ปุ๋ย คืออะไร มีกี่ประเภท มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ก่อนปลูกพืชต้องอ่าน!

ปุ๋ย คืออะไร มีกี่ประเภท มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ก่อนปลูกพืชต้องอ่าน!

ปุ๋ย หนึ่งในตัวช่วยของเกษตรกร ที่จะยกระดับประสิทธิภาพของการเพาะปลูก ปลูกผักก็ขึ้นงาม ปลูกผลไม้ก็โตง่าย เพิ่มผลผลิตให้งอกเงยสมบูรณ์ ได้ผลผลิตตามต้องการ และมีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งบทความนี้ KUBOTA จะมาเจาะลึกทุกรายละเอียดทุกประเด็น
ของปุ๋ย จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

ปุ๋ยคืออะไร ? ช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างไร

ปุ๋ย คือ สารอินทรีย์ หรือ อนินทรีย์ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ สำหรับใช้
เป็นธาตุอาหารแก่พืช หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมกับพืช พืชสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดี ช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างแข็งแรง มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

ปุ๋ย

ปุ๋ยมีกี่ประเภท ? มีข้อดี – ข้อเสียอย่างไร

ปุ๋ยสามารถแบ่งได้ 4 ประเภทตามกรรมวิธีการผลิต และแหล่งที่มา ดังนี้

1. ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ (เศษซากพืช สัตว์ จุลินทรีย์) ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น ทำให้ชื้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด ฯลฯ ทำให้วัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายโดยสมบูรณ์ (ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลาย) โดยปุ๋ยอินทรีย์จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. ปุ๋ยคอก: ปุ๋ยที่ได้มาจากมูลของสัตว์ต่าง ๆ เช่น วัว ควาย ไก่ หมู ฯลฯ นำไปหมัก
    ให้เกิดการย่อยสลาย สามารถนำมาใช้ได้ทั้งแบบสดหรือตากแห้ง
  2. ปุ๋ยหมัก: ปุ๋ยที่ได้มาจากเศษซากของพืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เช่น ตอซังข้าว/ข้าวโพด เศษผลไม้ แกลบ ฯลฯ โดยนำมาหมักจะทำให้ได้อินทรีย์วัตถุที่มีสีน้ำตาล
    จึงสามารถนำไปใช้ได้
  3. ปุ๋ยพืชสด: ปุ๋ยที่ได้มาจากการปลูกพืชบำรุงดิน เมื่อระยะพืชเจริญเติบโตเต็มที่หรือระยะพืชกำลังออกดอก ให้ทำการไถกลบกลายเป็นปุ๋ยพืชสด โดยพืชที่นิยมนำมาทำได้แก่ ปอเทืองหรือพืชตระกูลถั่วเป็นต้น
  4. ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์: ปุ๋ยอินทรีย์จะมีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูง ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น (เกิดการร่วนซุย) และไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ
  5. ข้อเสียของปุ๋ยอินทรีย์: มีปริมาณธาตุอาหารต่าง ๆ น้อย จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับปุ๋ย
    ชนิดอื่นเพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการพืช
ปุ๋ยอินทรีย์

2. ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม เป็นสารประกอบอนินทรีย์
ที่ให้ธาตุอาหารแก่พืช เป็นสารประกอบที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน
ที่มีความชื้นเหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว โดยแบ่งได้เป็น
2 ประเภท ดังนี้

  1. ปุ๋ยเดี่ยว หรือ แม่ปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารคือไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบอยู่หนึ่งหรือสองธาตุแล้วแต่ชนิด ของสารประกอบที่เป็นแม่ปุ๋ยนั้น ๆ มีปริมาณของธาตุอาหารที่คงที่ และมีความเข้มข้นสูง มักนำมาใช้ ผสมเป็นปุ๋ยสูตรต่าง ๆ โดยแม่ปุ๋ยสามารถดูจากตัวเลขบนถุงที่จะมีเพียง 1 ชนิด เช่น ปุ๋ยไนโตรเจน (46-0-0), ปุ๋ยฟอสฟอรัส (18-46-0), ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เป็นต้น
  2. ปุ๋ยผสม เป็นปุ๋ยที่มีการนำแม่ปุ๋ย หลายชนิดมาผสมรวมกัน เพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณ และสัดส่วนของธาตุอาหาร N P และ K ตามที่ต้องการ เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่เหมาะจะใช้กับพืช
    และดินที่แตกต่างกัน เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15, ปุ๋ยสูตร 16-8-8 เป็นต้น

