ปลูกข้าวหอมมะลิ อย่างไรให้ได้ผลผลิต 700 กก./ไร่

ข้าวที่ดีที่สุดในโลกคือ ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่ผลผลิตที่เกษตรกรปลูกได้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 350-450 กก./ไร่ เท่านั้น แต่มีกลุ่มเกษตรกรบ้านช้างมิ่ง จ.สกลนคร ปลูกข้าวหอมมะลิได้ผลผลิตถึง 700 กก./ไร่ และยังได้ราคาสูงกว่าราคากลางถึง 20% เขามีวิธีการอย่างไรเรามาดูกัน

กลุ่มเกษตรกรบ้านช้างมิ่ง ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

โดยการศึกษาครั้งนี้ผู้ให้ข้อมูลคือคุณประศักดิ์ อุปการ ได้เล่าให้ฟังว่าทำอาชีพปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวชัยนาท เป็นพันธุ์ขยายเพื่อส่งให้แก่ศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวสกลนครมากว่า 20 ปีแล้ว แต่เมื่อก่อนผลผลิตที่ได้ไม่ดีนัก เพราะวิธีการยุ่งยากใช้แรงงานมากจนมีหลายคนต้องเลิกไป แต่ปัจจุบันกลุ่มของตนได้มีการจัดการที่ทันสมัยเข้ามาช่วยโดยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย ทำให้ลดการสิ้นเปลืองแรงงาน ต้นทุน และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยตอนนี้มีเกษตรกรในกลุ่มประมาณ 80 ราย และมีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไร่ละ 650 – 700 กิโลกรัม/ไร่ (ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 350-450 กิโลกรัม/ไร่) และราคาขายจะสูงกว่าราคากลางประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะส่งขายตามโควต้าให้กับศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวสกลนครเป็นพันธุ์เพาะปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรใช้เพาะปลูกต่อไปส่วนที่นอกเหนือโควต้าและจำหน่ายให้แก่โรงสีก็จะได้ราคาดีเพราะข้าวมีคุณภาพ ความบริสุทธิ์สูง

เคล็ดลับของความสำเร็จ  คือ ความใส่ใจในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน การปักดำ ดูแลรักษา จนกระทั้งการเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ผลผลิตมาก ทั้งปริมาณ และคุณภาพ

การเตรียมดิน
 ต้องมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 3 – 5 ตัน/ไร่ แล้วทำการไถดะ 1 ครั้ง ตากดินทิ้งไว้ 7 – 14 วัน แล้วใช้จอบหมุนตีดินให้ละเอียดอีก 1 ครั้ง จากนั้นก็ทำการคราดให้พื้นที่นาสม่ำเสมอ เก็บวัชพืชออกจากแปลงนาให้หมด

การดำนา ใช้กล้าข้าวที่มีอายุ 18 – 20 วัน โดยปักดำด้วยระยะปลูก 25 x 30 เซนติเมตร โดยการดำนาจะมีผลดีคือ ดูแลรักษาง่าย ทั้งการกำจัดวัชพืช ข้าวดีด ข้าวเด้ง ข้าวปะปน และโรคแมลงต่างๆ

การดูแลรักษา ต้องมีการสำรวจแปลงทุกสัปดาห์ คอยกำจัดวัชพืช ข้าวดีด ข้าวเด้ง และข้าวพันธุ์ปะปนนอกสายพันธุ์ โดยสังเกตที่ลักษณะดังนี้ สีของต้นข้าว ออกรวงก่อน ออกรวงหลัง และสีเมล็ดข้าวแตกต่าง ต้องทำการถอนทิ้ง 

การใส่ปุ๋ย หลังจากการดำประมาณ 7 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร  46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ และเมื่อข้าวมีอายุประมาณ 3 เดือน ช่วงก่อนออกใบธงหรือตั้งท้องให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อช่วยให้ข้าวออกรวงสม่ำเสมอกัน

การเก็บเกี่ยว ต้องทำความสะอาดรถเกี่ยวทั้งภายนอกรถและภายในตู้เกี่ยวนวดข้าว อย่าให้มีการปะปนของข้าวพันธุ์อื่น เพราะการเพาะพันธุ์ข้าวขยายนี้ต้องมีความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์สูงประมาณ 93 – 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หากมีข้าวพันธุ์อื่นปะปนเกินมาตรฐานศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวจะไม่รับซื้อโดยการใช้รถเกี่ยว KUBOTA พบว่า ข้าวร่วงหล่นและเมล็ดแตกหักน้อย ประมาณ 10 – 15 กิโลกรัม/ไร่ (เมื่อเปรียบเทียบกับรถเกี่ยวขนาดใหญ่ทั่วไปจะร่วงหล่นและแตกหักประมาณ 50 – 60 กิโลกรัม/ไร่) ทำความสะอาดรถเกี่ยวง่ายใช้เวลาเพียง 1 – 2 ชั่วโมง และในกลุ่มก็ใช้รถเกี่ยวภายในชุมชนช่วยลดการปลอมปน อีกทั้งรถเกี่ยวมีน้ำหนักเบาจึงทำให้พื้นนาเสียหายน้อยด้วย

และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องนำเมล็ดข้าวมาตากประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ ให้ความชื้นไม่เกิน 14 – 15 เปอร์เซ็นต์จึงนำส่งขายให้ศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวต่อไป

การจัดการพื้นนาหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะมีการไถกลบตอซัง เพื่อให้ฟางข้าวย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และทำการหว่านเมล็ดถั่วเหลืองตามลงไปเพื่อเป็นรายได้ในช่วงพักนา และยังเป็นการเพิ่มปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนให้แก่ดินอีกด้วย

กลุ่มเกษตรกรบ้านช้างมิ่งสามัคคีเป็นอีกชุมชนที่มีการรวมกลุ่มพัฒนาการทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ มองหาวิธีการที่ดีที่สุดอยู่เสมอ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง โดยจุดมุ่งหมายต่อไปที่กลุ่มเกษตรกรจะร่วมกันทำคือ เพิ่มผลผลิตให้ได้ 1 ตัน/ไร่ และจะลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเพื่อประหยัดต้นทุนหันมาทำข้าวอินทรีย์ โดยมีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่าย และใช้กันเองในชุมชน

***ข้าวพันธุ์ขยายคือ ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากศูนย์วิจัยข้าวและได้ผ่านการรับรองแล้ว นำมาขยายเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

การไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มผลผลิตข้าว ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ ได้ผลผลิตข้าว 24 ล้านตัน มีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 16.9 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจึงนับได้ว่ามีปริมาณฟางข้าว และตอซังข้าวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับตอซัง
ความสำคัญ มวนพิฆาตเป็นแมลงที่มีประโยชน์ทางการเกษตร เพราะเป็นตัวห้ำดูดกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร แมลงที่เป็นเหยื่อมักเป็นหนอนผีเสื้อต่างๆ หรือตัวอ่อนของด้วงปีกแข็งบางชนิด มวนพิฆาตมีวงจรชีวิตที่สั้น และเลี้ยงง่ายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ของพืชผัก ไม้ดอก พืชไร่ และไม้ผลได้เป็นอย่างดี