อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โอกาสที่จะขยายตัวอีกมาก สืบเนื่องจากนโยบายการบริหารพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูก ไปสู่การเพาะปลูกอ้อยโรงงาน โดยเมื่อปี 59/60 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยรวมทั้งประเทศกว่า 10 ล้านไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 ตัน/ไร่ โดยนิยมปลูกกันในหลายพื้นที่ อาทิ สุพรรณบุรี ราชบุรี กำแพงเพชร โดยทางสยามคูโบต้า ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับ Antenna Farmer ของสยามคูโบต้า คุณธนากร เขียนวิมล ซึ่งมีประสบการณ์ในการเพาะปลูกอ้อยกว่า 17 ปี ประสบความสำเร็จและมีเทคนิคการเพาะปลูกดีๆ มานำเสนอ
โดย คุณธนากร เขียนวิมล มีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ทำการปลูกอ้อย พันธุ์ขอนแก่น 3 ในพื้นที่กว่า 800 ไร่ โดย เหตุผลที่เลือกปลูกพันธุ์ขอนแก่น 3 เพราะ เป็นพันธุ์ที่มีการแตกกอดี ใบมีลักษณะคลุมพื้นที่ได้เร็ว ทำให้แข่งขันกับวัชพืชได้ดี ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และพันธุ์ดังกล่าว ยังมีความต้านทานต่อโรคแส้ดำและเหี่ยวเน่าแดงอีกด้วย จุดแข็ง ที่สร้างความแตกต่างในการเพาะปลูกคือ การเตรียมดิน เพราะถ้าเตรียมดินดี จะเสมือนการสร้างฐานการผลิตที่สำคัญ คุณภาพของดินจึงเปรียบเสมือน ต้นทุนการผลิต ถ้าดินดี ต้นทุนการผลิตพืชจะต่ำ กำไรย่อมมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า คุณภาพของดินเท่ากับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วย
เทคนิคในการปลูกอ้อย ดังนี้
การเพาะปลูกปี 60/61
เกษตรกร เริ่มต้นปลูกอ้อยในเดือน ธ.ค.ด้วยการเตรียมดิน โดยการไถบุกเบิก 2 ครั้ง ไถพรวนอีก 1 ครั้ง จากนั้นเริ่มปลูกเนื่องจากดินยังมีความชื้นอยู่ การเพาะปลูกในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่จะช่วยเพิ่มอัตราการงอกได้ดียิ่งขึ้น ปลูกด้วยด้วย M95 + SP920 ใช้ปริมาณอ้อย (1 ตัน/ไร่) แล้วให้น้ำต่อเนื่อง 6-7 ชั่วโมง หลังจากปลูก 1 เดือน จึงเข้าสำรวจแปลงเพื่อดูปริมาณวัชพืช หากพบให้รีบกำจัด จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 20-8-20 อัตรา 50 กก./ไร่ จากนั้นในช่วงบำรุงรักษาจนถึงเก็บเกี่ยวคอยตรวจสอบดูแปลงหากพบความผิดปกติให้รีบจัดการ
การเริ่มต้นวางแผนการเพาะปลูกดี จะช่วยให้สามารถจัดการการเพาะปลูกที่ดี โดยการบริหารจัดการภายในแปลงปลูกขนาดใหญ่ ได้ผลผลิตรวม 12 ตัน/ไร่ ราคาขายอยู่ที่ 880 บาท/ตัน และยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นอีกด้วย
โดยวิธีการแนะนำของรูปแบบของ KAS ที่ได้แนะนำแลกเปลี่ยนกับเกษตรกร ดังนี้
การเตรียมดินและการจัดการแปลง เริ่มต้นจากการระเบิดดินดาน และไถกลบวัชพืชจากนั้นพรวนดิน เมื่อเข้าสู่ระยะของการปลูกในระยะต้นเริ่มทำการปลูกพร้อมใส่ปุ๋ยรองพื้น ครั้งที่1 และฉีดสารควบคุมวัชพืชแบบก่อนงอก จากนั้นระยะย่างปล้องจึงใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 พรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช เมื่อต้นอ้อยเริ่มเข้าสู่ระยะสร้างน้ำตาลจึงใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 และพรวนดินกำจัดวัชพืชครั้งที่ 2 ซึ่งในระยะสร้างน้ำตาลนี้ อ้อยมีความต้องการน้ำในปริมาณ 5 มม./วัน ระยะของการเก็บเกี่ยวอ้อยมีควรอายุไม่เกิน 14 เดือน ทั้งนี้ได้แนะนำให้เกษตรกรใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว ช่วยลดการเผาอ้อยและยังลดมลภาวะได้อีกด้วย