สารกำจัดแมลงคืออะไร มีกี่ประเภท ควรใช้หรือไม่?

สารกำจัดแมลงคืออะไร มีกี่ประเภท ควรใช้หรือไม่?

การเพาะปลูกพืชนั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายโดยแมลงศัตรูพืช ซึ่งหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่นิยมคือ
สารกำจัดแมลง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สารกำจัดแมลงดีจริงหรือไม่ ควรใช้รึเปล่า
หาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความนี้กับ KAS

สารกำจัดแมลงคืออะไร

สารกำจัดแมลงหรือยาฆ่าแมลง คือ สารเคมีที่ใช้ป้องกัน ควบคุม และกำจัด เพื่อลดการแพร่พันธุ์
ของแมลงศัตรูพืช ที่จะเข้าไปในแปลงเพาะปลูกเพื่อกัดกิน ทำให้พืชและผลผลิตทางการเกษตร
เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคพืชจากสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะอีกด้วย

สารกำจัดแมลงมีกี่ประเภท

สารกำจัดแมลงมีอยู่ด้วยกัน 7 ประเภทหลักดังนี้

1. ออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate)

ออร์กาโนฟอสเฟส เป็นสารกำจัดแมลงที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงมากที่สุด เป็นสารที่มีธาตุฟอสฟอรัส
เป็นส่วนประกอบ เช่น มาลาไธออน อาชินอน เฟนนิโตรไธออน พิริมิฟอสเมธิล ไดคลอวอส เป็นต้น
ซึ่งมีผลต่อมนุษย์ หากใช้โดยไม่มีการป้องกันอาจทำให้หมดสติ กล้ามเนื้อกระตุก เสียชีวิต ฯลฯ 

2. คาร์บาเมต (Carbamate)

คาร์บาเมต เป็นสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพคล้ายกับออร์กาโนฟอสเฟต เมื่อมนุษย์ได้รับสารชนิดนี้
ในปริมาณมาก จะทำให้ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน ฯลฯ สารในกลุ่มนี้ เช่น คาร์โบฟูราน
โพรพอกเซอร์ คาร์บาริล เบนไดโอคาร์บ เป็นต้น

3. ออร์กาโนคลอรีน (Organochlorines)

ออร์กาโนคลอรีน เป็นสารสังเคราะห์ เรียกอีกอย่างว่า คลอริเนเตตไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วย
ธาตุไฮโดรเจน คาร์บอน และคลอรีน มีคุณสมบัติซึมผ่านผิวหนังได้ง่าย ควรระมัดระวังในการใช้งาน
เป็นสารกำจัดแมลงที่ออกฤทธิ์ต่อเส้นประสาทสั่งการและความรู้สึก ทำให้แมลงเป็นอัมพาตไม่สามารถ
ขยับตัวได้จนแมลงตาย เป็นสารที่คงอยู่ในธรรมชาติได้นาน ทำให้เป็นสารที่ตกค้างในพืชมากที่สุด
เมื่อมนุษย์ได้รับสารชนิดนี้ปริมาณมาก จะทำให้หน้ามืด ท้องร่วง หัวใจวายและเสียชีวิตได้ แต่ในกรณี
ที่ได้รับทีละนิดในระยะยาวจะก่อให้เกิดมะเร็งขึ้น สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำแต่เกิดพิษเรื้อรัง
ในระยะยาว

4. ไพรีทริน ไพรีทรอยด์ (Pyrethrin, Prethroids)

ไพรีทรินส์และไพรีทรอยด์ เป็นสารสังเคราะห์ ที่สกัดจากพืชในกลุ่มเดียวกับต้นเก็กฮวย และดอกเบญจมาศ ที่มีคุณสมบัติที่ไม่ทนต่อแสง ออกฤทธิ์โดยการเข้าสู่ระบบประสาทของแมลงโดยตรง ทำให้แมลงเป็นอัมพาตภายใน 2-3 นาทีและตายในที่สุด เป็นสารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อมนุษย์ต่ำ แต่หากได้รับในปริมาณมาก
จะทำให้ ความดันโลหิตสูง อาเจียน และท้องร่วง สารในกลุ่มนี้ เช่น อัลเลทริน ไบโออัลเลทริน ไบโอเรสเมทริน ไซเพอร์เมทริน เพอร์เมทริน ไซฟลูทริน เป็นต้น สารไซฟูทริน หรือไซเพอร์เมทรินที่ใช้ในการกำจัดแมลงสาบและมด สารเคมีชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นพิษสูงต่อสัตว์น้ำ ผึ้ง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด

5. ฟิโพรนีล (Fipronil)

ฟิโพรนีล เป็นสารในกลุ่มฟีนิลไพราโซล ที่จะออกฤทธิ์อย่างช้า ๆ ค่อย ๆ กำจัดแมลง โดยจะเข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง และระบบกล้ามเนื้อของแมลง ทำให้แมลงเกิดอาการชักและตายในที่สุด และมีประสิทธิภาพในการกำจัดทั้งแมลงและสัตว์ขาปล้อง (arthropod) ได้อย่างดี เป็นสารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อมนุษย์ต่ำ แต่หากได้รับปริมาณมากก็อาจส่งผลให้เกิดอาการชัก สั่น ระบบประสาทไม่ตอบสนอง หรือตายได้

6. นีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids)

นีโอนิโคตินอยด์ เป็นสารกำจัดแมลงที่ออกฤทธิ์โดยรบกวนประสาทส่วนกลางของแมลง ทำให้แมลงเป็นอัมพาตและตายในที่สุด นอกจากจะกำจัดแมลงแล้ว สารกำจัดแมลงชนิดนี้ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อม
ทางอ้อมอีกด้วย ตัวอย่างสารกำจัดแมลงในกลุ่มนี้ เช่น Imidacloprid Acetamiprid, Clothianidin, Dinotefuran และ Thiacloprid โดย Imidacloprid เป็นสารกำจัดแมลงชนิดหลักที่นิยมใช้

7. สารอินทรีย์ (Organic)

สารกำจัดแมลงแบบอินทรีย์ เป็นสารสกัดที่มาจากพืช ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่
เพาะปลูก ผลผลิตและมนุษย์ แต่สารกำจัดแมลงแบบอินทรีย์มักมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องฉีดบ่อยครั้ง ทั้งยังมีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงบางชนิด ไม่สามารถกำจัดได้อย่างครอบคลุม ตัวอย่างสารเคมีชนิดนี้ได้แก่ สารสกัดจากต้นตะไคร้หอม หางไหล(โล่ติ๊น) สะเดา เป็นต้น

อันตรายจากการใช้สารกำจัดแมลง

อันตรายจากการใช้สารกำจัดแมลงมีดังนี้

1. อันตรายต่อพื้นที่เพาะปลูก

สารกำจัดแมลงนอกจากจะกำจัดแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังกำจัดแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืชอีกด้วย เช่น แมลง
ที่ผสมเกสร แมลงที่ฟื้นฟูดิน ทั้งยังส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการปนเปื้อน
ในแหล่งน้ำ ส่งผลทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่มีคุณภาพและปริมาณน้อยลง

2. อันตรายต่อผู้ใช้งาน

สารกำจัดแมลงเป็นสารที่มีอันตรายต่อมนุษย์ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ปัญหาทางเดินหายใจ หากสะสมไว้ในร่างกายปริมาณมาก จากการใช้งานที่บ่อยครั้งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือเสียชีวิตได้

3. อันตรายต่อผู้บริโภค

สารกำจัดแมลงมักตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เมื่อผู้บริโภค
รับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น วิงเวียน หน้ามืด หัวใจวาย และ
เสียชีวิตได้

ลดการใช้สารกำจัดแมลง สร้างผลผลิตให้ยั่งยืนในระยะยาว

สารกำจัดแมลง เป็นวิธีกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็สร้างผลกระทบในแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อม
และสุขภาพของมนุษย์ที่สูงด้วยเช่นกัน การใช้สารกำจัดแมลงจึงไม่คุ้มค่าในระยะยาว เกษตรกร
ควรหันไปใช้วิธีอื่นเช่น ชีวภัณฑ์และสมุนไพร ที่ได้ผลลัพธ์คล้ายกัน แต่มีความปลอดภัยมากกว่า
ติดตามความรู้และสาระดี ๆ แบบนี้ได้ที่ KAS หรือ KUBOTA (Agri) Solutions

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคพืช ตัวการทำลายพืชผล หนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกร หากไม่สามารถยับยั้งได้จะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อพืชผลและเกษตรกร ดังนั้นวันนี้ KAS จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรคพืช เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ป้องกันโรคพืชได้อย่างเหมาะสม จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย