การสร้างแปลงเพาะกล้ายาง

หลักพิจารณาสภาพพื้นที่ในการสร้างแปลงเพาะกล้ายาง

1.  พื้นที่สำหรับสร้างแปลงกล้า

–  ควรเป็นที่ราบ สามารถระบายน้ำได้ดี อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การคมนาคมสะดวก ดินร่วน  ดินที่ไม่เหมาะสมคือ ดินทรายจัด และดินเหนียว เพราะการระบายน้ำไม่ดี

2.  การเตรียมดิน

–  ไถพลิกดิน 2 ครั้ง หลังจากนั้นไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง เพื่อให้พื้นที่เรียบสม่ำเสมอในขณะเดียวกัน ควรเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมดในการไถพรวนครั้งสุดท้าย ควรหว่านหินฟอสเฟต(Rock Phosphate)100 กิโลกรัม/ไร่

3.  ชนิดและสิ่งปลูก

–  ปลูกด้วยเมล็ดสด ใช้เมล็ดยางที่เก็บมาจากสวน นำไปปลูกในแปลงโดยเรียงเมล็ด การปลูกโดยวิธีนี้ใช้เมล็ดไร่ละประมาณ 250-300 กิโลกรัม เมื่อเมล็ดงอกจะต้องถอนแยก คัดต้นเลวออกให้เหลือเฉพาะที่แข็งแรงไว้สำหรับติดตา

–  ปลูกด้วยเมล็ดงอก ปลูกโดยการนำเมล็ดมาเพาะเสียก่อนแล้วนำเมล็ดที่เริ่มงอกแต่ยังไม่แตกหน่อ หรือออกรากไปปลูกในแปลง

–  ปลูกต้นกล้า 2 ใบ ใช้ต้นกล้าที่แตกใบแล้ว ซึ่งได้จากการเพาะหรือถอนจากสวนยางไปปลูก

การคำนวณเมล็ดที่ใช้เพาะกล้ายาง

–  เมล็ดยางใหม่ 1 ปิ๊บ หนักประมาณ 9-10กิโลกรัม มีประมาณ 1,800-2,000 เมล็ด เมล็ดยาง  1 กิโลกรัม มีประมาณ 200-240 เมล็ด เมล็ดยาง 1 กระสอบป่านหนักประมาณ 55-60 กิโลกรัมปกติเมล็ดยางใหม่จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกประมาณ 80-90% ถ้าเก็บเมล็ดยางไว้นานเกิน    10 วัน เปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลงเหลือประมาณ 40-50%

การเตรียมแปลงเพาะเมล็ดยาง

1.  ขุดพลิกดินให้ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วพรวนดินให้เป็นก้อนเล็กๆ

2.  เก็บเศษรากไม้ที่ปนอยู่ในแปลงออกให้หมด

3.  ยกแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่ใช้เพาะ

4.  ใช้แกลบหรือขี้เลื่อยเก่าๆ กลบบนแปลงเพาะแล้วเกลี่ยให้สม่ำเสมอ (แปลงเพาะอาจจะทำในระหว่างแถวยางใหญ่ก็ได้ ซึ่งไม่ต้องทำร่มกันแดดให้อีกแต่ถ้าทำในที่โล่งแจ้งจะต้องทำเพิงคลุมให้ร่ม โดยใช้ใบมะพร้าวหรือวัสดุอื่นๆ)

การจัดเรียงเมล็ดบนแปลงเพาะ

1.  เกลี่ยเมล็ดยางให้เรียงกันเพียงขั้นเดียว และสม่ำเสมอกันตลอดทั้งแปลง

2.  คว่ำด้านแบนของเมล็ดยางลงและกดเบาๆ

3.  ใช้แกลบหรือขี้เลื่อยกลบทับอีกครั้งเพียงเบาๆ

4.  รดน้ำบนแปลงเพาะเบาๆ เช้า-เย็น ทุกวัน (หากฝนตกไม่จำเป็นต้องรดน้ำอีก)

5.  หลังจากเพาะเมล็ดได้ 5 วันหมั่นตรวจดูเมล็ดในแปลงเพาะทุกวัน

6.  นำเมล็ดที่งอกแล้วไปปลูกในแปลงชำทุกๆวัน และควรทำด้วยความระมัดระวัง

7.  คัดเมล็ดที่ไม่งอกภายใน 14 วันนับจากวันเพาะทิ้ง เพราะเมล็ดที่งอกหลักจากนี้จะเป็นกล้ายางที่ไม่สมบูรณ์ การทิ้งเมล็ดยางที่งอกแล้วไว้ในแปลงนานๆจะทำให้รากยาว การขนย้ายไปปลูกจะทำให้รากหักเสียหายง่าย

การปลูกในแปลงเพาะกล้ายางโดยใช้เมล็ดงอก

–  หลังจากเตรียมดินในแปลงเรียบร้อยแล้ว การปลูกด้วยเมล็ดงอกใช้ระยะปลูก 15×70 เซนติเมตรหรือ 20×70 เซนติเมตรจะปลูกได้ประมาณ 15,000 ต้น และ 12,000 ต้น ตามลำดับ

การบำรุงรักษาแปลงเพาะกล้ายาง

  แปลงเพาะกล้ายางควรได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้กล้ายางที่เจริญเติบโตแข็งแรงและสมบูรณ์เต็มที่ ในการบำรุงรักษาควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  การกำจัดวัชพืชในแปลงเพาะกล้ายางนิยมใช้สารเคมี เพราะจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าใช้แรงงาน

  ครั้งที่ 1-กำจัดวัชพืชก่อนงอก ทำการพ่นสารเคมีก่อนหรือหลังการปลูก โดยใช้ไดยูรอน  อัตรา 250 กรัม (สารออกฤทธิ์)ผสมน้ำ 80 ลิตรต่อไร่ ใช้หัวฉีดสีแดงเบอร์ 0.078

  ครั้งที่ 2– หลังจากปลูกได้ 6-8 สัปดาห์ ถากวัชพืชให้หมดแล้วพ่นด้วยไดยูรอน อัตรา 120 กรัม(สารออกฤทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อไร่ ใช้หัวฉีดสีเหลือง 0.040

  ครั้งที่ 3– เมื่อต้นกล้ายางอายุ 4 เดือน ให้ถากวัชพืชออก แล้วพ่นตามด้วยไดยูรอน ในอัตราเดิม

  ครั้งที่ 4– ระยะติดตาใช้พาราควอท อัตรา 60 กรัม(สารออกฤทธิ์)ต่อไร่ ผสมน้ำ 50-80 ลิตร ใช้หัวฉีดสีเหลืองเบอร์ 0.040

การใส่ปุ๋ย  ต้นกล้ายางที่ตั้งตัวได้แล้ว ควรใส่ปุ๋ยเป็นระยะๆต้นกล้ายางจะแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว

1.  เตรียมดินใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต(Rock Phosphate)100 กิโลกรัม

2.  ปุ๋ยที่ใช้สำหรับกล้ายาง

–  สำหรับดินทราย ใช้ปุ๋ยผสมสูตร 8-13-7 หรือปุ๋ยเม็ดสูตร 10-5-9

–  สำหรับดินร่วน ใช้ปุ๋ยผสมสูตร 8-14-3 หรือปุ๋ยเม็ดสูตร 11-6-4

3.  ใส่ปุ๋ยทุกระยะ 1-2-3 เดือนหลังปลูกและใส่อีกครั้งก่อนติดตา 1 เดือน

4.  ใช้ปุ๋ยในอัตราครั้งละประมาณ 60 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งหมดจะใช้ปุ๋ยประมาณ 240 กิโลกรัมต่อไร่

วิธีใส่ปุ๋ย

1.  กำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง

2.  การใส่ปุ๋ย 2 ครั้งแรกหว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร โดยหว่านให้ห่างจากแถวยางข้างใดข้างหนึ่งประมาณ 3.5 เซนติเมตร

3.  การใส่ปุ๋ยครั้งต่อไปควรหว่านปุ๋ยให้ทั่วแปลง และควรระมัดระวังอย่าให้ปุ๋ยถูกใบอ่อนของกล้ายาง

การคลุมดินควรคลุมดินเมื่อต้นยางอายุได้ 2 เดือนเป็นต้นไป เพื่อควบคุมวัชพืชและควบคุมความชื้นในดิน ให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ายาง วัสดุที่ใช้ควรเป็นเศษวัชพืช หรือวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ควรใช้วัสดุคลุมดินในระหว่างแถวกล้ายางในท้องที่แห้งแล้ง สามารถติดตาต้นกล้าได้ก่อนการไม่คลุมดิน ประมาณ 2 เดือน

การคัดต้นเลวทิ้งควรกระทำเมื่อต้นกล้ายางได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังจากปลูกควรเลือกถอนต้นยางที่แคระแกร็นหรือต้นยางที่คดงอทิ้ง เหลือไว้ในแปลงสำหรับติดตาเฉพาะต้นกล้ายางที่แข็งแรง ต้นกล้ายางอายุ 6-8 เดือน หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับ 10 เซนติเมตร จากพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า  1 เซนติเมตร สามารถติดตาได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพลี้ยกระโดดหลังขาว Sogatella furcifera (Horvath) เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยคล้ายกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปีกมีจุดดำที่กลางและปลายปีก และมีแถบสีขาวตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง ตัวเต็มวัย มีสีน้ำตาลถึงสีดำ ลำตัวสีเหลือง มีแถบสีขาวเห็นชัดอยู่ตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง
โครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม (นาแปลงใหญ่) คือ การส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มกันเพื่อผลิต ทำให้มีอำนาจในการต่อรอง และสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ โดยไม่ได้รวมทุกแปลงเข้าด้วยกัน เพียงแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเท่านั้น โดยภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว และกิจกรรมการ
ช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน ไม่มีน้ำ ไม่สามารถปลูกพืชได้ ต้องทิ้งพื้นที่เปล่าประโยชน์ และขาดรายได้ หากสามารถขุดบ่อกักเก็บน้ำจะทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี จะมีวิธีการทำอย่างไร ไปดูกัน