มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 80

มันสำปะหลังพันธุ์ ห้วยบง 80 เป็นมันสำปะหลังที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของนักวิจัยจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย พันธุ์นี้เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และเกษตรศาสตร์ 50 เริ่มแนะนำพันธุ์ให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ปี 2551

พันธุ์ห้วยบง 80 คำว่า “ห้วยบง” หมายถึงตำบลที่ตั้งของสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ส่วน “80” หมายถึง การเฉลิมฉลองพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ลักษณะประจำพันธุ์

จากการทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ตั้งแต่ปี 2541- 2557 ในท้องที่ 13 จังหวัดสำคัญที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากรวม 128 การทดลอง พบว่า พันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือมีแป้งในหัวเฉลี่ยสูงถึง 26.8% ซึ่งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 ผลผลิตหัวสดใกล้เคียงกับพันธุ์ห้วยบง 60 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.9-5.5 ตัน/ไร่ มีลักษณะทรงต้นสูง แตกกิ่งน้อยหรือไม่แตกกิ่ง สะดวกแก่การเก็บเกี่ยว งอกดี ความอยู่รอดสูง สามารถคลุมวัชพืชได้ดี ผลผลิตตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เหมาะสมกับการส่งเสริมในเขตที่มีศักยภาพของผลผลิตสูง

ผลผลิตหัวสดสามารถสกัดแป้งจากหัวสดได้ดีมาก แป้งมีสีขาวและมีความหนืดสูง เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแป้งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเป็นมันสำปะหลังพันธุ์แรกของไทยที่ได้รับการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542

ข้อแนะนำในการปลูก

มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 80 นิยมปลูกในต้นฤดูฝน (มีนาคม – พฤษภาคม) หรือปลายฤดูฝน (ตุลาคม) และพื้นที่ที่เป็นดินเนื้อหยาบ สามารถปลูกได้ในฤดูแล้ง (พฤศจิการยน – กุมภาพันธ์)

การปลูกควรใช้ต้นพันธ์สด หากจำเป็นต้องเก็บต้นพันธ์ไว้ ควรวางตั้งไว้กลางแจ้งให้ส่วนโคนของต้นพันธ์สัมผัสผิวดิน หรือพูนดินกลบให้โคนต้นสัมผัสดิน แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 30 วัน ระยะปลูกขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำให้ปลูกถี่ หากดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงให้ปลูกห่างโดยใช้ระยะระหว่างแถว 0.8-1.0 เมตร ส่วนระยะระหว่างต้นห่างกัน 0.8-1.0 เมตร

การปลูกให้ได้ผลผลิตสูงควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือ 16-8-16 อัตรา 25-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 1-2 เดือน (ในขณะที่ดินมีความชื้น) หรือใส่รวมกับปุ๋ยคอกปรับปรุงดินเช่น ปุ๋ยมูลไก่ อัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ โดยหว่านปุ๋ยคอกก่อนปลูก และไม่ควรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุน้อยกว่า 10 เดือน

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตข้าวในแต่ละฤดู ผลของการจัดการตลอดช่วงฤดูการปลูกข้าวจะมีผลต่อคุณภาพและผลผลิตข้าวในที่สุด ราคาของข้าวเปลือกจากการซื้อขายผลผลิตข้าว นอกจากจะมีการพิจารณาตั้งแต่ความชื้นของข้าวเปลือก ลักษณะของเมล็ดได้แก่ สีเปลือก ขนาดเมล็ด
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต่างทราบกันดีว่าหากเกิดภัยแล้ง จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของอ้อยเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกษตรกรหลายรายพยายามหาวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาอ้อยขาดน้ำ โดยมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในการปลูกอ้อย เช่น การใช้แทรกเตอร์พ่วงด้วยแทงค์น้ำทำการรดน้ำหลังการเพาะปลูกอ้อย