
พืชทุกชนิดมีความต้องการธาตุอาหารในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การใช้ปุ๋ย
ให้ถูกวิธี และให้สูตรปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืช จะช่วยเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ
และได้ปริมาณสูงสุด บทความนี้ KAS (KUBOTA (Agri) Solutions) จะมาเจาะลึกเกี่ยวกับปุ๋ย
ประเภทต่าง ๆ ที่เกษตรกรยุคใหม่ควรรู้ พร้อมแนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปุ๋ยคือ อะไร
สารอินทรีย์ หรือ อนินทรีย์ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืช หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมกับพืช พืชสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดี ช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างแข็งแรง คุณภาพและปริมาณผลผลิตสูงขึ้น
ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น
สูตรปุ๋ยคืออะไร
สูตรปุ๋ยหรือเกรดปุ๋ย (Fertilizer grade) จะเป็นการใช้สัญลักษณ์ตัวเลข เพื่อบ่งบอกเปอร์เซ็นโดยน้ำหนัก ของปริมาณ N,P,K (ธาตุอาหารหลัก) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะเขียนไว้ที่กระสอบปุ๋ย เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อธิบายได้ว่า
1.ตัวเลขแรก บอกปริมาณ (N) ไนโตรเจนทั้งหมด 15 กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม
2.ตัวเลขที่สอง บอกปริมาณ (P) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 15 กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม
3.ตัวเลขที่สาม บอกปริมาณ (K) โพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ 15 กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม
แสดงว่า ถ้าเกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จำนวน 1 กระสอบ หนัก 50 กิโลกรัม เท่ากับซื้อธาตุอาหารปุ๋ยเพียง อย่าละ 7.5 กิโลกรัม รวมเป็น 22.5 กิโลกรัม อีก 27.5 กิโลกรัมเป็นสารเติมแต่งให้ปุ๋ยจับตัวกัน (filler)
ปุ๋ยมีกี่ประเภท
สูตรปุ๋ยสามารถแบ่งออกเป็นสามประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม ปุ๋ยประกอบ
1. สูตรปุ๋ยเชิงเดี่ยว
ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หรือ แม่ปุ๋ย เป็นสูตรปุ๋ยที่ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักเพียงชนิดเดียว อาจเป็นธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส หรือ โพแทสเซียม เช่น ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 มีส่วนประกอบของธาตุอาหารคือ ไนโตรเจน (N): 46% ฟอสฟอรัส (P): 0% โพแทสเซียม (K): 0% ซึ่งปุ๋ยประเภทนี้
ใช้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มธาตุอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ หรือใช้ผสมกับปุ๋ยชนิดอื่น
เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ

2. สูตรปุ๋ยเชิงผสม
สูตรปุ๋ยเชิงผสม (mixed fertilizer) หมายถึงปุ่ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีประเภทต่างๆ
เข้าด้วยกันเพื่อ ให้ได้ธาตุอาหารหลักตามต้องการ ไม่ว่าการผสมนั้นจะเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ก็ตาม โดยทั่วไปปุ๋ยเชิงเดี่ยว และปุ่ยเชิงประกอบจะถูกนำมาเป็นแม่ปุ๋ยในการผลิตปุ๋ยเชิงผสม ตัวอย่างสูตรปุ๋ยประเภทนี้ เช่น 15-15-15,16-16-8,16-8-8

3. ปุ๋ยเชิงประกอบ (Compound fertilizer)
ปุ๋ยเชิงประกอบ (compound fertilizer) เป็นปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางเคมีที่ประกอบด้วยธาตุปุ๋ยอย่างน้อยสองธาตุขึ้นไป ซึ่งธาตุปุ๋ยชนิดต่าง ๆ จะอยู่รวมกันในสารประกอบเดียวกัน เช่น สารประกอบหรือแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต (KNO₃) สูตรปุ๋ย 13-0-45 และโพแทสเซียม
เมตาฟอสเฟต (KPO₃) สูตรปุ๋ยที่พบเห็นได้เช่น แอมโมเนียมฟอสเฟต (10-5-0)

วิธีใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
การใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นกระบวนการที่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งชนิดของพืช สภาพดิน และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และ 8 ข้อต่อไปนี้คือวิธีที่สามารถช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด
- วิเคราะห์ดิน ตรวจสอบสภาพดินก่อนการใช้ปุ๋ยจะช่วยให้ทราบถึงความต้องการของดินและพืช เพื่อให้สามารถเลือกปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินได้ และช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย
เกินความจำเป็น - เลือกปุ๋ยที่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยต้องผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยให้ครบถ้วนก่อน ตั้งแต่
สายพันธุ์พืช ความต้องการของพืช ค่าความสมบูรณ์ของดิน สภาพแวดล้อม ไปจนถึง
เป้าหมายของเกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยนั้นด้วย โดยจะใช้เป็นปุ๋ยเคมีที่มีในท้องตลาดอยู่แล้ว หรือใช้เป็นปุ๋ยสั่งตัดที่มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ก็ได้ เช่น ปุ๋ยไนโตรเจน (N) สำหรับพืชที่
ต้องการการเจริญเติบโตของใบ, ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P) สำหรับการพัฒนารากและดอก,
ปุ๋ยโปแตสเซียม (K) สำหรับการเสริมสร้างความแข็งแรงของลำต้นและผล - ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีการเติบโตต่างกัน ความต้องการธาตุอาหารในระดับสูงจึงอยู่ในช่วงที่ต่างกันด้วย เช่น พืชอายุสั้นจะต้องการธาตุอาหารมาก
ในช่วงกำลังแตกกอหรือสร้างตาดอก ไม้ผลต้องการธาตุอาหารทั้งช่วงสร้างใบ สร้างดอก และติดผล รวมถึงต้องการชนิดของธาตุอาหารที่ต่างกัน เป็นต้น ถ้าเราใส่ปุ๋ย
ได้ถูกเวลา พืชก็จะดึงไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าและไม่เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ปุ๋ย
ที่มากหรือน้อยเกินไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นนอกจากการเลือกสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมแล้ว ก็ควรคำนึงถึงปริมาณที่ต้องใช้ของพืช ด้วยเช่นกัน - เวลาการใช้ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เช่น ก่อนการปลูกพืชใหม่หรือในช่วงที่พืชต้องการสารอาหารมากที่สุด หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยในช่วงที่มีฝนตกหนัก เพราะอาจทำให้ปุ๋ยถูกชะล้างไปกับน้ำ
- วิธีการใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยใกล้กับรากพืชแต่ห่างจากลำต้น เพื่อให้รากสามารถดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้น และสำหรับพืชที่ปลูกในกระถาง ควรใส่ปุ๋ยรอบขอบกระถางเพื่อให้สารอาหารกระจายตัวอย่างเท่าเทียม
- การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินสามารถกักเก็บน้ำและสารอาหารได้ดีขึ้น และควรใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด
- การใช้เทคโนโลยีในการจัดการปุ๋ย ใช้ระบบการจัดการปุ๋ยอัตโนมัติหรือการใช้เครื่องมือวัดค่า NPK ในดินเพื่อให้การใช้ปุ๋ยมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
- การหมุนเวียนพืช การปลูกพืชหมุนเวียนสามารถช่วยให้ดินไม่ถูกใช้สารอาหารจนหมดและช่วยลดการสะสมของโรคแมลงศัตรูพืชในดิน
การปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวจะช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชได้อย่างยั่งยืน
การใช้ให้ถูกสูตร ถูกอัตรา

การใช้ปุ๋ยถูกสูตร เหมาะกับชนิดพืชและดิน จะช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตครบถ้วน ซึ่งปุ๋ยแต่ละสูตรจะให้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ปุ๋ยสูตรตัวเลขตัวแรกมาก (N-ไนโตรเจน) เน้นบำรุงการเจริญเติบโตของพืช ใบ กิ่ง และลำต้น เพิ่มความเขียวให้พืชผัก

- ปุ๋ยสูตรตัวเลขตรงกลางมาก (P-ฟอสฟอรัส) เน้นบำรุงราก และการสร้างเซลล์พืช

- ปุ๋ยสูตรตัวเลขท้ายมาก (K-โพแทสเซียม) เน้นบำรุงผลหรือหัว เร่งเพิ่มผลผลิต เพิ่มขนาด น้ำหนักและรสชาติของพืช

