โครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม (นาแปลงใหญ่)

โครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม (นาแปลงใหญ่) คือ การส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มกันเพื่อผลิต ทำให้มีอำนาจในการต่อรอง และสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ โดยไม่ได้รวมทุกแปลงเข้าด้วยกัน เพียงแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเท่านั้น โดยภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว และกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ พัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ การบริหารจัดการ เชิงอุตสาหกรรมครบวงจร ด้วยการถ่ายทอด เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ประณีตและเหมาะสมกับพื้นที่สู่เกษตรกรในชุมชน โดยวางเป้าหมายในระยะแรก 50 กลุ่มใน 20 จังหวัด โดยกลุ่มต้นแบบจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ในพื้นที่ 5,200 ไร่ แบ่งเป็นการผลิตข้าวคุณภาพดี 5,000 ไร่ และผลิตพันธุ์ข้าว 200 ไร่


แนวทางปฏิบัติ

ในระยะเริ่มโครงการจะมีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยมีหลักพิจารณาอยู่หลายประการ เช่นต้องมีการรวมกลุ่มเข้มแข็งพอสมควรแล้ว มีพื้นที่นาที่เป็นแปลงใหญ่ตั้งแต่ 1-2 ไร่/แปลงขึ้นไป

1. การปลูก

          – เขตชลประทาน นาโรย (ข้าวงอก) เป็นแถวเป็นแนว 

          – เขตอาศัยหน้าฝน นาหยอด (ข้าวเปลือก) เป็นแถวเป็นแนว 

2. ใช้เมล็ดพันธุ์ ข้าวคุณภาพดีตามมาตรฐานกรมการข้าว ชั้นพันธุ์ขยายหรือจำหน่าย 

3. ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด/ไถกลบตอซัง/ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก โดยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง 

4. ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือแผ่นเทียบสี

5. ป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน วางระบบพยากรณ์เตือนภัยศัตรูข้าวและผลิตสารชีวภัณฑ์/สารสมุนไพรใช้เอง 

6. จัดการน้ำที่เหมาะสม แบบเปียกสลับแห้งอย่างน้อยให้นามีสภาพแห้ง 1 ครั้ง ช่วงข้าวแตกกอสูงสุด ระบายน้ำเข้านาหลังหว่านปุ๋ย (แนะนำในเขตชลประทานหรือสามารถระบายน้ำออกแปลงนาได้)

7. เก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง ระบายน้ำออกก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยว 7-10 วัน

กลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ

กลุ่มเกษตรกรรมแปลงใหญ่ บ.โนนกระสัง ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยในขณะนี้ทางกลุ่มได้เปลี่ยนรูปแบบการทำนาในหลายๆ อย่างตามคำแนะนำจากนักวิชาการของกรมการข้าวที่เข้ามาดูแลกลุ่ม มีการวางรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น มีหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนชัดเจน โดยทำให้เห็นผลของการพัฒนาค่อยข้างดีในระยะเริ่มแรกนี้ โดยทางกลุ่มมีการดำเนินงานดังนี้

1. ต้องมีการประชุมกลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกันในกลุ่มอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง

2. จะมีการเข้ามาสอน และเก็บข้อมูลแปลงนาจากกรมการข้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคัดพันธุ์ปน การเก็บและประเมินความสมบูรณ์ของข้าว

3. มีการจัดสรรเครื่องจักรกลการเกษตรภายในกลุ่มให้ทั่วถึง เป็นธรรม และมีระเบียบ โดยจะมีการทำบัญชีเครื่องจักรกลในกลุ่ม และจัดสรรการใช้งานแก่สมาชิก

4. มีการจัดหาสถานที่จำหน่ายผลผลิตทั้งในรูปแบบ เมล็ดพันธุ์ การเก็บสต๊อก การแปรรูป และช่องทางเพิ่มมูลค่าด้านอื่นๆ โดยปัจจุบัน ส่งขายเป็นข้าวเปลือกให้แก่โรงสีของ สหกรณ์เพื่อการเกษตรพิมาย แต่อนาคตเมื่อโรงสีในชุมชนเปิดทำงานจะหาช่องทางส่งขายในรูปแบบข้าวกล้อง

5. ร่วมกันหาแนวทางการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ทั้งการใช้นาหยอด (10 กก./ไร่) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการงดใช้จนสามารถผ่านมาตรฐาน GAP มาเป็นปีที่ 6 แล้ว

โดยจากการดำเนินงานในฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ทำให้เห็นถึงต้นทุนที่ลดลงได้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของต้นทุนเมล็ดพันธุ์ที่จากเดิมใช้ 30 กก./ไร่ เมื่อทำนาหลอดก็ใช้เพียง 10 กก./ไร่ ต้นทุนค่าไถ่ดิน ค่าเก็บเกี่ยวก็จ้างเครื่องจักรกลการเกษตรได้ราคาที่ถูกลงเนื่อง จากไม่ต้องเสียค่าขนย้ายเครื่องจักรฯ  ค่าการดูแลรักษาวัชพืช โรค และแมลงก็ลดลงเนื่องจากข้าวเป็นแถวเป็นแนวง่ายต่อการจัดการดูแล นอกจากนี้จากการประเมินตัวอย่างของกรมการข้าว ยังชี้ให้เห็นว่าผลผลิตข้าวของปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาก คือจากเดิมได้ข้าวเปลือกประมาณ 400 กก./ไร่ ปีนี้คาดการณ์แล้วว่าน่าจะได้ 500 – 600 กก./ไร่ ทำให้เกษตรกรเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน และคิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วที่จะเดินต่อไปในปีหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง

สยามคูโบต้า นำองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ไปต่อยอดและพัฒนาเกษตรกร ด้วยการทำแปลงทดสอบการปลูกพืชหมุนเวียน (Revolving crop model) ในพื้นที่นาข้าว ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี โดยร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร
การระบาดของแมลงศัตรูอ้อยในช่วงเดือนต่างๆ ได้แก่ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอลายจุดใหญ่ หนอนกอลายใหญ่ หนอนกอลายแถบแดง หนอนกอสีชมพู หนอนกอสีขาว แมลงหวี่ขาวอ้อย เพลี้ยกระโดดอ้อย เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นงวง เพลี้ยกระโดดดำ เพลี้ยหอยอ้อย เพลี้ยอ่อนสำลี เพลี้ยแป้งสีชมพู มวนอ้อย ไรแมงมุมอ้อย ด้วงหนวดยาวอ้อย แมลงนูนหลวง ปลวกอ้อย แมลงค่อมทอง ด้วงขี้ควาย ด้วงดำ ด้วงงวงอ้อย ตั๊กแตนไฮโรไกรฟัส ตั๊กแตนโลกัสต้า ตั๊กแตนปาทังก้า และหนอนบุ้ง
อากาศที่ร้อนและแล้งในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ทำให้เพลี้ยแป้งสีชมพูเพิ่มปริมาณได้รวดเร็วขึ้น ทางนักวิชาการแนะนำว่า อย่าฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพู อย่างเด็ดขาด