การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์เพื่อเลี้ยงโคนม

จุดกำเนิด ของการปลูกมันสำปะหลังเพื่อเลี้ยงโคนมในระบบอินทรีย์ของประเทศไทย เริ่มต้นจากกระแสการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรต้องการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน แหล่งน้ำ และอากาศ รวมถึงการตอบแทนคุณแผ่นดินซึ่งเป็นที่ทำกินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ อีกทั้งการผลิตในระบบดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต และปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย

คุณสมพร อาภาศิริกุล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ต.ซับสนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นเกษตรกรที่มีแนวคิดก้าวหน้า ปัจจุบันปลูกมันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 1 และ ระยอง 13 ในพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 80 ไร่และเลี้ยงโคนมอินทรีย์จำนวน 50 ตัว โดยสถานที่ดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ของมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกด้วย เริ่มปลูกพืชอินทรีย์ ตั้งแต่ปี 2553 และได้รับการรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์ในปี 2556 ด้วยพื้นที่ ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาและมีการปลูกพืชเป็นแนวกันชน ที่กันแปลงเพาะปลูกของตนออกจากแปลงอื่นๆจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดีภายในแปลง ผลจากกระบวนการผลิตไม่ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์จึงเป็นเหมือนการคืนสมดุลให้กับชีวิตและธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เทคนิคการปลูกมันสำปะหลังระบบอินทรีย์

เริ่มต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 500 กก./ไร่ จากนั้นไถบุกเบิกทั่วทั้งแปลง ตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช โรคพืชและวัชพืช จากนั้นไถพรวนซ้ำอีกครั้ง และตากดินอีก 1 สัปดาห์ หลังจากไถพรวนแล้วปลูกปอเทืองเป็นระยะเวลา 60 วัน จึงไถกลบ จึงเริ่มปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเทคนิคการปลูกจะยกร่องต่ำ หากมีการยกร่องสูงเมื่อใช้แทรกเตอร์ติดอุปกรณ์กำจัดวัชพืชเข้าทำงาน จะปฏิบัติงานได้ยากและทำให้ต้นมันสำปะหลังหัก ต้นล้ม และตายในที่สุดใช้ระยะระหว่างต้น 80 ซม. และระหว่างแถว 90 ซม. 

การกำจัดวัชพืชในระยะแรกก่อนที่ใบมันสำปะหลังจะคลุมพื้นที่ (1 – 2 เดือนหลังปลูก) จะใช้แทรกเตอร์ติดอุปกรณ์กำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูก เมื่อมันสำปะหลังมีอายุ 2 เดือน จึงเริ่มฉีดน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งได้จากการหมักนมน้ำเหลือง ทำการฉีดพ่นจนกระทั่งมันสำปะหลังมีอายุได้ 4 เดือน ซึ่งการทำวิธีดังกล่าวสามารถให้ได้ผลผลิตสูงสุดถึง 5 ตัน/ไร่ การปลูกมันสำปะหลังในระบบอินทรีย์นี้ ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดย 1 ไร่ มีค่าใช้จ่ายของแรงงานประมาณ 1,000 บาท จึงมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาในการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น

การทำมันสำปะหลังหมักที่ปลูกในระบบอินทรีย์เพื่อเป็นอาหารโคนม

1. นำมันสำปะหลังสดเข้าเครื่องสับ และบรรจุลงถุงพลาสติกทำการไล่อากาศออกจนหมด

2. มัดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ในที่ร่ม ระยะเวลา  3 – 7 วัน ก็สามารถนำไปเลี้ยงโคนม (ทดแทนอาหารข้น) โดยจะให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้น หากมีการหมักที่ 21 วันขึ้นไป และยังสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน ราคามันสำปะหลังหมักปัจจุบันราคา 5.50 บาท/กก. (ราคามันสำปะหลังสด ณ เดือนมิถุนายน ราคา 2.30 บาท) ซึ่งข้อดีของการหมักมันสำปะหลัง จะช่วยลดไซยาไนต์ที่เป็นสารพิษใน  มันสำปะหลัง และยังช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนา โดยเฉพาะปริมาณโปรตีน ยังสามารถลดต้นทุนของอาหารข้น ยังเพิ่มปริมาณน้ำนมให้แก่แม่วัวอีกด้วย โดยอาหารที่วัวควรได้รับในแต่ละวันต่อตัว มีดังนี้

มันสำปะหลังหมัก อัตราส่วน 5 กก., รำอ่อน 1 กก. และยีสต์ ½ กก.

การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์เพื่อเลี้ยงโคนม ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกจากการใช้มูลวัวภายในฟาร์มได้ถึง 1,500 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 3 ตัน/ไร่ เป็น 5 ตัน/ไร่ และเมื่อนำมันสำปะหลังมาทำการหมักเป็นอาหารเลี้ยงวัว ยังส่งผลให้คุณภาพน้ำนมของแม่วัวสูง และขายได้ราคาดีขึ้น จากราคาตลาดราคาน้ำนมกก.ละ 19 บาท/กก.เกษตรกรขายได้ 26 บาท /กก. และการทำมันสำปะหลังหมัก ที่เกินกว่าความต้องการของวัวในฟาร์ม ยังสามารถขายเป็นมันสำปะหลังอินทรีย์ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าการขายมันสำปะหลัง จากราคาปกติ 2.3 เป็น 5.5 บาท/กก.ซึ่งเครื่องจักรกลการเกษตรมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถลดต้นทุนด้านแรงงานลงได้ ประหยัดเวลาการทำงานลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และทำให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

มวนง่าม Tetroda denticulifera (Berg) วงจรชีวิตมี 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย
หลายท่านคงมีข้อสงสัยกับคำถามนี้ อันที่จริงแล้วปัญหาข้าวล้ม มีสาเหตุมาจากหลายประการ ตั้งแต่ 1. พันธุ์ข้าว พันธุ์ที่มีต้นสูงจะมีโอกาสล้มได้ง่ายกว่าพันธุ์ต้นเตี้ย 2. มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป และใส่ไม่ถูกช่วงเวลา ปุ๋ยไนโตรเจนมีผลต่อผลผลิตของข้าว แต่ถ้าใส่มากเกินไปจะเป็นการเพิ่มความสูงของต
สูตรเด็ดพิชิตเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (สูตรอาจารย์ทองเหมาะ) พี่เกษตรกรชาวนาบ่นมาว่า เพลี้ยระบาด คราวนี้จึงนำเสนอสูตรเด็ดเคล็ดไม่ลับ ไม่ต้องซื้อสารเคมี แต่ได้ผลอย่างมหัศจรรย์ แค่ต้องลงมือทำนิดนึง สูตรนี้ได้มาจากเกษตรกรคนเก่ง อาจารย์ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง แห่งสุพรรณบุรี เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