เกษตรกรรายย่อย ปลูกอ้อยอย่างไรให้กำไรงาม

เกษตรกรรายย่อย ปลูกอ้อยอย่างไรให้กำไรงาม ชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อย แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางอุทัย สุขศรีพะเนาว์ ได้รับรางวัลดีเด่น ชาวไร่อ้อยที่มีการบริการจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดีเด่น (ประเภทรายเล็ก พื้นที่ปลูกอ้อย 56 ไร่) ทำการเพาะปลูกอ้อยมากว่า 24 ปี มีการปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกตามคำแนะนำของคุณวีนัด ได้ประมาณ 8 ปี ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว โดยใช้ระยะเวลาในการดูแลอ้อยลดลง เกษตรกรปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นหลัก เนื่องจากเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และอากาศในเขตดังกล่าว

เทคนิคสำคัญในการเพาะปลูก

  1. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้กากตะกอนหม้อกรอง (filter cake) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการ ต้มน้ำอ้อย เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุ ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้อ้อยงอกได้สม่ำเสมอแข็งแรง เจริญเติบโตและตั้งตัวเร็ว และยังสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ดี จากนั้นจึงไถกลบ
  2. การเตรียมดินเพื่อปลูก ใช้แทรกเตอร์ต่อพวงผานบุกเบิกทำการไถพื้นที่ และตากดินไว้ 7-14 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช และแมลง
  3. การปลูก จะใช้แทรกเตอร์ต่อพ่วงเครื่องปลูกอ้อย โดยใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุ 10 เดือน การใช้เครื่องปลูกทำให้สามารถปลูกอ้อยได้รวดเร็ว และอ้อยที่โตจะมีความสม่ำเสมอมากกว่าใช้แรงงานคน วิธีการปลูกโดยใช้เครื่องปลูกอ้อยของสยามคูโบต้า โดยกำหนดระยะห่างของการปลูกคือ 150 ซม. พร้อมใส่ปุ๋ยเคมีปูพื้น 1 กระสอบ/ไร่ สูตร 28:10:10 และฉีดพ่นยาคลุม อะทราซีน
  4. การบำรุงรักษา เมื่อผ่านไป 1 เดือน (เดือน พ.ค.) เมื่ออ้อยงอกจึงให้อาหารทางใบ ใช้น้ำหมักขี้หมู โดย

สูตรการทำน้ำหมักขี้หมู อุปกรณ์ ดังนี้

  1. แกลบขี้หมู 5 กก.
  2. พด.2 จำนวน 1 ซอง
  3. กากน้ำตาล 6 ลิตร

วิธีทำ
นำแกลบขี้หมู 5 กก. แช่ในน้ำเปล่า 50ลิตร หมักไว้จำนวน 1 คืน ทำการกรองเอาน้ำหมักขี้หมูที่ได้ นำไปผสมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด2 จำนวน 1 ซอง ผสมกากน้ำตาล 6 ลิตร จากนั้นทำการคนเช้าเย็น ปิดฝาถังแบบไม่ต้องสนิท หมักไว้จำนวน 7 วัน โดยวิธีการนำมาใช้ ดังนี้ นำน้ำหมักขี้หมูที่ได้ 1.5 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 150 มล. (1-2 ฝา) นำไปฉีดต้นอ้อยเพื่อให้อาหารทางใบอ้อย

  1. การเก็บเกี่ยว เนื่องจากพื้นที่ของพี่อุทัยมีเพียง 56 ไร่ จึงใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวเป็นหลัก แต่ถ้ามีคิวรถตัดอ้อยว่างก็เลือกที่จะใช้รถตัดเพราะรวดเร็วกว่ามาก แต่หัวใจสำคัญคือ จะไม่มีการเผาแปลงก่อนตัด โดยเมื่ออ้อยมีอายุ 12 เดือน จะทำการสางกาบใบออกจนหมด และตัดยอดอ้อยให้สั้น ทำการเกลี่ยกาบใบให้ทั่วแปลง
  2. การจัดการแปลงหลังการเก็บเกี่ยว หลังจากทำการเก็บเกี่ยวอ้อยจนหมดแปลงแล้วจะทำการนำน้ำหมักปุ๋ยยูเรียมาฉีดพ่นเพื่อย่อยสลายกาบใบอ้อย ครั้งที่ 1 ฉีดพ่นทันทีหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยไม่ต้องสับหรือแต่งตออ้อย ครั้งที่ 2 เมื่อดินมีความชื้นฉีดพ่นน้ำหมักปุ๋ยยูเรียอีกครั้งเมื่ออ้อยตอมีอายุประมาณ 3-4 เดือน แต่ห้ามฉีดโดนต้นอ้อยและใบอ้อยใหม่เด็ดขาด จะฉีดลงเฉพาะบริเวณกลางร่องอ้อยที่มีใบเก่าทับถมอยู่เท่านั้น

สูตรน้ำหมักปุ๋ยยูเรีย

  1. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 25 กิโลกรัม

  2. น้ำสะอาด 200 ลิตร

ทำการหมักไว้ในถังพลาสติก ปิดฝาให้สนิทเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน น้ำหมักยูเรีย 200 ลิตร สามารถฉีดพ่นแปลงอ้อยได้ประมาณ 4-5 ไร่ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของใบอ้อยที่ตัด (อ้างอิงสูตร : คุณวีนัส – คุณบุญพร้อม สำราญวงศ์ ปราชญ์แผ่นดิน ปี 2560)

การทำอ้อยตอไว้ให้ได้หลายๆ ปี อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ คือการตรวจแปลงเพาะปลูกหลังอ้อยตองอก หากพบจุดที่มีการตายต้องทำการซ่อมทันที โดยใช้การชำข้อตาอ้อย ไว้ในถุงเพาะชำ เมื่อมีอายุ 50-60 วัน ก็สามารถย้ายลงแปลงซ่อมในจุดที่อ้อยตายได้ทันที

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรคนเก่ง ที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มาก แต่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมาพี่อุทัย สามารถเก็บผลผลิตได้เฉลี่ย 16 ตันต่อไร่ และวิธีการจัดการดังกล่าวยังช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีอีกด้วย จากที่เคยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปลูกและรื้ออ้อย ที่ทุกๆ 3 ปีต้องปลูกใหม่แบบวิธีดั้งเดิม ทำให้แทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่เมื่อได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมาเป็นอ้อยหลายต่อเช่นปัจจุบัน ทำให้มีเวลาเหลือมากขึ้น สามารถมาทำการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้งฝอย เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และปลูกผัก ด้วยระบบเกษตรปลอดภัย ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น สุขภาพก็ดีตาม เกิดความสุขอย่างยั่งยืน

Tag:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ จะหาทางออกอย่างไรดี? หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย
ปัจจุบันการค้าข้าวอินทรีย์ยังมีปริมาณน้อยแต่แนวโน้มการบริโภคข้าวอินทรีย์มีมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม การผลิตข้าวเพื่อการค้าโดยทั่วไปจะไม่มีการรับผิดชอบร่วมกัน ดังภาพที่ 1 ส่วนการผลิตข้าวอินทรีย์ เกษตรกรควรรวมตัวกันเพื่อวางระบบการผลิตและการตลาด ซึ่งจะส่งผล
ในปัจจุบันวิธีการปลูกข้าวที่เกษตรกรนิยม คือ การทำนาหว่าน ซึ่งมีข้อดีคือสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการทำนาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การทำนาหว่านข้าวแห้ง จึงเป็นวิธีปลูกข้าวที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การหว่านข้าวแห้งมีข้อเสียด้วยเช่นกัน