“จงใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด”แนวคิดในการทำเกษตรของคุณศศิธร จุ้ยนาม ผู้ซึ่งหันกลับมาสานต่อพื้นที่เกษตรของครอบครัว ต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เกิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีการแปรรูปและหาวิธีลดต้นทุนในการผลิต คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก จนทำให้เกิดเป็นฟาร์มลุงเครา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษกิจพอเพียง
หลังจากคุณศศิธร จุ้ยนาม จบปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ ได้มีความตั้งใจว่าจะกลับบ้านเพื่อสานต่อพื้นที่เกษตรของครอบครัว โดยที่ผ่านมาครอบครัวทำการเกษตรทั้งปลูกข้าว ปลูกผัก ที่จะเน้นปริมาณผลผลิตให้มากแต่ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน คุณศศิธรจึงเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ ด้วยแนวคิดที่ว่า“จงใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด”ทำให้เกิดเป็น “ฟาร์มลุงเครา” บนพื้นที่ 7 ไร่
คุณศศิธรได้นำความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้ภายในฟาร์มลุงเครา จากอาชีพเกษตรกรจนกลายเป็น นักธุรกิจการเกษตรที่มีแนวคิดในการบริหารจัดการเวลาและพื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้คำนึงถึงกลไกราคาของสินค้าเกษตรในแต่ละช่วงฤดูกาล ว่ามีความผันผวนตามความสัมพันธ์ของ ความต้องการของตลาด ทำให้การบริหารการจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีจุดยุทธศาสตร์ของฟาร์มที่ดี คือ ดินดี น้ำดี และขนส่งสะดวก จึงเป็นจุดได้เปรียบในการทำเกษตรแบบครอบคลุม คุณศศิธรกล่าวว่า ดินดีในที่นี้คือ ทำการควักท้องร่องนำดินขึ้นมา ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์และมูลใส้เดือนเพื่อปรับสภาพของดิน ให้อาหารดินถูกเวลา และมีช่วงเวลาให้ดินได้พักฟื้น น้ำดี คือ อยู่ใกล้กับคลองชลประทาน ง่ายต่อจัดการน้ำในแปลง และระบบการขนส่งที่ใกล้ อยู่ในเขตเมือง ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งนำผักไปขาย
นอกจากนั้นทางฟาร์มได้ทำเกษตรแบบผสมผสานภายใต้แนวคิดที่เน้นทำให้ครบวงจร โดยภายในฟาร์มมีผัก ทั้งปลูกแบบยกร่องและแบบโรงเรือน โดย การปลูกแบบยกร่อง จะเน้นปลูกผักให้หลากหลาย ปลูกผักหมุนเวียนและปลูกผักที่มีราคา เช่น ผักกาดหอม มะเขือเทศ พริกเหลือง มะระ แมงลัก และกลุ่มผักสลัดต่างๆ เป็นต้น เพื่อลดปัญหาในการเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ทำให้ลดการใช้สารเคมีและลดต้นทุนการปลูกได้ด้วย
การปลูกแบบโรงเรือน เน้นเป็นผักที่ไม่ต้องดูแล ไม่ยุ่งยาก ตัดขายแล้วแตกยอดขึ้นมาใหม่ เป็นผักในกระแส ตัวอย่างเช่น หญ้าไผ่น้ำ เป็นทั้งไม้ดอกไม้ดอกประดับและสามารถนำมาต้มกินรักษาโรคไตได้ ผักเคลหรือคะน้าใบหยิก เป็นผักยอดฮิตในกลุ่มรักสุภาพ เนื่องจากเป็นผักที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผักใบเขียว มีความต้องการในบริมาณมากขึ้น จึงคิดหาวิธีการเพิ่มพื้นที่ปลูก แต่จะให้สร้างโรงเรือนใหม่ก็ใช้เงินจำนวนไม่น้อย จึงเปลี่ยนมาเป็นการบริหารพื้นที่ภายในโรงเรือนแทน โดยการแบ่งล็อคของกระบะปลูกเพิ่ม และขายต้นพันธุ์เป็นกระถาง ซึ่งกระถางนี้จะวางไว้ชิดขอบของโรงเรือน เป็นการใช้พื้นที่ภายในโรงเรือนให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับขนาดของผักเคล ตั้งแต่ต้นละหลักร้อยจนถึงเกือบหลักพันบาทเลยทีเดียว
เคล็ดลับ ที่จะให้ผักเคลใบหยิกสีม่วง Scarlet Kale จะให้สีม่วงสวย ต้องปลูกด้านนอกโรงเรือน ต้องการแสงแดดตลอกทั้งวัน
รวมทั้งยังมีการทำงานวิจัยในการผลิตผักที่มีคุณภาพ คุณสมบัติทางโภชนาการสูง และแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เคลผง ชาใบเคล เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าภายในฟาร์ม และมีการผลิตปุ๋ยมูลใส้เดือนเพื่อใช้ภายในฟาร์มเป็นทางเลือกในการลดต้นทุน ทำเอง ใช้เอง กำไรงามอีกด้วย ถือว่าเป็นการบริหารพื้นที่ฟาร์ม 7 ไร่ ได้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการเวลาการปลูกผัก ตัวอย่างเช่น การเลือกผักที่นำมาปลูกจะดูระยะเวลาเก็บเกี่ยวให้แตกต่างกัน ทำให้สามารถขายได้ทุกวันและขายได้ตลอดทั้งปี โดยจะเริ่มเก็บผักตั้งแต่เวลา 4.00 น. ทำการคัดเลือกและตัดไปพร้อมๆกัน โดยเลือกต้นที่ใบสวย ขนาดพอเหมาะเหมาะ จากนั้นนำมาล้างโคลนและคัดใบอีกครั้ง บรรจุลงเข่งและนำขึ้นรถไปขาย ผักสดๆจะออกเดินทางจากฟาร์มไปหาผู้บริโภคถึง ใช้รถถึง 3 คัน คันละเกือบ 3 ตันต่อวัน ซึ่งผักที่ออกจากฟาร์มจะตรงไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง ขายที่มาเลเซีย ขายที่หน้าฟาร์ม และส่งเข้าตลาดออนไลน์ เป็นการขายแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนี้เลยก็ว่าได้มีทำให้มีรายได้หลักแสนต่อเดือน
คุณศศิธร เล่าให้ฟังว่า“จะไม่จมปลักกับการเกษตรที่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การปลูกผักชนิดต่างๆ มันมีทั้งที่ดีและเจ๊ง ไม่ได้ผลดีหรือขายได้ดีทั้งหมด ต้องปรับตัวและหาสิ่งที่เหมาะสมกว่าทำต่อไป แต่ก่อนที่จะลงมือทำอะไร ต้องมีการศึกษาก่อน เมื่อทำเกษตรแล้วต้องขายให้ได้ เราถึงจะอยู่ได้
ดังนั้นการทำการเกษตรในปัจจุบัน เราจึงต้องมีความรู้จริง ขยันที่จะการลองผิดลองถูก มีประสบการณ์ มีพันธมิตรทางธุรกิจ ทันตามกระแสเกษตรที่กำลังมา ในเมื่อทุกคนยังต้องกิน ต้องใช้ ตลาดย่อมมีความต้องการ แต่ที่สำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรต้องรู้จักการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีการบริหารเวลาและพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า ลดความเสี่ยงในการทำเกษตร