การใส่ปุ๋ยให้พืชในช่วงเวลาที่พืชต้องการ
การใส่ปุ๋ยให้พืชในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พืชสามารถใช้สารอาหารได้
อย่างเต็มที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตของพืช ต่อไปนี้คือแนวทางการใส่ปุ๋ย
ตามช่วงเวลาต่าง ๆ
ช่วงก่อนปลูก (Pre – planting)
เตรียมดิน: ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงในดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและปรับปรุงโครงสร้างของดิน
ปุ๋ยพื้นฐาน: ใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุฟอสฟอรัส (P) สูง เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากพืช
- ช่วงปลูก (Planting)
- ปุ๋ยต้นกล้า : ใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน (N) เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของใบและลำต้น
- ช่วงการเจริญเติบโต (Growing phase)
- ปุ๋ยบำรุงใบ: ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน (N) สูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย เพื่อช่วยให้พืช
มีการเจริญเติบโตของใบที่ดี - ปุ๋ยเสริม: ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารรอง (เช่น แมกนีเซียม, แคลเซียม) เพื่อเสริมสร้าง
ความแข็งแรงของพืช - ช่วงออกดอก (Flowering phase)
- ปุ๋ยบำรุงดอก: ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัส (P) สูง เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของดอก
- ช่วงติดผล (Fruiting phase)
- ปุ๋ยบำรุงผล: ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียม (K) สูง เพื่อช่วยให้ผลมีขนาดใหญ่ แข็งแรง
และมีคุณภาพดี - ช่วงหลังการเก็บเกี่ยว (Post-harvest)
- ปุ๋ยฟื้นฟู: ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อฟื้นฟูสภาพดินและเตรียมพร้อมสำหรับการปลูก
ครั้งต่อไป - เทคนิคการใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยในช่วงฝนตกหนัก เพราะปุ๋ยอาจถูกชะล้างไปกับน้ำฝน ทำให้ไม่ได้ผล
เต็มที่ - ใส่ปุ๋ยในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อลดการระเหยของปุ๋ยและเพื่อให้พืชสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดี
- ใส่ปุ๋ยตามความต้องการของพืช สังเกตสภาพการเจริญเติบโตของพืชและใส่ปุ๋ยเมื่อพืชต้องการสารอาหารเสริม
การปฏิบัติตามแนวทางการใส่ปุ๋ยตามช่วงเวลาต่าง ๆ นี้จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงและมีผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด
การใส่ปุ๋ยให้ถูกตำแหน่งช่วยให้พืชนำไปใช้ได้ง่าย
การใส่ปุ๋ยให้ถูกตำแหน่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากตำแหน่งที่เหมาะสมจะช่วยให้พืชสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น และลดการสูญเสียของปุ๋ยที่เกิดจากการชะล้างหรือการกระจายตัวไปในดิน
โดยเปล่าประโยชน์ ต่อไปนี้คือแนวทางในการใส่ปุ๋ยให้ถูกตำแหน่ง โดยแนะนำว่าควรเป็นจุดที่ใกล้กับบริเวณราก แต่ต้องระวังไม่ให้ใกล้จนเกินไป ไม่อย่างนั้นอาจเป็นอันตรายต่อระบบรากได้เหมือนกัน
1. การใส่ปุ๋ยรอบโคนต้น
ใส่ปุ๋ยในระยะห่างจากโคนต้นประมาณ 15-20 ซม. หรือเท่ากับระยะของรากพืช (สังเกตได้จากระยะของทรงพุ่ม) เพื่อให้รากสามารถดูดซึมสารอาหารได้ง่าย อย่าใส่ปุ๋ยใกล้โคนต้นเกินไปเพราะอาจทำให้รากเกิดความเสียหายหรือไหม้ได้ เพราะปุ๋ยเคมีบางชนิดมีความเข้มข้นสูง ถ้าใส่ลงไปตรง ๆ ใกล้กับรากพืชอาจจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณประโยชน์
2. การใส่ปุ๋ยเป็นแถบ
สำหรับพืชที่ปลูกเป็นแถว เช่น ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง สามารถใส่ปุ๋ยเป็นแถบข้าง ๆ แถวพืชเพื่อให้รากสามารถเจริญเติบโตไปหาแถบปุ๋ยได้

