แก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน มีแต่ดอกตัวผู้

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น พวก Monoecious Plant คือมีทั้งช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกตัวเมีย อยู่ในต้นเดียวกัน แต่ช่วงเวลาการออกดอกไม่พร้อมกัน ช่อดอกตัวผู้ มีช่อดอกย่อยเป็นช่อยาวทรงกระบอก สีเหลืองจำนวนมาก ลักษณะคล้ายนิ้วมือและแต่ละดอกจะมีเกสรตัวผู้ปกติและมีเกสรตัวเมียเป็นหมัน ส่วนช่อดอกตัวเมียมีลักษณะของดอกอวบหนา และแต่ละดอกจะมีกาบหุ้ม ลักษณะเป็นหนามแหลม มีเปอร์เซ็นต์การ    ติดผล 60 ถึง 65 เปอร์เซ็นต์

ในการสร้างดอกตัวผู้หรือดอกตัวเมียของปาล์มน้ำมัน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นปาล์มในช่วงที่มันกำหนดเพศ (sex differentiation) โดยจะเกิดขึ้นในช่วง 20-22 เดือน ก่อนดอกบาน ถ้าช่วงนี้ตาดอกมีความสมบูรณ์ได้รับธาตุอาหาร น้ำ ปุ๋ย และแสงแดด จะเกิดเป็นดอกตัวเมีย ในทางตรงกันข้ามถ้าต้นปาล์มแล้งน้ำ ให้ปุ๋ยน้อย หรือไม่สมบูรณ์เพียงพอ ต้นปาล์มจะออกดอกตัวผู้ ซึ่งในการพัฒนาของตาดอกจนเป็นทะลายปาล์มจะใช้เวลานาน 14-22 เดือน (ตามอายุของปาล์ม) 

ดังนั้นการให้ปุ๋ยและน้ำกับปาล์มจะต้องได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดการพัฒนาของดอก โดยการใส่ปุ๋ย ให้น้ำกับปาล์มในวันนี้จะแสดงให้เห็นใน 1-2 ปี ข้างหน้า ดังนั้นอาการที่ปาล์มแสดงให้เห็นในวันนี้ จึงเป็นผลจากการกระทำเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา

แนวทางป้องกันและแก้ไข คือ เจ้าของสวนจะต้องบำรุงต้นปาล์มให้สมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีทะลายมาก จะต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยเพื่อให้ปาล์มมีอาหารเพียงพอในการเลี้ยงทะลายและเผื่อให้สร้างดอกตัวเมียไปพร้อมกัน ไม่ใช่แค่ปุ๋ยอย่างเดียวน้ำก็สำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ดังนั้นถ้าปลูกปาล์มในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีช่วงแล้งยาวมากกว่า 3 เดือน    ต้นปาล์มจะสร้างทะลายไม่ต่อเนื่อง มีการสร้างดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย ทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่าปาล์มที่ปลูกในพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และมีปริมาณฝนมากนั้นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและชีวภาพ ของปุ๋ยอินทรีย์น้ำแต่ละชนิดที่วิเคราะห์โดยกรมพัฒนาที่ดินและกรมวิชาการเกษตร พบว่าประกอบด้วย ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม (จุลธาตุ) กรดอินทรีย์ พวกกรดฮิวมิก ฮอร์โมน พวกออกซิน จิบเบอร์เรลลิน และไซโตไคนิน เอนไซม์บางชนิด และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์
เกษตรกรไม่ต้องกังวลใจเรื่องปุ๋ยยูเรียแพงแล้วนะ เพราะเราสามารถใช้แหนแดงแทนปุ๋ยยูเรียได้ โดยข้อมูลจากกรมวิชาการการเกษตรระบุไว้ว่าหากปลูกแหนแดง 1 ไร่ จะได้แหนแดง 3 ตัน มีธาตุอาหารเทียบเท่าปุ๋ยยูเรีย 7-10 กิโลกรัม เลยทีเดียว แต่ก่อนจะใช้แหนแดงทดแทนปุ๋ย เรามารู้จักคุณสมบัติ และวิธีการใช้แหนแดงกันก่อน
ดินเค็ม เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเพาะปลูก เนื่องจากมีปริมาณเกลือที่ละลายได้อยู่ในดินมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินเค็มที่มีปริมาณโซเดียมมากเกินไป ได้แก่ ดินโซดิก และดินเค็มโซดิก จะทาให้สมบัติทางกายภาพของดินเสีย อนุภาคดินไม่เกาะตัว เกิดการฟุ้งกระจายได้ง่าย ดินแน่น