ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2

ประวัติ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2 เดิมชื่อรหัส เอ็น เอส เอ็กซ์ 022031 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว อายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-115 วัน เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 1 (พันธุ์แม่) และสายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 2 (พันธุ์พ่อ) ซึ่งสร้างและพัฒนาโดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และดำเนินการประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ฯ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตฯ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตร และทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรจังหวัดต่าง ๆ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,110 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 72 ร้อยละ 16 ให้ผลผลิตใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสมการค้า มีความทนทานแล้ง ต้านทานโรคราน้ำค้างในสภาพการปลูกเชื้อได้ดีมาก

ลักษณะเด่น

– ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,110 กิโลกรัมต่อไร่

– มีความต้านทานโรคราน้ำค้างสูง

– มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก

ลักษณะประจำพันธุ์

คำแนะนำการปลูก

สภาพพื้นที่ปลูก : ข้าวโพดจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดอน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี สภาพดินไม่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป

ฤดูปลูก : ปลูกได้ทั้งต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การปลูกในช่วงระยะเวลาใดเกษตรกรควรคำนึงถึงช่วงที่ข้าวโพดออกดอก (ประมาณ 50 วันหลังปลูก) ต้องมีน้ำเพียงพอ และช่วงเก็บเกี่ยวไม่ควรตรงกับช่วงฝนตกชุก

การเตรียมดิน : ควรมีการไถ 2 ครั้ง ระยะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ครั้งแรกไถดะหรือไถบุกเบิก (ผาล 3) ครั้งที่สองเป็นการไถพรวน (ผาล 7)

ระยะปลูกที่เหมาะสม : ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร หลุมละ 1 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อไร่

การใส่ปุ๋ย : ควรใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใส่ปุ๋ย 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน

– ดินเหนียวสีแดง ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูกและเมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่

– ดินเหนียวสีดำ ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 1 เดือน

– ดินทราย ดินร่วนทราย ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปลูก และเมื่อข้าวโพดมีอายุ 20-25 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงบำรุงดินทุก ๆ 3-4 ปี โดยใส่อัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่

การกำจัดวัชพืช : ควรกำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง ครั้งแรกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอาทราซิน 80 % ชนิดผงอัตรา 300-500 กรัมต่อไร่ หรืออะลาคลอร์ 48 % ชนิดน้ำ อัตรา 500-600 ซีซี.ต่อไร่ ฉีดพ่นหลังปลูกขณะดินมีความชื้นและเมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 1 เดือน ทำการกำจัดวัชพืชอีกครั้ง โดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรกล พร้อมกับใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง

ข้อควรระวังหรือข้อจำกัด : ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2 เป็นพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ไม่แนะนำให้เกษตรกรเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ปลูกในรุ่นต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคกลาง 6. ชุดดินกำแพงแสน (Kamphaeng Saen series : Ks) กลุ่มชุดดินที่ 33 การกำเนิด : เกิดจากตะกอนน้ำพามาทับถมอยู่บนเนินตะกอนรูปพัด สภาพพื้นที่ : ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความลาดชัน 1-5 % การระบายน้ำ : ดี การซึมผ่านได้ของน้ำ : ปานกลาง
การไถเตรียมดินมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดวัชพืช และทำให้ดินมีสภาพเหมาะแก่การปลูกข้าว การไถครั้งแรกพลิกดินขึ้นมาแล้วเว้นช่วงให้เมล็ดวัชพืชงอก ยิ่งงอกมากยิ่งดี แล้วไถครั้งที่ 2 หรือไถแปรฝังกลบต้นวัชพืชลงในดิน จะช่วยลดปริมาณวัชพืชได้มาก ช่วงเวลาระหว่างไถครั้งแรกกับครั้งที่ 2 ขึ้นกับปัจจัยในการงอกของเมล็ด
อ้อยแตกใบเป็นฝอยคล้ายตะไคร้ ใบอาจมีสีเขียวปกติหรือสีซีด ใบเล็กมากถ้าเป็นอ้อยปลูก จะให้ลำเล็กกว่าปกติและจำนวนลำในแต่ละกอน้อย ถ้าเป็นอ้อยตอ จะไม่ได้ลำเลย อาจรุนแรงจนต้องไถทิ้ง