3. การใส่ปุ๋ยในหลุม
ในกรณีที่ปลูกพืชแบบใช้หลุม เช่น มะม่วง หรือไม้ผลอื่น ๆ ควรใส่ปุ๋ยในหลุมที่เตรียมไว้ก่อนปลูก และใส่รอบ ๆ หลุมเพื่อให้สารอาหารกระจายตัว
4. การใส่ปุ๋ยบนพื้นผิวดิน
สำหรับพืชคลุมดินหรือพืชที่มีระบบรากตื้น ควรใส่ปุ๋ยบนพื้นผิวดินและคลุกเคล้าเล็กน้อยเพื่อป้องกันการชะล้าง
ในกรณีของพืชที่ปลูกในกระถาง ให้ใส่ปุ๋ยรอบขอบกระถางเพื่อให้ปุ๋ยกระจายตัวอย่างทั่วถึง
5. การใส่ปุ๋ยในระบบน้ำ
ใช้ระบบการให้น้ำผสมปุ๋ย (Fertigation) ซึ่งเป็นการผสมปุ๋ยลงในระบบน้ำเพื่อให้ปุ๋ยกระจายตัวและซึมเข้าสู่ดินพร้อมกับน้ำ
วิธีนี้เหมาะสำหรับพืชในเรือนกระจกหรือพืชที่ปลูกในระบบน้ำหยด
6. การใช้ปุ๋ยเม็ดหรือปุ๋ยน้ำ
สำหรับปุ๋ยเม็ด ควรดูชนิดของพืช เนื้อดิน และความต้องการเร่งด่วนหรือไม่ เพื่อที่จะใส่ปุ๋ยที่มีการละลายช้า หรือละลายเร็วในดินรอบ ๆ พืช เพื่อการนำไปใช้อย่างทันท่วงที
สำหรับปุ๋ยน้ำ ควรฉีดพ่นให้ทั่วใบและลำต้น เพื่อให้พืชสามารถดูดซึมทางใบและรากได้
7. การใส่ปุ๋ยตามระยะการเจริญเติบโต
ใส่ปุ๋ยในช่วงที่พืชมีการเจริญเติบโตสูงสุด เช่น ในช่วงการออกดอก หรือการเติบโตของผล
หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยในช่วงที่พืชอยู่ในระยะพักตัว
8. การผสมปุ๋ยกับดิน
การผสมปุ๋ยเข้ากับดินก่อนการปลูก ปุ๋ยรองก้มหลุม หรือปุ๋ยรองแปลงจะช่วยให้สารอาหารกระจายตัวทั่วถึงและพืชสามารถดูดซึมได้ง่ายการใส่ปุ๋ยให้ถูกตำแหน่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารของพืช แต่ยังช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ยและเพิ่ม
ความคุ้มค่าในการใช้ปุ๋ยอีกด้วย
ตัวอย่างการผสมสูตรปุ๋ย

การผสมสูตรปุ๋ยต้องพิจารณาถึงความต้องการของพืชและสภาพดิน ตัวอย่างเช่น สำหรับพืชผักสวนครัวที่ต้องการการเจริญเติบโตเร็ว เช่น ต้นหอม กระเทียม กระเพรา ฯลฯ อาจใช้สูตรปุ๋ย 20-10-10 ที่มีไนโตรเจนสูง แต่สำหรับพืชผลที่ต้องการการออกดอกและติดผล เช่น
มะเขือเทศ อาจใช้สูตรปุ๋ย 10-20-20 ที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง
สรุปเกี่ยวกับสูตรปุ๋ย
การใช้สูตรปุ๋ยให้ดีที่สุดต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างและปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง การเลือกสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชและสภาพดิน รวมถึงการใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่เหมาะสมและวิธีการที่ถูกต้อง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารและเพิ่มผลผลิตของพืชอย่างมีประสิทธิภาพ