ข้อดีของปุ๋ยเคมี

  • ปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชได้เร็ว พืชใช้ประโยชน์ได้ทันที
  • มีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงมาก (ใช้ปริมาณน้อยก็เพียงพอ)
  • ราคาถูกเมื่อเทียบต่อหน่วยธาตุอาหารพืช หาซื้อได้ง่าย และใช้สะดวก

ข้อเสียของปุ๋ยเคมี

  • ปุ๋ยแอมโมเนียม (46-0-0) ทำให้ดินเป็นกรด เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ทำลายโครงสร้างดิน ดินเสื่อมโทรมได้ง่าย
  • มีความเค็มที่มาก ทำให้ต้องตรวจสอบปริมาณที่ใช้กับพืชทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมี

3. ปุ๋ยชีวภาพ

ปุ๋ยชีวภาพ หรือ ปุ๋ยจุลินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่นำเอาจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพดิน ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ ชีวเคมี ช่วยให้ดินมีความเหมาะสมพร้อมสำหรับการปลูกพืช
โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.กลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์สารประกอบอาหารพืชไนโตรเจนได้เอง เช่น แบคทีเรีย
ไรโซเบียมที่อยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่ว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ในโพรงใบของแหนแดง
และยังมีจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินอย่างอิสระอีกมากที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้แก่พืชได้เช่นกัน
2.กลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยทำให้ธาตุอาหารพืชในดินละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น เช่น เชื้อราไมคอร์ไรซาที่ช่วยให้ฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินละลายออกมาอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้

  • ข้อดีของปุ๋ยชีวภาพ: เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์ ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เป็นปุ๋ยต้นทุนต่ำ ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีช่วยลดการใช้ ปุ๋ยเคมี
  • ข้อเสียของปุ๋ยชีวภาพ: ต้องระวังในการเก็บรักษา เนื่องจากประกอบด้วยจุลินทรีย์
    ที่มีชีวิต และให้ธาตุอาหารพืชบางชนิด อาจจะไม่ครอบคลุม
แหนแดงปุ๋ยชีวภาพ

4. ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้อุณหภูมิสูง ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น โรคพืช โรคสัตว์ โรคมนุษย์ และจุลินทรีย์ทั่ว ๆ ไป จากนั้นให้นำจุลินทรีย์
ที่เลี้ยงไว้ โดยมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยชีวภาพมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว หลังจากนั้นให้ทำการหมักต่อไป จนกระทั่งจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปในปุ๋ยอินทรีย์มีความคงที่ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะคอยช่วยตรึงไนโตรเจนให้พืช ผลิตฮอร์โมน ควบคุมโรค และกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่มีคุณสมบัติของ ปุ๋ยอินทรีย์ และ ปุ๋ยชีวภาพ

  • ข้อดีปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ: ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ทำให้ธาตุอาหารภายในดินมีความหลากหลายและปริมาณที่มากพอต่อพืช
  • ข้อเสียปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ: ต้องใช้เวลาในการผลิตและแสดงผลที่มากกว่าปุ๋ยชนิดอื่น
    รวมไปถึงมีต้นทุนการผลิตที่สูง

ธาตุอาหารในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชเติบโตมีอะไรบ้าง ?

ธาตุอาหารในปุ๋ยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

1. ธาตุอาหารหลัก

ธาตุอาหารหลักของพืช คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็นจำนวนมากแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • ไนโตรเจน (N): คือ ธาตุอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของใบและลำต้น หากพืชได้รับไนโตรเจนไม่เพียงพอ จะทำให้ใบของพืชเล็กลงมีสีเหลือง และลำต้นแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างปุ๋ยไนโตรเจนได้แก่ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0), ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) เป็นต้น
ปุ๋ยไนโตรเจน
  • ฟอสฟอรัส (P): คือ ธาตุอาหารที่ช่วยในการแพร่กระจายของราก ทำให้พืชยึดเกาะดินได้ดีไม่ล้มง่าย ทั้งยังช่วยในเรื่องของการผลิดอก ออกผล และสร้างเมล็ด หากพืชได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอ จะส่งผลให้รากไม่แข็งแรงล้มง่าย ใบจะแสดงอาการโดยมีสีม่วงหรือน้ำตาล และหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างปุ๋ยฟอสฟอรัสได้แก่ ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (20-53-0) เป็นต้น
ปุ๋ยฟอสฟอรัส
  • โพแทสเซียม (K): คือ ธาตุอาหารที่ช่วยในเรื่องการสร้างผล โดยจะทำให้ผลผลิต
    ที่ออกมามีคุณภาพดี ทั้งยังช่วยให้พืชแข็งแรงมีสุขภาพดี รวมไปถึงป้องกันศัตรูพืช
    ถ้าพืชได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ผลผลิตเติบโตได้ไม่เต็มที่และมีคุณภาพต่ำ ตัวอย่างปุ๋ยโพแทสเซียมได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ปุ๋ยเคมีโพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50) เป็นต้น
ปุ๋ยโพแทสเซียม

2. ธาตุอาหารรอง

ธาตุอาหารรอง คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการน้อยแต่ขาดไม่ได้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดดังนี้

  • แคลเซียม (Ca): ช่วยในการเจริญเติบโตของรากและยอด เพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์พืช
    หากพืชได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้ใบของพืชเกิดการหงิกงอมีจุดดำขึ้นที่เส้นใบ รากสั้นลง และผลผลิตที่ออกมาไม่มีคุณภาพ ตัวอย่างปุ๋ยที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบได้แก่ แคลเซียมซัลเฟต (Calcium Sulfate, ยิปซั่ม), แคลเซียมไนเตรต (Calcium Nitrate) เป็นต้น
  • แมกนีเซียม (Mg): เป็นส่วนประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์แสง
    และการสร้างพลังงาน หากพืชได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้ใบเหลืองแก่และหลุดร่วงง่าย ตัวอย่างปุ๋ย แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate, เอปซอมซอลต์), แมกนีเซียมออกไซด์ (Magnesium Oxide)
  • กำมะถัน (S): เป็นส่วนประกอบของกรดอะมิโนและโปรตีน ช่วยในการสร้างเอนไซม์และวิตามิน หากพืชได้รับกำมะถันไม่เพียงพอจะทำให้ลำต้นอ่อนแอลง ตัวอย่างปุ๋ย แอมโมเนียมซัลเฟต (Ammonium Sulfate), แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate)

3. จุลธาตุ

จุลธาตุเป็นธาตุอาหารที่ต้องการน้อยกว่าธาตุอาหารหลักและรอง แต่ขาดไม่ได้เช่นกัน
ซึ่งจะอยู่ด้วยกันดังนี้

  • เหล็ก (Fe): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์เพื่อสังเคราะห์แสง ถ้าได้รับ
    ธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้ใบของพืชมีสีขาวซีด ตัวอย่างปุ๋ย ปุ๋ยเหล็กซัลเฟต (Ferrous Sulfate), เหล็กคีเลต (Iron Chelate)
  • แมงกานีส (Mn): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางตัว หากพืชได้รับแมงกานีสไม่เพียงพอจะทำให้ใบอ่อนมีสีเหลือง หากทิ้งไว้นานเกินไปจะทำให้ใบแห้งเหี่ยวลง ตัวอย่างปุ๋ยที่มีแมงกานีสเป็นส่วนประกอบได้แก่ แมงกานีสซัลเฟต (Manganese Sulfate)
  • สังกะสี (Zn): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยเสริมในการสร้างเมล็ดพันธุ์ ต้านทานโรคพืช หากขาดธาตุนี้จะทำให้รากสั้นลง ใบมีสีเหลืองและขาวแซมประปราย ตัวอย่างปุ๋ย สังกะสีซัลเฟต (Zinc Sulfate), สังกะสีคีเลต (Zinc Chelate)
  • ทองแดง (Cu): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด หากพืชได้รับธาตุนี้ไม่เพียงพอจะทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต ปุ๋ยจะอยู่ในรูปธาตุอาหารเสริมเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ปุ๋ยคีเลตทองแดง (Cu-EDTA), ทองแดงซัลเฟต (Copper Sulfate)
  • คลอรีน (Cl): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสังเคราะห์แสง และการคงความสมดุลของน้ำในเซลล์พืช ถ้าพืชได้รับธาตุชนิดนี้ไม่เพียงพอ จะทำให้รากอ่อนแรงและลำต้นแห้งเหี่ยวลง ตัวอย่างปุ๋ย โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride), แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride)
  • โบรอน (B): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการผลิดอกออกผล และเคลื่อนย้ายน้ำตาลเข้าสู่ผล ถ้าได้รับธาตุนี้ไม่เพียงพอจะทำให้ลำต้นไม่ยืดตัว ตัวอย่างปุ๋ย โบรอนคีเลต (Boron Chelate), โบรอนซัลเฟต (Boron Sulfate)
  • โมลิบดินัม (Mo): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในกระบวนการตรึงไนโตรเจนคงที่ และการเปลี่ยนไนเตรตเป็นไนไตรต์ในพืช หากขาดธาตุนี้จะทำให้ใบมีจุดเหลืองเล็ก ๆ ขึ้น ตัวอย่างปุ๋ยโซเดียมโมลิบเดต (Sodium Molybdate), แอมโมเนียมโมลิบเดต (Ammonium Molybdate)
  • นิเกิล (Ni): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยเปลี่ยนสภาพไนโตรเจนให้เหมาะสมกับพืช ทำให้พืชนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ช่วยในเรื่องการงอกเมล็ด หากพืชได้รับธาตุชนิดนี้ไม่เพียงพอ จะทำให้พืชผลิตผลออกมาน้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่พืชมักจะไม่ขาดธาตุนี้ โดยตัวอย่างปุ๋ยได้แก่ นิกเกิล ซัลเฟต (Nikel Sulphate)
ธาตุอาหารในปุ๋ย

4. อินทรีย์วัตถุ

อินทรีย์วัตถุ (Organic Matter) คือ วัสดุที่มาจากสิ่งมีชีวิตทั้งที่ยังมีชีวิตและตายไปแล้วในดิน เช่น ซากพืช ซากสัตว์ และจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพดิน ทำให้สามารถกักเก็บน้ำและสารอาหารได้นานขึ้น รวมไปถึงการระบายอากาศในดิน ทำให้รากพืชเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดินซึ่งมีบทบาทในการแปลงสารอินทรีย์ให้กลายเป็นธาตุอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ ทั้งยังช่วยป้องกันและควบคุมโรคพืชอีกด้วย

5. จุลินทรีย์ แบคทีเรีย และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆในดิน

จุลินทรีย์ในดิน (Microorganism) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาด 1 ไมครอน มีรูปร่างลักษณะเป็นเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ ส่วนใหญ่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภทเช่น แบคทีเรีย, เชื้อรา ฯลฯ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะอาศัยอยู่ในดินที่ระดับความลึก 1-20 นิ้ว ซึ่งจุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินชั้นนี้ทำให้เกิดการทับถมของสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้ว ส่งผลให้ดินมีธาตุอาหารจำนวนมาก ทั้งยังถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี ดินที่มีจุลินทรีย์จำนวนมากจึงเหมาะต่อการปลูกพืชมากที่สุด

สรุปเกี่ยวกับ ปุ๋ย ตัวช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตการเกษตร

ปุ๋ย เป็นอาหารบำรุงที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตของพืชให้มากขึ้น ซึ่งปุ๋ยมีอยู่หลายประเภทเกษตรกรจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ว่ามีข้อดี – ข้อเสียแบบใด จะส่งผลต่อพืชแบบไหน เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องและเหมาะสม ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกร คุ้มค่าต่อการลงทุน หากต้องการศึกษาสาระความรู้ดี ๆ
แบบนี้ อย่าลืมติดตามได้ที่เว็ปไซต์ KAS (KUBOTA (Agri) Solutions)

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภัยแล้ง คือปัญหาที่เรามักได้ยินเป็นประจำ เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นในบทความนี้ KUBOTA จะพาไปทำความรู้จักกับภัยแล้ง พร้อมแนะนำวิธีการรับมือ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
การทำนาเปียกสลับแห้ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น พร้อมตอบโจทย์การทำนาแบบรักษ์โลก ซึ่งการทำนาเปียกสลับแห้งทำอย่างไร มีข้อดีแบบไหน ศึกษาการเป็นชาวนารักษ์โลกไปพร้อมกับ KAS ได้ในบทความนี้
สยามคูโบต้า นำองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ไปต่อยอดและพัฒนาเกษตรกร ด้วยการทำแปลงทดสอบการปลูกพืชหมุนเวียน (Revolving crop model) ในพื้นที่นาข้าว ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี โดยร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร