปุ๋ยลงได้ด้วย
จากผลการทดสอบ พบว่า การปลูกถั่วเขียวด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ใช้ต้นทุน 21.5 บาท/กก. ได้ผลผลิต 165 กก./ไร่ มีรายได้ 6,222 บาท/ไร่ และได้กำไร 2,672 บาท/ไร่ แต่สำหรับการปลูกด้วยการใช้องค์ความรู้ KAS ใช้ต้นทุน13 บาท/กก. ได้ผลผลิต 244 กก./ไร่ มีรายได้ 9,155 บาท/ไร่ และได้กำไร 5,872 บาท/ไร่ (ราคาขายเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวอยู่ที่ 37.5 บาท/กก.) ซึ่งโดยรวมจะพบว่าการปลูกด้วยวิธี KAS จะได้ผลผลิต รายได้ และกำไรมากว่าวิธีดั้งเดิมที่เกษตรกรนิยมทำกัน
จากความสำเร็จของการทำแปลงทดสอบร่วมกับเกษตรกรในครั้งนี้ สยามคูโบต้า ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ความรู้ด้านการปลูกถั่วเขียวให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะชาวนาไทย ที่จะช่วยให้มีการบริหารการใช้พื้นที่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้วิธีการปลูกถั่วเขียวแบบเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ รวมทั้งได้คุณภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความร่วนซุย สะดวกในการเตรียมดินและไถพรวนในการปลูกข้าวรอบปีถัดไป
หมายเหตุ: ตัวเลขที่ได้จากการทำแปลงทดสอบจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน